12 ก.ค. 2023 เวลา 04:41 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำความรู้จักกับแนวคิด "Hawkish" vs "Dovish"

หนึ่งในเครื่องมือการลงทุนระยะยาว (Long-term Investment) ที่ได้รับความนิยมนั่นก็คือการลงทุนใน “กองทุนตราสารหนี้” ซึ่งปัจจัยสำคัญของการวิเคราะห์แนวโน้มผลตอบแทนของตราสารหนี้ คือการดำเนินนโยบายด้านการเงินของธนาคารกลาง (แบงก์ชาติ) ของแต่ละประเทศ
โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของแบงก์ชาติ (กนง.) จะคอยกำกับดูแลนโยบายด้านการเงินที่ประกอบไปด้วย 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate) อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) และปริมาณเงินในระบบ (Money Supply)
Image Credit: pixabay.com
ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ หรือกำหนดเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน และรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมเอาไว้
และหากแบงก์ชาติมองว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นในอนาคต พวกเขาก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพิ่มอัตราเงินสำรองของธนาคาร หรือออกขายพันธบัตรรัฐบาล เพื่อนำเอาสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจ
ซึ่งวิธีนี้เป็นการใช้นโยบายการเงินแบบหดตัว (Contractionary Monetary Policy) ผ่านแนวคิดแบบ “Hawkish” หรือ “เหยี่ยว” ที่สื่อถึงความดุดัน ก้าวร้าว และไม่ประนีประนอม
Image Credit: pixabay.com
โดยแนวคิดนี้จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง เพราะภาคธุรกิจจะกู้เงินน้อยลงจากดอกเบี้ยที่แพงขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้สูงขึ้น ซึ่งส่งผลลบต่อการถือครองตราสารหนี้ในพอร์ตการลงทุน เพราะเวลาคำนวณราคาตลาด (Mark to Market) แล้ว ราคาก็จะลดลงไปด้วย
ในทางกลับกัน หากแบงก์ชาติมีมุมมองว่าเงินเฟ้อคงไม่เร่งตัวขึ้นสักเท่าไร หรืออาจจะหดตัวลงในอนาคต พวกเขาก็จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจและประชาชนกู้เงินด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลงมาเพื่อใช้ทำธุรกิจหรือใช้จ่ายให้มากขึ้น
รวมถึงแบงก์ชาติเองก็จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงลด/คงอัตราเงินสำรองของธนาคาร และเมื่อต้นทุนทางการเงินในระบบต่ำลง ผลตอบแทนตราสารหนี้ก็จะลดลง ทำให้ราคาตลาด (Mar k to Market) สูงขึ้น
หรือก็คือการใช้นโยบายทางการเงินแบบขยายตัว (Expansionary Monetary Policy) ผ่านแนวคิดแบบ “Dovish” ซึ่งมาจากคำว่า “Dove” หรือนกพิราบ ที่สื่อถึงความประนีประนอม ยืดหยุ่น อะลุ่มอล่วยนั่นเอง
Image Credit: pixabay.com
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของแบงก์ชาติว่าจะเลือกใช้แนวคิดใดระหว่าง Hawkish หรือ Dovish นั้นก็คือปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายๆ อย่าง เช่น แนวโน้ม GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ - Gross Domestic Product), อัตราแลกเปลี่ยน, ตัวเลขการจ้างงาน เป็นต้น
รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลต่อเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน หรือเมื่อดอกเบี้นนโยบายถูกปรับขึ้น อัตราผลตอบแทนโดยรวมในประเทศก็จะดีขึ้น เพราะสามารถป้องกันเงินของนักลงทุนต่างชาติไหลออกได้ ส่งผลให้ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่า
กลับกันหากปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง นักลงทุนต่างชาติก็อาจจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนไปยังประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่าลง แต่ก็ยังมีข้อดีคือธุรกิจส่งออกอาจจะทำเงินได้มากกว่าปกติจากช่วงเวลานี้
เมื่อเรารู้ถึงแนวนโยบายที่แบงก์ชาติจะนำมาใช้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งแล้ว ก็จะสามารถทำให้เราวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในแต่ละครั้ง จะส่งผลให้ตลาดตีความ และคาดการณ์กันไปในหลากหลายทิศทาง
Image Credit: pixabay.com
และมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow) หากมุมมองของคณะกรรมการฯ เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนใน “กองทุนตราสารหนี้” ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ว่าจะในเชิงบวกหรือเชิงลบ
## สรุปแนวคิด “Hawkish” vs “Dovish” ##
• เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น --> “Hawkish” --> ขึ้นดอกเบี้ยฯ/ขายพันธบัตรฯ/เพิ่มเงินสำรองของธนาคาร --> กู้น้อยลง --> เศรษฐกิจชะลอตัว --> ผลตอบแทนตราสารหนี้สูงขึ้น = มูลค่าพอร์ตลดลง
• เงินเฟ้อหดตัวลง --> “Dovish” --> ลดดอกเบี้ยฯ/ซื้อพันธบัตรฯ/ลดหรือคงเงินสำรองของธนาคาร --> กู้มากขึ้น --> เศรษฐกิจมีสภาพคล่อง --> ผลตอบแทนตราสารหนี้ลดลง = มูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้น
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited
โฆษณา