9 ก.ค. 2023 เวลา 08:23 • หนังสือ

ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ (Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals)

สมมุติว่าเรามีอายุขัย 80 ปี นั่นเท่ากับว่าเราจะมีเวลาในชีวิตทั้งหมดประมาณ 4,000 สัปดาห์ ปัจจุบันเราโดนหลอกให้ทำสิ่งต่างๆ มากมาย โดยลืมไปว่าเราทุกคนต้องตายไม่นาทีใดก็นาทีหนึ่ง ดังนั้น อันดับแรกที่เราต้องทำคือการยอมรับความพ่ายแพ้ว่าเราไม่สามารถทำทุกอย่างให้สำเร็จได้
ขอสรุปเนื้อหาเน้นๆ จากหนังสือไว้ให้อ่านกันก่อนแล้วกัน แล้วเราจะมาเล่าว่าหนังสือนี้ดีอย่างไร
1.ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรามีเวลาจำกัด แต่ปัญหาอยู่ที่ชุดความคิดเกี่ยวกับเวลาของเรา เมื่อเรามองเวลาเป็นนามธรรม เราจึงปฏิบัติต่อมันในฐานะ “ทรัพยากร” ที่ต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและโทษตัวเองที่ใช้มันอย่างสิ้นเปลือง จนในที่สุดคุณค่าของตนเองก็เกี่ยวพันกับวิธีการใช้เวลาของเราโดยสมบูรณ์แบบ มันกลายเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าต้องควบคุมหรืออยู่เหนือมัน ปัญหาของการพยายามเป็นนายของเวลา คือ สุดท้ายเวลาจะกลายเป็นนายของเราเสียเอง
2.เราควรจัดการชีวิตในแต่ละวันด้วยความเข้าใจว่าเราจะไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับ
ทุกสิ่งที่อยากทำหรือสิ่งที่คนอื่นอยากให้เราทำแน่นอน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเรียนรู้ที่จะเลือกอย่างมีสติว่าสิ่งไหนควรมุ่งความสนใจและสิ่งไหนควรมองข้าม การพลาดอะไรไปไม่ใช่ปัญหา เพราะมันต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันมันจะทำให้ทางเลือกต่างๆ ของเรามีความหมายมากขึ้น
3.มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราต้องทำอะไรมากเกินกว่าที่เราจะทำได้ ถ้าเราไม่มีเวลาจริงๆ สำหรับทุกอย่างที่อยากทำหรือสิ่งที่รู้สึกว่าต้องทำ หรือสิ่งที่คนอื่นมารบเร้าให้เราทำ ก็แปลว่าเราไม่มีเวลาไง ไม่ว่าผลลัพธ์จากการไม่ทำสิ่งเหล่านั้นจะแย่แค่ไหน เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติแล้วมันไม่มีเหตุผลที่จะรู้สึกเดือดร้อนกับรายการสิ่งที่ต้องทำอันยาวเยียด เราก็แค่ทำในสิ่งที่ทำได้ และไม่ทำสิ่งที่ทำไม่ได้
4.เราพยายามอย่างไร้ประโยชน์ในการทำทุกอย่างให้สำเร็จ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นแค่อีกวิธีในการพยายามหลีกหนีความรับผิดชอบที่ต้องตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะถ้าสามารถทำทุกอย่างให้สำเร็จได้จริงๆ คุณก็ไม่จำเป็นต้องเลือก ซึ่งมันทำให้รู้สึกว่าชีวิตสบายกว่า มันจะฟังเข้าท่ากว่าไหมถ้าจะไม่พูดว่า “เราต้องเลือก” แต่พูดว่า “เรามีโอกาสได้เลือก” สิ่งต่างๆ
5.การตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น มันเป็นการให้คำมั่นสัญญาในแง่ดีว่าจะใช้เวลาส่วนที่ได้รับมาในการทำ “สิ่งนี้” แทนที่จะเป็น “สิ่งนั้น” ซึ่งอาจมีจำนวนไม่สิ้นสุด เพราะเราได้เลือกแล้วว่า สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การแต่งงานคือการปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่จะพบคนอื่น คนที่อาจเป็นคู่แต่งงานที่ดีกว่า แต่สิ่งนี้นั่นเองที่ทำให้การแต่งงานมีความหมาย ความเบิกบานใจที่เกิดขึ้นเรียกว่า “ความสุขของการพลาดโอกาส”
6.การบริหารจัดการเวลาที่มีจำกัดไม่ได้เกี่ยวกับการทำอย่างไรให้ทุกอย่างสำเร็จได้ เพราะมันไม่มีวันเกิดขึ้นหรอก แต่เป็นการตัดสินใจว่าจะไม่ทำอะไร และทำอย่างไรให้รู้สึกสบายใจเมื่อไม่ได้ทำมัน
7.เราจำเป็นต้องให้เวลากับเรื่องใดเรื่องหนึ่งน้อยลง เพื่อจะได้มีพื้นที่สำหรับอีกเรื่องหนึ่ง และยอมรับว่าไม่มีสักเรื่องที่จะดำเนินไปอย่างสมบูรณ์แบบ และนี่เป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงมองเห็นเสน่ห์ในความหวังมากกว่าการครอบครอง และในความฝันมากกว่าความเป็นจริง
ดังนั้น เราไม่มีทางเลือก เราจะต้องลงหลักปักฐาน และควรลงหลักปักฐานในแบบที่ยากเกินกว่าจะเปลี่ยนใจ เมื่อเราไม่สามารถหันหลังกลับไปได้อีก ความกังวลก็จะหายไป เพราะมันมีแค่ทางเดียวที่เราจะเดินทางต่อไปได้ คือการก้าวไปข้างหน้าสู่ผลที่ตามมาจากสิ่งที่เราเลือกเอง
8.ปัจจุบันโลกออนไลน์แย่งกันดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค เป็นสิ่งรบกวนสมาธิที่บิดเบือนภาพแห่งความจริงในหัวของเรา และมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของเรา เช่น ถ้าโซเชียลมีเดียโน้มน้าวเราว่าอาชกรรมด้านความรุนแรงในเมืองเป็นปัญหาในเมืองที่เราอยู่มากกว่าความเป็นจริง เราจะพบว่าตัวเองเดินไปตามถนนด้วยความหวาดกลัวโดยไม่มีเหตุผล และอยู่บ้านมากกว่าไปข้างนอก
ดังนั้น มันไม่ใช่แค่เรื่องของการที่โทรศัพท์มือถือทำให้เราไม่มีสมาธิกับเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญ แต่มันเปลี่ยนวิธีการที่เรานิยาม “สิ่งสำคัญ” ตั้งแต่แรกเริ่ม และเราควรซื่อสัตย์กับตัวเองว่าส่วนมากแล้วเรายอมแพ้ให้การเสียสมาธิด้วยความเต็มใจ
9.การมีเราไม่มีสมาธิกับปัจจุบันคือการปรารถนาที่จะหนีจากประสบการณ์บางอย่างในปัจจุบันที่ทำให้เจ็บปวด ความทุกข์ทรมานจะลดลงต่อเมื่อยอมจำนนต่อความจริงของสถานการณ์ที่กำลังเผชิญและยอมรับว่าเราไม่มีสิทธิ์ที่จะบงการความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ อยู่แล้ว
10.การวางแผนเป็นเครื่องมือสำคัญในการก่อร่างสร้างชีวิตที่มีความหมายและฝึกความรับผิดชอบของเรา ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่การวางแผน แต่เป็นการที่เราพยายามควบคุมอนาคตที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา การที่เราเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกกับความสำเร็จในอนาคต ก็เพื่อจะเลี่ยงไม่ต้องถามตัวเองว่าเรากำลังทำอะไรกับชีวิตอยู่ และเราจำเป็นต้องทำสิ่งนั้นหรือไม่ เพราะตราบใดที่มันเป็นแค่การเพ้อฝัน เราก็สามารถจินตนาการได้ว่าทุกสิ่งนั้นจะค่อยๆ เกิดขึ้นแบบไม่มีที่ติ
11.ตราบใดที่เราเชื่อว่าความหมายที่แท้จริงของชีวิตยังรออยู่ที่ไหนสักแห่งในอนาคต หรือเชื่อว่าความพยายามทั้งหมดจะผลิดอกออกผลซึ่งปราศจากปัญหาใดๆ เราก็ยังหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความจริง การใช้ชีวิตในปัจจุบันให้เต็มที่กว่าเดิม อาจเป็นแค่การเข้าใจในที่สุดว่า เราไม่เคยมีทางเลือกอื่นนอกจากการอยู่ที่นี่ในตอนนี้
12.การทำราวกับว่าเวลาเป็นสิ่งที่ควรใช้ให้คุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้เรารู้สึกกดดันว่าต้องใช้เวลาว่างของเราให้มีประสิทธิภาพเช่นกัน การใช้เวลาว่างเพื่อเราจะได้ว่างกลับกลายเป็นเหตุผลที่ดูจะไม่เพียงพอ การพักผ่อนไม่ใช่เครื่องมือสู่เป้าหมาย แต่การพักผ่อนคือเป้าหมาย ส่วนสิ่งอื่นๆ ที่ทำคือวิธีไปถึงเป้าหมายนั้น
13.เทคโนโลยีล้วนทำให้เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เร็วกว่าเดิม แต่เรากลับหงุดหงิดยิ่งขึ้นจากการที่ไม่สามารถทำให้มันเร็วยิ่งไปกว่านั้นได้ เมื่อยอมรับความจริงได้ว่าเราไม่สามารถบงการว่าอะไรควรไปเร็วแค่ไหน เราก็จะเลิกพยายามเอาชนะความวิตกกังวล และจะเริ่มมีความอดทนมากขึ้น
14.การมองเวลาในฐานะ “สิ่งที่มีไว้เพื่อแบ่งปัน” จะดีกว่าการปฏิบัติต่อมันเหมือน “สิ่งที่ต้องกักตุน” คุณค่าของเวลาไม่ได้มาจากปริมาณของเวลาที่เรามีเท่านั้น แต่มาจากการที่เวลาของเราสอดประสานกับคนที่เราใส่ใจมากที่สุดหรือไม่
15.เราไม่ได้สำคัญในจักรวาล เรามักรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะใช้เวลาเพื่อทำอะไรสักอย่างที่มีความหมาย และใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ทว่าสิ่งที่เราเลือกทำกับชีวิตไม่ได้สำคัญขนาดนั้น ยิ่งเรื่องการใช้เวลาอันจำกัดของเรา จักรวาลยิ่งไม่แยแสโดยสิ้นเชิง บางทีสิ่งที่ทำอยู่แล้วนั้นอาจมีความหมายมากกว่าที่คิด และที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เราได้ลดคุณค่าของพวกมันโดยไม่รู้ตัว โดยยึดตามพื้นฐานที่ว่า มันไม่สำคัญเพียงพอ
เมื่อเรายอมรับความพ่ายแพ้ว่าเราไม่สามารถควบคุมเวลาและชีวิตได้ มันมีอะไรมากเกินกว่าที่จะทำไหวอยู่เสมอ คุณไม่อาจหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ยากลำบาก หรือทำให้โลกหมุนไปตามความเร็วที่ต้องการ ไม่มีประสบการณ์ไหนที่สามารถรับประกันได้ล่วงหน้าว่ามันจะออกมาดีและไร้ซึ่งความเจ็บปวด ถึงอย่างไรเมื่อทุกอย่างสิ้นสุด มันก็ไม่ค่อยมีค่ามากนักอยู่แล้ว
เมื่อเรายอมรับ เราจะได้อยู่ที่นี่จริงๆ คุณได้แลกเอาชีวิตที่แท้จริงมา คุณได้ใช้เวลาอันจำกัดของเราเพื่อมุ่งเน้นไปยังสิ่งสำคัญสำหรับเราเพียงไม่กี่อย่าง สิ่งสำคัญในตัวมันเอง ในเวลานี้ ในขณะนี้ เพราะขณะปัจจุบันเป็นส่งเดียวที่เราได้รับ
เชื่อว่าถ้าใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้ มุมมองเรื่องการจัดการเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ยิ่งเรายอมรับได้ว่าเราไม่สามารถควบคุมเวลาได้ เราสามารถปล่อยวางความเครียดและความวิตกกังวลลงได้เยอะเลย ดูเหมือนว่าเมื่อเราไม่คาดหวัง ชีวิตเรานั้นเบาสบายขึ้นเยอะ เมื่อชีวิตไม่ต้องสมบูรณ์แบบ เราก็จะพบความสมบูรณ์แบบอีกรูปแบบหนึ่งอย่างน่าประหลาด อยากแนะนำให้ลองอ่านมากๆ เลยค่ะ
#ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์
#FourThousandWeeks:TimeManagementforMortals
#อ่านแล้วนะ
ชื่อเรื่อง : ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ (Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals)
ผู้เขียน : Oliver Burkeman
ผู้แปล : วาดฝัน คุณาวงศ์
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ฮาวทู
จำนวนหน้า : 226 หน้า
ราคาปก : 265 บาท
โฆษณา