1 ก.ค. 2023 เวลา 04:31 • ประวัติศาสตร์

ไตรภพ ลิมปพัทธ์ จากอดีตเจ้าของร่วมช่องทีวีสู่ผู้สร้างโลกทัศน์ใหม่ให้ “ไอทีวี”

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา คงไม่มีใครไม่พูดถึงสถานีโทรทัศน์ไอทีวีอย่างแน่นอน จากกรณีการถือหุ้นของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากสังกัดพรรคก้าวไกล นั่นทำให้หลายสำนักข่าวต่างนำเสนอข้อมูลของไอทีวี ไม่ว่าจะเป็นประวัติการก่อตั้ง จนความผิดปกติของการกลับมาทำธุรกิจสื่ออีกด้วย แต่วันนี้ส่องสื่อไม่ได้จะพามาพูดเรื่องหุ้น แต่จะพามาย้อนรำลึกไอทีวีกัน เนื่องในวันแรกของการออกอากาศไอทีวี 1 กรกฎาคม 2539 กัน
2
เชื่อว่าผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน รวมถึงตัวผมเอง คงจะผ่านยุคที่ทีวีแข่งขันมาในหลายรูปแบบ 1 ในนั้นคือยุคเฟื่องฟูของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งมาเฟื่องฟูแบบสุด ๆ ในช่วงปี 2547 – 2550 ซึ่งหนึ่งในผู้ผลิตรายการให้กับช่อง หนึ่งในนั้นคงมีชื่อ “ไตรภพ ลิมปพัทธ์” หัวเรือใหญ่แห่งค่ายบอร์นที่โดดมาจากช่อง 3 มาร่วมงานกับไอทีวี และก็คงมี “กันตนา” พันธมิตรที่เหนียวแน่นสุด ๆ สำหรับบอร์น
2
แต่แน่นอนว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น
> จุดเริ่มต้นของ “ไตรภพ” และไอทีวี <
จริง ๆ บอร์นมีส่วนร่วมกับไอทีวีตั้งแต่ช่วงก่อตั้งเลยแหละครับ โดยบอร์นเข้ามาได้จากการชักชวนของทางพันธมิตรอย่างกันตนา แต่คงเพราะเขาค้นพบว่าการเป็นเจ้าของร่วมในสถานีโทรทัศน์ “มันไม่ใช่ทาง” และอีกปัจจัยคือบอร์นก็มีปัญหากับทางกลุ่มของเนชั่นในเรื่องสัดส่วนรายการ
2
บอร์นก็อยากได้ผังแบบบันเทิงเน้น ๆ เอาไปแข่งกับช่องอื่น ๆ ส่วนเนชั่นก็ยังอยากได้ Mood & Tone แบบสถานีข่าวเน้น ๆ เป็น CNN ขนาดย่อม ๆ อยู่ ความไม่ลงตัวนั้น ทำให้บอร์นดีดตัวออกมาจากไอทีวีด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า “มันวุ่นวายนัก และยังไม่ลงตัว” จนแล้วจนเล่า จนเนชั่นค่อย ๆ ถูกลดบทบาทลงจนแยกตัวออกไปตั้งสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล จนกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น (หรือกลุ่มอินทัช โฮลดิ้งส์ในปัจจุบัน) เข้ามามีบทบาทในไอทีวี
1
จนมาถึงราว ๆ ปลายปี 2546 ในช่วงที่ไอทีวีเริ่มเข้ารูปเข้ารอย กันตนาก็กลับมาง้อชวนบอร์นกลับเข้าไปอีก เพราะได้ข่าวมาจากเขาว่าทางผู้บริหารของไอทีวีจะปรับผังอีกรอบ เนื่องจากหลาย ๆ ปัจจัย 1 ในนั้นก็คงเป็นความเปลี่ยนแปลงจาก “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. สู่ “โมเดิร์นไนน์ทีวี” ของทาง อสมท. ซึ่งทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนด้านเรตติ้ง
3
เพราะ อสมท. เลือกที่จะปรับเอาคอนเทนต์ด้าน “ข่าว” ที่แต่เดิมมีไม่ค่อยเยอะมาก เพิ่มขึ้นไปเป็น 7 ชั่วโมงต่อวัน (หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของวันซึ่งนับว่าสูงมากในตอนนั้น แต่น้อยกว่าไอทีวีนิดหน่อย) เพื่อไปแข่งขันกับไอทีวี (ซึ่งในขณะนั้นยังเน้นข่าวอยู่) ซึ่งถ้าไอทีวีไม่ปรับผังแล้ว อาจมีหวังขาดทุนอีกรอบแน่นอน
4
> สู่การจับมือครั้งสำคัญ ที่สร้างภาพจำใหม่ให้ไอทีวี <
1
การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นในช่วงต้นปี 2547 เมื่อไอทีวีประกาศว่าช่องของตนนั้นได้จับมือกับมิตรเก่าอย่างกันตนา และมิตรที่เพิ่งกลับมาอย่างบอร์น ในการเป็น Strategic Partner เพื่อเติมจุดแข็งให้คอนเทนต์หมวดวาไรตี้ที่ขาดหาย และทั้ง 2 ฝั่ง เกือบจะได้มาเป็นผู้ถือหุ้น 10% อีกด้วย แต่สุดท้ายแผนก็ต้องล้มไป เพราะด้วยจำนวนเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่น้อย ๆ สำหรับกันตนา (ซึ่งมากพอ ๆ กับรายได้ประจำปีของบริษัท) และบอร์น
5
โอ๋ – ศศิกร ฉันทเศรษฐ์ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งของกรรมการผู้จัดการของทางกันตนา เคยกล่าวไว้กับผู้จัดการรายวันว่า “หากเราไม่ซื้อหุ้นไอทีวี เราก็ไม่ต้องจ่ายเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมาก และมากพอๆ กับรายได้ทั้งปีของบริษัท ขณะเดียวกันเราจะขอใช้สิทธิ์บีโอไอในการสร้างมูฟวี่ทาวน์ ทั้ง 2 โปรเจกต์เมื่อรวมกันแล้วจะใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้น ถ้ามีแหล่งเงินทุนอื่น และไม่มีความจำเป็นต้องซื้อหุ้น เราก็ยังไม่จำเป็นต้องนำบริษัทเข้าตลาด”
2
แน่นอนว่าการเข้ามาของทั้งสองพาร์ทเนอร์คนสำคัญ นั่นทำให้ “ไตรภพ ลิมปพัทธ์” ได้รับเลือกให้เป็นประธาน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ควบตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ในปี 2547-2549 อีกด้วย และนี่คือก้าวสำคัญที่ทำให้ไอทีวีเปลี่ยนโฉมตัวเองใหม่ และส่งผลทำให้ชนะคู่แข่งเจ้าอื่นๆ แบบชนิดขาดลอยเลยก็ว่าได้
5
> ก้าวเข้าสู่ผลงานแรก และ “ความสนุกคับจอ” สไตล์ไอทีวี <
เมื่อหลาย ๆ อย่างเข้าที่เข้าทาง ผลงานแรกก็ปรากฎออกมาในช่วงเดือนเมษายน กับคอนเซ็ปต์ “ความสนุกคับจอ” โดยการมาของช่วงละครหลังข่าวภาคค่ำ ช่วง 1 ทุ่มครึ่ง กันตนาก็ขอส่งละครเย็นสำหรับครอบครัวมาเติมสีสันให้วัยเด็ก ๆ (เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะจำเรื่อง “วัยซนคนมหัศจรรย์” ได้)
2
หลังจบข่าวในพระราชสำนัก ก็ถึงคิวของรายการดี ๆ ที่ถูกเข็นออกมาเพื่อสู้ละครหลังข่าวในช่วง 2 ทุ่ม 10 นาที ก็เริ่มด้วย “เกมเศรษฐีมหาชน” รายการควิซโชว์ที่ย้ายมาจากสล็อตช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ในไทยทีวีสีช่อง 3 มายิงยาว 7 วัน วันละ 30 นาที
แต่ที่เป็นไฮไลท์สุด ๆ และบอร์นค่อนข้างอยากจะนำเสนอมาก ๆ ก็คือช่วง “Happy Hour Happy Family” ช่วง 2 ทุ่ม 40 ที่จัดวาไรตี้มาถึง 7 รายการ 7 วัน ตอนนั้นพันธมิตรหลายเจ้า ไม่ว่าจะบอร์นก็ดี รายอื่น ๆ ก็ดีนั้นก็ตบเท้ากันนำรายการ ทั้งรายการเก่าย้ายช่อง และรายการใหม่แกะกล่องมาลงผังช่วงนี้ โดยเรียงตามวันได้ก็คือ
1
วันจันทร์ – กิ๊กกะไบท์ (ย้ายวันและเวลาออกอากาศ)
วันอังคาร – แบบว่า…เบี้ยวไม่เลิก (รายการใหม่ แต่ต่อยอดจากรายการเก่า)
วันพุธ – สาระแนจัง (ย้ายมาจากไทยทีวีสีช่อง 3)
วันพฤหัสบดี – ยุทธการบันเทิง (รายการใหม่)
วันศุกร์ – โอโน่โชว์ (ย้ายมาจาก ททบ. 5)
วันเสาร์ – จู๊คบอกซ์เกม (ย้ายมาจากไทยทีวีสีช่อง 3)
วันอาทิตย์ – Q20 ยี่สิบคำถาม (รายการใหม่)
น่าเสียดายที่ “แบบว่า…เบี้ยวไม่เลิก” และ “จู๊คบอกซ์เกม” อยู่ได้ไม่นานนัก ซึ่งรายการแรกคนงงชื่อว่ามันคืออะไร แถมคนมองว่ารายการนี้มันชวนปวดหัวเอาเสียเหลือเกิน และมันไม่ฮา เลยอยู่ได้แค่ 4 เดือน หลังจากนั้นก็มีรายการ “ก๊อก ก๊อก ก๊อก” มาแทน ส่วนรายการหลังคงจะด้วยหลาย ๆ ปัจจัย จึงทำให้ในปีถัดมา บอร์นตัดสินใจส่ง “You Know Me A Little Go คุณรู้จักฉันน้อยเกินไป” มาแทนที่
2
ส่วนช่วง 3 ทุ่ม 40 ก็เป็นหน้าที่ของ ITV HOT NEWS รายการข่าวช่วงระหว่างช่วงค่ำ และดึก กับผู้ประกาศข่าวฝีมือเยี่ยมอย่าง “กิตติ สิงหาปัด” ซึ่งเรียกได้ว่าการจัดผังของไอทีวีในตอนนั้น แทบจะไม่ต่างอะไรกับการจัดผังของช่องเวิร์คพอยท์ในปัจจุบัน (ที่ก็เน้นเอาวาไรตี้ไปชนกับละครไพรม์ไทม์)
1
> ย้อนดูตัวเลขหลัง “ไตรภพ” บริหาร และการปรับผังยกช่องของไอทีวี <
1
และการปรับผังในครั้งนั้น ทำให้เรตติ้งของไอทีวีดีขึ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบส่วนแบ่งผู้ชมระหว่างช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปี 2546 กับ 6 เดือนแรกของปี 2547 ในส่วนของช่วงวัย 4+ ช่วงเวลา 06:00 – 00:00 น. จากที่มีส่วนแบ่งอยู่ในอันดับ 5 ด้วยเรตติ้ง 7.3 ก็พุ่งไปถึง 9.7 พุ่งเข้ามาสู่อันดับ 4 ได้
แต่ถ้านับแค่ช่วงเวลา 18:45 – 22:00 น. เรตติ้งก็พุ่งขึ้นมา จาก 5.8 ก็ขึ้นมาสู่ 8.6 เพิ่มขึ้นมาเกือบครึ่งหนึ่ง ถ้าสโคปไปอีก เหลือแค่ช่วง 19:30 – 20:20 น. เรตติ้งก็พุ่งกระฉูดจาก 6.6 มาที่ 10.1 เพิ่มมามากกว่า 50% ถ้า 3 หมวดนี้ จากที่เคยอยู่อันดับ 5 ก็พุ่งขึ้นมาสู่อันดับ 4 ได้สบาย
แต่สำหรับช่วงวัย 6-14 ปี ในสล็อตเวลา 08:00 – 10:00 น. มันไม่ได้เพิ่มมาเยอะมากขนาดนั้น จาก 1.6 เพิ่มมาแตะที่ 2.1 ก็ไม่ช่วยขยับอันดับขึ้นมาจากอันดับที่ 5 อยู่ดี
น่าเสียดายที่อายุของสถานีแห่งนี้ไม่ได้ยาวมาก ชื่อของไอทีวีถูกปิดฉากลงในวันที่ 7 มีนาคม 2550 แต่ได้มีชีวิตอยู่ต่อไปในนามของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีในวันถัดมา
หลังจากนั้นอีกราว ๆ 10 เดือนในคืนวันที่ 14 มกราคม 2551 ทีไอทีวีก็ได้แปรสภาพสู่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถานีโทรทัศน์สาธารณะที่ไร้โฆษณาให้รบกวนสายตา และข่าวมีคุณภาพ
สำหรับกันตนาอาจจะไม่เจ็บตัวมาก เพราะก็ยังผลิตรายการให้ช่อง 7 อยู่ และผลิตรายการให้ช่องอื่น ๆ ด้วย แต่สำหรับบอร์น มัน “จุก” เลยหละ เพราะทำให้บอร์นนั้นห่างหายไปจากจอทีวีไปพักใหญ่ ๆ ก่อนจะตัดสินใจส่งรายการ “คลับเซเว่น” ลงจอในอีกไม่กี่เดือนถัดมา
หากทุกวันนี้ไอทีวียังอยู่ ทั้ง 2 ค่ายอาจจะได้มีโอกาสปล่อยของออกมาเยอะกว่านี้ก็ได้…
เรียบเรียงต้นฉบับโดย กันต์ หิรัญคุปต์
เรียบเรียงใหม่โดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
เนื้อหานี้เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564
คิดถึงเรื่องสื่อ เปิด #ส่องสื่อ
ติดตามเราได้ทาง www.songsue.co
ติดต่อโฆษณา opinionmediathai@gmail.com
โฆษณา