นอกเหนือจากนั้น ความน่าประทับใจอีกอย่าง คือจังหวะการเล่าเรื่องใน Part One ที่สามารถขมวดจบสรุปเรื่องราวในตัวได้ดี โดยไม่รู้สึกห้วนหรือถูกหั่นครึ่งจนแห้งแล้งเกินไป อีกทั้งจังหวะจบของเรื่อง มันยังยั่วไปหาบทสรุปที่น่าเข้มข้นของ Part Two ได้อย่างดีมาก ๆ ซึ่งก็ถือเป็นความสำเร็จที่ไม่ธรรมดา ในธารกระแสของหนังที่เริ่มนิยมใช้การแบ่งครึ่งพาร์ทออกมาเรื่อย ๆ
กระนั้น ด้วยมาตรฐานที่ค่อนข้างสูงของ Fallout เราจึงรู้สึกว่า Dead Reckoning Part One อยู่ในเกณฑ์ความบันเทิงที่ดูได้สนุกสุดมันส์ แต่ไม่ได้ประทับใจจนเกินคาดเฉกเช่น Fallout ที่ขมวดควบรวม ผลพวงทางอารมณ์ และมิติทางตัวละครอีธาน ฮันท์ ได้ครบถ้วนและสมบูรณ์มากกว่า แต่หากถามในแง่ของมาตรฐานแฟรนไชส์ Mission: Impossible ก็ถือว่าไม่ได้ผิดหวัง
ความน่าสนใจของ Dead Reckoning คือการพูดถึงภัยร้ายที่เราเข้าถึงได้ง่าย อย่างการตระหนักและตื่นรู้ของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ของใหม่ในโลกภาพยนตร์ก็ตาม เพราะเราอาจคุ้นเคยกับ Skynet จากแฟรนไชส์คนเหล็ก หรือ HAL 9000 จากหนัง 2001: A Space Odyssey มาแล้ว