9 ก.ค. 2023 เวลา 07:33 • หนังสือ

ข้อคิดที่ได้จากหนังสือเรื่อง Noise จุดด้อยของการตัดสินโดยมนุษย์

ผู้เขียน : Daniel Kahneman, Olivier Sibony, Cass R. Sunstein
ผู้แปล : มันตา คลังบุญคลอง
สำนักพิมพ์ : Amarin
.
มนุษย์เราไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์แบบ ทุกการตัดสินใจ ทุกการกระทำของเรา และความคิด ย่อมมีคลื่นรบกวน (Noise) และ ความเอนเอียง (Bias) ประกอบอยู่ด้วย อันเนื่องมาจากประสบการณ์และสภาพแวดล้อมภายนอกเฉพาะตัวของแต่ละคน
.
ในวันที่อากาศดีหรือทีมฟุตบอลท้องถิ่นที่ผู้พิพากษาเชียร์ชนะ อาจส่งผลให้ ผู้พิพากษาคนนี้อารมณ์ดีตัดสินโทษที่เบากว่าความน่าจะเป็น หรือการที่แพทย์สั่งจ่ายยาแก้ปวดให้แก่คนไข้รายสุดท้ายของวัน โดยไม่ส่งคนไข้เข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบโรคมะเร็ง อันเนื่องจากแพทย์ผู้นี้เหนื่อยล้าจากการประเมินคนไข้มาแล้วทั้งวันจึงอยากให้จบงานในวันนี้เร็วที่สุด
.
ตัวอย่างที่ผมยกมาเล่า เหล่านี้เกิดจากคลื่นรบกวน ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจครั้งสำคัญที่ชี้ชะตาชีวิตได้
ข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้
.
.
1.การใช้’กฏ’ที่มีข้อกำหนดชัดเจนนั้นลดคลื่นรบกวน แต่การใช้’มาตรฐาน’ จะทำให้เราสามารถใช้คลื่นรบกวนร่วมในการพิจารณาตัดสินได้มากขึ้น
.
2.ในบางครั้งเมื่อผู้เชี่ยวชาญทำนายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อมันไม่เกิดขึ้น เราไม่ควรโทษว่าเป็นเพราะเขา’ทำนายผิด’ แต่เป็นเพราะเขา ‘มั่นใจเกินไป’ ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น.
.
3.การนำอัลกอริทึมมาใช้แทนมนุษย์อาจช่วยลดคลื่นรบกวนได้ แต่สุดท้ายมันก็ยังมีความเอนเอียงอยู่ดีถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม และเราคงไม่อยากถูกปฏิบัติราวกับเป็นเครื่องจักรที่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นของตนเองและไม่มีมนุษย์ธรรม จริงไหม?
.
4.การตัดสินใจที่ต้องใช้ดุลยพินิจ และเพื่อลดคลื่นรบกวน ควรนำสุขอนามัยในการตัดสินใจมาใช้ด้วย เช่น การคุย-หารือ-คุย เพื่อเว้นระยะเวลาให้เราสามารถใช้ดุลยพินิจทบทวนก่อนการตัดสินใจได้อย่างถี่ถ้วนจริงๆ และเป็นการยับยั้งการใช้สัญชาตญาณก่อนเวลาอันควร
.
5.ใช้มุมมองจากภายนอกมาช่วยในการพิจารณาตัดสินใจ เนื่องจากการตัดสินใจมีคลื่นรบกวนจากประการณ์ส่วนตัว และมุมมองจากภายนอก จะทำให้เราสามารถคาดเดาและทำนายความน่าจะเป็นได้ดีขึ้นกว่าใช้มุมมองส่วนตัว
.
6. แยกโครงสร้างการตัดสินใจออกเป็นหลายส่วนและมีอิสระต่อกัน เนื่องด้วยการตัดสินใจที่ต้องใช้ผลลัพธ์ต่อเนื่องกัน อาจส่งต่อให้เกิดความผิดพลาดต่อกันเป็นทอดๆ
.
7.บางกรณีการกำจัดหรือลดคลื่นรบกวนอาจส่งผลเสียและไม้คุ้มกับผลลัทธ์มากกว่าการปล่อยให้มีคลื่นรบกวนอยู่บ้าง เช่น การที่ให้ครู 5 คน อ่านเรียงความเพื่อตัดสินใจให้คะแนนนักเรียน ม.3 1 คน อาจเสียเวลาและทรัพยากรมากเกินความจำเป็น
.
8.’กฎเกณฑ์’หรือข้อบังคับ ย่อมมีช่องโหว่เสมอ และย่อมมีคนที่ต้องการหาประโยชน์จากช่องโหว่นี้อยู่เสมอ การเลือกใช้ ‘มาตรฐาน’ แทนจะทำให้คลอบคลุมการกระทำที่อาจเข้าค่ายที่ห้ามไว้ และสามารถอุดช่องโหว่ได้
9.การสร้างความเกรงกลัวในการกระทำผิด ย่อมต้องมีคลื่นรบกวน ถ้านักเรียนต้องเดาโทษของการลอกข้อสอบเอาเอง ว่ารุนแรงแค่ไหน ก็จะทำให้นักเรียนหลีกเลี่ยงไม่ทำอย่างนั้น ความไม่แน่นอนเล็กน้อยในรูปแบบคลื่นรบกวนช่วยเพิ่มความเกรงกลัวในการกระทำความผิดได้
.
10.เราควรพยายามทำตนเป็นรูปแบบที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆและปรับปรุงความคิดตนเองอยู่เสมอ เนื่องจากการพิจารณาข้อมูลที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ตนเองเชื่อ เป็นการพั?นาตนเองอยู่เสมอ ไม่จบสิ้น เหมือนดั่งชื่อเรียก ‘เบต้าถาวร’ ที่เป้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกปล่อยให้ใช้งานแต่ยังมีการพัฒนาอยู่เสมอ
หนังสือเล่มนี้ ได้บอกกับเราว่า ถึงแม้ว่าคลื่นรบกวน และความเอนเอียง จะฟังดูแย่ และน่าจะทำให้เกิดผลเสียต่อการตัดสินใจมาก และควรจะกำจัดมัน (คลื่นรบกวน) ออกไป เพื่อให้ได้ผลการทำนายที่แม่นยำและถูกต้อง
.
แต่ว่าเราคงไม่อยากถูกตัดสินคดีความผิดโดยผู้พิพากษาที่มีมาตรวัดและดุลยพินิจแบบเดียวกัน หรือถูกพิจารณาการสัมภาษณ์เข้าทำงาน โดยผู้สัมภาษณ์ที่ยึดเอามาตรฐานการคัดเลือกแบบเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงความสามารถหรือลักษณะพิเศษเฉพาะบุคคล ดังนั้น คลื่นรบกวน จึงเป็นสิ่งที่ยัง’จำเป็นอยู่’ ในการตัดสินใจต่อบุคคลอย่างมีมนุษย์ธรรม และสิทธิ์เสรีภาพต่อปัจเจกบุคคล
.
อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้กฎระเบียบที่ต้องการลดคลื่นรบกวนและความเอนเอียงในการตัดสินใจ หรือว่าใช้มาตรฐานที่มีการให้คลื่นรบกวนเข้ามาแทรกแซงการตัดสิน เพราะในบางกรณีเราก็ควรจะเลือกใช้วิธีการที่ต้องการใช้คลื่นรบกวน มาร่วมวิเคราะห์การตัดสินใจด้วย ดังเช่น การตัดสินคดีความ หรือการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเข้าทำงาน
ถ้าคุณไม่ได้ชื่นชอบการอ่านหนังสือมากเท่าไหร่ หนังสือเล่มนี้อาจไม่เหมาะสำหรับคุณ เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ถือว่าเข้มข้นและอ่านยากมาก เนื่องจากเนื้อหาที่ว่าด้วยระบบความคิด และรูปแบบการเล่าของเนื้อหาที่ประกอบด้วยผลวิจัยมากมาย คำศัพท์ทางสถิติ การพิจารณาข้อมูลที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ
.
หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาและเข้าใจในระบบความคิดของมนุษย์ และผู้ที่ทำงานหรือต้องใช้การตัดสินใจครั้งสำคัญอยู่หลายครั้ง เนื่องด้วยคลื่นรบกวนส่งผลอย่างมากต่อองค์กร ทั้งในแง่ของเรื่องความเสียหายที่เกิดจากการตัดสินผิดพลาด ทั้งเป็นตัวเงินและผลกระทบที่ตามมาอาจใหญ่หลวงจนถึงขั้นทำให้องค์กรเสียหายแบบมิอาจประเมินค่าได้ การรับรู้ถึงคลื่นรบกวนและความเอนเอียง จะสามารถทำให้เรามองหาวิธีการป้องกันและรับมือ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดได้
.
สุดท้ายแล้ว เพราะคลื่นรบกวนในระบบความคิดและสภาพแวดล้อมรอบที่แตกต่างกันตัวเหล่านี้ ทำให้เรามีความแตกต่างกัน มีความคิดสร้างสรรค์เฉพาะตัว ไม่มีใครเหมือนใคร 100% จึงทำให้เราเป็น’มนุษย์’
.
#Zcollex_Books
#Noise #DanielKahneman
#Amarin #หนังสือจิตวิทยา #หนังสือพัฒนาตนเอง
โฆษณา