19 ก.ค. 2023 เวลา 14:56 • หุ้น & เศรษฐกิจ

"ทองคำของไทยในสหรัฐมาจากไหน ใครเป็นคนเอาไปฝาก" โดย ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน

ทองคำของไทยในสหรัฐมาจากไหน ใครเป็นคนเอาไปฝาก
เคยอ่านกันไหมครับ ที่ว่าไทยมีทองคำน้ำหนักกว่า 31 ตัน ฝากไว้ในห้องนิรภัยของสหรัฐ แต่ทวงแล้วทวงอีก ก็ยิ่งกว่าอ้อยเข้าปากช้าง สหรัฐอเมริกาปฏิเสธจะคืนให้ทุกกรณี เพราะปัจจุบันสหรัฐอยู่ในสภาวะ"ถังแตก" ค่อนข้างแน่ชัด
หากอ่านแล้วจะเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ไทยเอาทองคำไปฝากไว้ที่สหรัฐตั้งแต่ตอนไหน ถึงได้โดนอมเอาง่ายๆ
...เรื่องนี้ ผู้เขียนบทความคนแรกกำหนดให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้ร้าย จึงมีผู้แชร์กันต่อกระจายมาก ระลอกแรกเคยมาถึงผมนานแล้ว อ่านแล้วก็ปล่อยวางไปทั้งที่ยังข้องใจอยู่
ระลอกใหม่นี้มาถี่ๆ อีกครั้งจากเพื่อนในเฟสบุคหลายท่าน เลยต้องแก้สงสัยของตนเองด้วยการค้นคว้าหาคำตอบจากหนังสือสะสมในบ้านหลายเล่ม ผนวกกับข้อมูลทางอินเทอเน็ตที่เห็นว่าเชื่อถือได้ มาเล่าสู่กันฟัง
 
ตัดเอาเรื่องนอกประเด็นในบทความดังกล่าวออกไป เพื่อตรงสู่ใจความเลย ผู้เขียนกล่าวว่า …..ในช่วงนั้น ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้แผ่อิทธิพลครอบงำวงการการเมืองไทย ไม่พ้นแม้แต่สภาผู้แทนราษฎร บีบบังคับให้สภาผู้แทนราษฏร มีมติแต่งตั้งตัวเอง เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่เพียงผู้เดียว ...
ปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎร จึงกลายเป็นผู้มากบารมี กุมอำนาจบริหารประเทศเบ็ดเสร็จทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ จะออกกฎหมายอะไรมาก็สามารถกระทำได้ ...
ด้วยเหตุเพราะนายปรีดี พนมยงค์ สามารถลงนามได้ทันที มันก็คือระบอบเผด็จการแบบกินรวบโดยไร้การถ่วงดุลใดๆในช่วงนั้น ... ได้ใช้อำนาจผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซื้อทองคำแท่งหนัก 1 ล้านออนซ์ (31,104 กิโลกรัมหรือ 31.1ตัน) และยังไม่เพียงเท่านั้น ยังได้โอนเงินปอนด์
สเตอริงเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลล่าสหรัฐในขณะนั้น แล้วได้นำไปเก็บไว้ที่ห้องนิรภัยของประเทศสหรัฐ
2
แม้ทางการไทยในปัจจุบันในทุกยุคที่ผ่านๆ มา ได้ทำเรื่องขอทองคำแท่งจากประเทศสหรัฐอเมริกาคืน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธและบ่ายเบี่ยงทุกครั้ง ... ซึ่งก็ไม่ต่างจากเยอรมันที่ได้ฝากไว้ รวมน้ำหนักถึง 300 ตัน ... มากกว่าประเทศไทยเป็นสิบเท่าครับ ...
ผมหาหลักฐานที่เขาใช้ในการเขียนบทความข้างต้นไม่เจอ (หากใครมีก็ขอให้ช่วยชี้ช่องให้ผมเข้าไปอ่านด้วยครับ) ส่วนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เริ่มมาจากคราวที่นายปรีดีเป็นรัฐมนตรีคลังในปี 2481 ได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้นมาอีกครั้งหลังจากต้องเลื่อนโครงการไปในสมัยรัชกาลที่ 6
เนื่องจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
โดยครั้งนี้ให้ตั้งเป็นสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นก่อน แล้วทำธุรกรรมเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์
หลังจากนั้น นายปรีดีได้เสนอผ่านสภาให้นำเหรียญบาทสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ห้องมั่นคงในพระบรมมหาราชวัง น้ำหนักรวม 15 ตัน มูลค่า 52.43 ล้านบาท ไปจ้างหลอมเอาแต่เนื้อเงินบริสุทธ์ในสหรัฐ แล้วแต่งตั้งให้ธนาคารสยามกัมมาจล(ไทยพาณิชย์) เป็นตัวแทนการขาย และการรับเงินในนามของกระทรวงการคลัง
ซึ่งได้บริษัททำเครื่องเงินชื่อ Gorham silversmiths และ Reed & Barton เป็นผู้ซื้อ ได้กำไรมาประมาณ 20 ล้านบาท แล้วโอนเงินไปเข้าบัญชีที่ธนาคาร Provincial London เป็นบัญชีทุนสำรองเงินตรา ที่เหลือ 10 ล้านบาทเศษเข้าบัญชีเพื่อซื้อทองคำเพิ่มให้เป็นทุนสำรอง (ตามหนังสือ ธ.ป.ท. ปริทรรศน์ ฉบับที่ 1) ในปี 2483 ธนาคารชาติไทยจึงสามารถออกธนบัตรไทยมาหมุนเวียนในประเทศได้
ครั้นเห็นว่าใกล้จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง นายปรีดีคาดการณ์ว่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงซึ่งไทยใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศอาจด้อยค่าลงได้ จึงมีคำสั่งให้นำเงินปอนด์ไปซื้อทองคำแท่งมาเก็บสำรองแทน
โดยหนังสือคำสั่งระบุว่า
“ให้จัดซื้อทองคำในลอนดอนและขนเข้ามาเก็บไว้ในประเทศไทย” ปรากฏว่า เงินจำนวนนั้นซื้อทองคำได้ 679 เเท่ง เป็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ 173,818.545 เอานซ์ หรือเท่ากับ 4.92 ตัน ทองคำจำนวนนี้ได้ขนมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยของกรมคลัง ในพระบรมมหาราชวัง รวมกับทองคำที่ซื้อภายในประเทศจากเหมืองทองคำที่โต๊ะโม๊ะ อยู่ที่อำเภอสุคิริน นราธิวาส ที่ผลิตได้ทั้งหมด ไม่ต้องเสียค่าเก็บรักษาให้แก่ต่างประเทศ
1
แต่ก็ยังมีทองคำบางส่วนที่ยังฝากไว้ในต่างประเทศโดยยอมเสียค่ารักษา ทั้งที่สหรัฐ อังกฤษและญี่ปุ่น ซึ่งในเวลาต่อมาสหรัฐได้นำส่วนหนึ่งมาใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับสนับสนุนปฏิบัติการของเสรีไทยในระหว่างสงคราม
ก่อนหน้าที่จะโจมตีที่เพิร์ลฮาเบอร์ไม่กี่วัน ญี่ปุ่นได้เจรจากับไทยขอเอาเงินเยนมาแลกเงินบาทเพื่อซื้อข้าวสารไทย นายปรีดี ในฐานะรัฐมนตรีคลังไม่ยอมรับเงินเยนญี่ปุ่น ขอให้เอาทองคำมาแลกกับเงินบาทเท่านั้น แม้จะไม่พอใจมากแต่ญี่ปุ่นก็ต้องจำยอม โดยตกลงกันว่าทองคำส่วนหนึ่งให้ขนเอามากรุงเทพ อีกส่วนนั้นให้ผูกหูฝากไว้ที่ธนาคารชาติญี่ปุ่น ทว่าหลังจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาแล้ว การขนทองคำมากรุงเทพก็ชะงักไป
เมื่อญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 นั้น นายปรีดีเป็นคนสำคัญในคณะรัฐมนตรีที่คัดค้านการจะยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านประเทศ และคัดค้านการเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แม้จะไม่สำเร็จ
แต่เมื่อญี่ปุ่นขอนำเงินเยนมาแลกเงินบาทไปซื้อเสบียงเลี้ยงกองทัพญี่ปุ่นอีก นายปรีดีก็ขัดขวาง โดยแสดงความเห็นในครม.ว่า ถ้าให้ญี่ปุ่นกู้เงินไปใช้จ่าย โดยเราจะยอมพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นแล้วก็ใช่ว่าจะหยุดเพียงเท่านี้ เขาจะต้องขอกู้เพิ่มอีกเรื่อยๆ จนทำให้เกิดเงินเฟ้อ ส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจร้ายแรง รัฐบาลควรให้ทหารญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรที่เรียกว่า Invasion Notes ขึ้นใช้ในกองทัพของเขาเองจะดีกว่า เมื่อยุติสงครามแล้ว เราก็ประกาศยกเลิกธนบัตรเหล่านี้เสีย การเงินและการคลังของประเทศก็จะได้ไม่กระทบกระเทือนมากนัก
จอมพล ป.นายกรัฐมนตรีแย้งว่า ถ้ายอมให้ญี่ปุ่นออก Invasion Notes ก็เท่ากับเป็นการแสดงว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้ว นายปรีดีได้ถามกลับว่า การที่เรายอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาเต็มบ้านเต็มเมือง แล้วบีบบังคับให้เราทำโน่นทำนี่ตามใจเขาน่ะ ไม่ได้แปลว่าเราได้เสียเอกราชอธิปไตยไปแล้วกระนั้นหรือ
ญี่ปุ่นนั้นมีสายลับคนหนึ่งนั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี ไม่นานนักจอมพล ป. ก็ถูกบีบให้สั่งนายปรีดีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง โดยจัดให้ขึ้นไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ร่วมคณะกับ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ถูกมองว่าไร้อำนาจแทน เรื่องนี้จบในวันที่ 16 ธันวาคม 2484 เท่านั้นเอง โดยมีมติของสภาผู้แทนราษฎรรองรับ
อย่างไรก็ดี ผลของการทักท้วงทำให้จอมพล ป. สามารถอ้างกับญี่ปุ่นถึงหลักการเดิมที่เคยตกลงกันไว้ว่าจะชำระหนี้กันด้วยทองคำ
ดังนั้นเมื่อญี่ปุ่นขอกู้เงินจากไทยในระหว่างสงครามคราวใด ญี่ปุ่นจะนำทองคำผูกหู ฝากไว้ที่ธนาคารชาติญี่ปุ่น ตามราคาซื้อขายในขณะนั้นทุกครั้ง
เมื่อสงครามยุติลงแล้ว รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้แถลงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2492 ว่า
“ ....The U.S. position is that occupation forces found the gold…. for French Indo China and Siam in payment for Japanese purchases, and the gold therefore legally belongs to those countries.... The gold going to Siam would pay for Japanese purchases of rubber, rice, tin and other commodities during the war……..etc.”
ถอดความว่า กองทัพอเมริกันพบทองคำที่เป็นของอินโดจีนฝรั่งเศสและสยาม ซึ่งญี่ปุ่นได้ชำระเป็นค่าสินค้า ดังนั้นทองคำดังกล่าวจึงเป็นของประเทศเหล่านั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
ทองคำที่จะคืนให้สยามนี้ก็เพื่อชำระค่ายาง ข้าว ดีบุก และสินค้าอื่นๆที่ญี่ปุ่นซื้อไปในระหว่างสงคราม ทั้งที่ราคาทองคำที่เคยมีราคาบาทละ 20-100 บาท ได้กลายเป็นบาทละ 4,000 บาทไปแล้วในเวลานั้น
เรื่องนี้ อ.พิบูลสงครามได้เขียนไว้ในหนังสือบันทึกประวัติของบิดาปกเขียวว่า กองทัพญี่ปุ่นขอกู้ไปใช้ประมาณ 1,230,701,083 บาทเท่านั้น นับตั้งแต่ธันวาคม 2484 ถึงมิถุนายน 2488 ในจำนวนนี้รวมถึงส่วนหนึ่งที่กองทัพญี่ปุ่นได้กู้ยืมไปในสมัยที่นายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจากจอมพล ป. พิบูลสงครามด้วย
อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นก็ได้เปิดเครดิตเป็นเงินเยนชดใช้ให้เป็นจำนวน 1,106,699,988 เยนที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ที่เหลืออีกจำนวนหนึ่ง 124,001,095 เยน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามก็ได้เอาไปซื้อทองคำนำมาเก็บไว้เป็นทุนสำรองเงินตราของเรา
สอดคล้องกับแถลงการณ์เรื่อง การจ่ายเงินบาทให้ญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนกับเงินเยนในระหว่างสงคราม ลงวันที่ 11 กันยายน 2499 ว่า ไทยจ่ายเงินบาทแลกเปลี่ยนกับเงินเยนรวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง
จ่ายในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม 7 ครั้ง ในสมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี อีก 5 ครั้ง ได้มีการเจรจาซื้อทองคำ(ด้วยเงินเยน)จากญี่ปุ่นได้เป็นคราวๆ ได้ทองคำรวมกันแล้วเป็นปริมาณทั้งสิ้น 26707485.70 กรัมบริสุทธิ์ หรือเท่ากับ 26.70 ตันเศษ ส่วนหนึ่งได้ขนจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเก็บรักษาไว้ที่กรุงเทพ ที่เหลือฝากไว้ ณ ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น เพราะช่วงปลายสงครามการขนส่งกระทำได้ยากและเสี่ยงอันตรายมาก
ทองคำจำนวนนี้คือที่สหรัฐพบและจะคืนให้ไทย แต่รัฐบาล(จอมพล ป. 2)ขอให้ช่วยขนไปฝากไว้ ณ ธนาคาร New York Federal Reserve ในสหรัฐอเมริกา แต่จะหนักกี่ตันผมหาไม่เจอแล้ว แต่ยังไงๆก็ไม่ถึง 31 ตัน ตามที่กล่าวอ้างแน่นอน
ส่วนประเด็นที่ว่า “….แม้ทางการไทยในปัจจุบันในทุกยุคที่ผ่านๆมา ได้ทำเรื่องขอทองคำแท่งจากประเทศสหรัฐอเมริกาคืน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธและบ่ายเบี่ยงทุกครั้ง ... ซึ่งก็ไม่ต่างจากเยอรมันที่ได้ฝากไว้ รวมน้ำหนักถึง 300 ตัน ... มากกว่าประเทศไทยเป็นสิบเท่าครับ ...”
ผมเจอในอินเทอเน็ตว่า “เยอรมนีนั้น...ได้ทวงทองคำที่ฝากไว้ในคลังสำรองสหรัฐจำนวน 300 ต้น จากจำนวนทั้งหมด 1,500 ตัน เพื่อเอามาเก็บไว้ ณ คลังสำรองที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ตตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 เป็นต้นมา ในปี ค.ศ.2013 คลังสำรอง "New York Federal Reserve" สามารถส่งทองคำกลับไปให้เยอรมนีได้แค่ 5 ตันเท่านั้นเอง ปี ค.ศ. 2014 ดีขึ้นมาหน่อย คือสามารถทยอยส่งได้อีก 120 ตัน
แต่โดยสรุปรวมความแล้ว..
กว่าจะส่งคืนให้ครบทั้งจำนวน 300 ตัน ตามที่เยอรมนีต้องการ "New York Federal Reserve" ต้องขอต่อรองให้ยืดระยะเวลาออกไปประมาณ 7 ปี จากเดิมที่ที่เยอรมนียื่นคำขาดขอส่งมอบให้ครบภายใน 5 ปีเท่านั้น สุดท้าย...หลังจากเจรจาต่อรองกันไปมา เลยต้องยืดเวลาไปจนถึงปี ค.ศ. 2020 ด้วยลักษณะอาการแบบอิดๆออดๆ ยื้อไปยื้อมาเช่นนี้นี่เองทำให้เกิด "คำถาม" ตัวโตๆ ถึงทองคำในคลังสำรองของสหรัฐที่ว่ากันว่าเคยมีอยู่สูงสุดในโลกมากถึง 8,133.50 ตันนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว...จะเหลืออยู่เท่าหนวดกุ้ง หรือใหญ่โตเท่าโซ่รถไฟกันแน่”
เรื่องและภาพ จากเพจ
ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
โฆษณา