6 ก.ค. 2023 เวลา 09:00 • การเมือง

การส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ

กรณีศึกษา : ถุงมือยาง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการผลิต และนางจินตนา ชัยยวรรณาการ รองโฆษกคณะกรรมาธิการ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คนที่สอง และประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษาการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ ได้ร่วมกันเสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ กรณีศึกษา : ถุงมือยาง ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒๖ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) สรุปได้ดังนี้
ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก โดยในอดีตประเทศไทยส่งออกยางพาราในรูปของยางแปรรูปขั้นต้นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทำให้เสียโอกาสในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 และสภาพสังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้น โดยประเทศผู้ผลิตถุงมือยางมีมูลค่าและปริมาณการส่งออกถุงมือยางสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นับว่าเป็นผลดีกับประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตน้ำยางข้นคุณภาพดีและส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับพบว่า ศักยภาพการแข่งขันของถุงมือยางธรรมชาติของประเทศไทยลดลง เนื่องจากประเทศผู้ใช้ถุงมือยางหันไปสนใจการใช้ถุงมือยางสังเคราะห์เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้โปรตีนจากถุงมือยางธรรมชาติ
ที่มาภาพ : www.freepik.com
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางธรรมชาติอีกด้วย
คณะกรรมาธิการจึงได้พิจารณาศึกษาสถานการณ์การผลิต การใช้ และการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติของไทย โดยได้วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของไทย เปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียซึ่งผลิตถุงมือยางได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก พบว่า ประเทศมาเลเซียได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนพลังงาน ด้านเทคโนโลยีและประสิทธิภาพของเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตถุงมือยาง อีกทั้งมีนโยบายและเป้าหมายในการพัฒนาถุงมือยางอย่างชัดเจน
ตลอดจนมีแผนการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและมีการบูรณาการ
ที่มาภาพ : www.freepik.com
ขณะที่ประเทศไทยไม่มียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติที่ชัดเจน คณะกรรมาธิการจึงได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติของไทย ดังนี้
๑) ควรขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของไทยภายใต้แนวคิด Public & Private Partnership (PPP) โดยให้การยางแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการ (ภาคเอกชน) สถาบันเกษตรกรและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
๒) ตั้งเป้าหมายในการยกระดับผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติของไทยให้เป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมีส่วนช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน รวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Economy
๓) ทำการตลาดเชิงรุกและมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์เพื่อให้ทราบทั่วกันว่า ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติของไทยมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน ย่อยสลายง่าย ไม่ระคายเคือง ผ่านการรับรองมาตรฐาน และสามารถแสดงผลการพิสูจน์ทางด้านวิทยาศาสตร์
๔) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพของถุงมือยางธรรมชาติของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเร่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่
๕) กำหนดกระบวนการเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติของไทยที่มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ภายใต้แนวคิดตลาดนำการผลิต มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าสู่การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน โดยมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อเชื่อมโยง ผลผลิตไปสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมีมาตรการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)
ที่มาภาพ : www.freepik.com
นอกจากนี้ ภาครัฐควรร่วมกับผู้ประกอบการในการนำอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยเข้าสู่กระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานระดับสากลและการเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตในอนาคต
ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ กรณีศึกษา : ถุงมือยาง พร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการและมีมติให้ส่งรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป
โฆษณา