22 ก.ค. 2023 เวลา 10:00 • หนังสือ

ชนะไม่ได้ ฝืนก็ไม่ได้ แล้วจะให้ทำอย่างไร?

ผู้ชาญศึกแต่โบราณ จะทำให้ตนเองไม่ถูกพิชิตก่อน เพื่อรอโอกาสที่ข้าศึกตกอยู่ในฐานะถูกพิชิตได้ ไม่ถูกพิชิตขึ้นอยู่กับเรา เอาชนะได้ขึ้นอยู่กับข้าศึก ดังนั้นผู้ชาญศึกจึงสามารถทำให้ตนเองไม่ถูกพิชิต ไม่สามารถทำให้ข้าศึกถูกพิชิต จึงกล่าวว่าชัยชนะอย่างรู้ได้แต่กำหนดเองไม่ได้
ซุนวู
10
จากมุมมองของซุนวูจะเห็นได้ว่าความสำคัญของชัยชนะให้มองที่ตัวเองก่อนว่าตัวเรานั้นอยู่ในจุดที่แข็งแรง แข็งแกร่งมากพอที่ฝ่ายตรงข้ามเอาชนะเราไม่ได้แล้วหรือยัง
ถ้าหากเรายังมีจุดที่ข้าศึกเอาชนะเราได้การที่จะไปชนะได้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึงเลย ดังนั้นการต่อสู้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของแพ้หรือชนะซะทีเดียว ก่อนจะไปถึงชนะมันก็มีสอง ผลลัพธ์ของฝ่ายเราคือ "แพ้และไม่แพ้" เราอ่อนแอก็แพ้ เราเข้มแข็งก็ไม่แพ้เพราะฝ่ายตรงข้ามเอาเราไม่ลง
เมื่อเราทำให้ตัวเอง "ไม่แพ้" ได้แล้ว จึงเป็นเรื่องของ "ชนะหรือไม่ชนะ" จะชนะหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับฝ่ายตรงข้ามเปิดโอกาสให้เราหรือเปล่า
พูดง่ายๆ ก็คือเราควบคุมตัวเองได้ แต่ควบคุมคนอื่นไม่ได้ จึงต้องควบคุมตัวเองให้ดีแล้วคอยเฝ้าสังเกตคนอื่น
"เฝ้าสังเกตอะไร?" เฝ้าสังเกตช่องโหว่ที่เราจะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ ชัยชนะเป็นสิ่งที่คาดหมายได้ แต่ถ้าเงื่อนไขไม่ครบ หากเป็นเช่นนั้นอย่าฝืนดีกว่า
"หยั่งชัยชนะได้ แต่ใช่ว่าจะทำได้เสมอไป"
ชนะไม่ได้ ฝืนก็ไม่ได้ แล้วจะให้ทำอย่างไร?
จากหนังสือ “พิชัยยุทธ์ซุนวู ฉบับหัวซาน” ได้ให้คำตอบไว้ 3 ข้อดังนี้
1."ไม่ทำ"
คนส่วนมากล้มเหลวเพราะไม่รู้ว่าเรื่องนั้นหรืองานนั้น "ไม่ทำ" ก็ได้ ไม่รนหาที่ก็ไม่ถึงที่ตาย บางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ถึงกับตายเลี่ยงได้ก็เลี่ยงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด หรือไม่ต้องทำอะไรเลย อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
โปรดจำไว้ว่าทุกการกระทำมี "ต้นทุนของการกระทำ"
2.คือ "รอคอย"
รอคอยอะไร? รอคอยการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ รูปแบบที่เปลี่ยนไปทำให้มีโอกาสชนะ การสะสมจากการรอคอยทำให้โอกาสที่เราจะไม่แพ้มีมากขึ้นเรื่อยๆ พูดให้ง่ายให้ชัด "รอจนอีกฝ่ายผิดพลาด" นั้นเอง เมื่ออีกฝ่ายผิดพลาดโอกาสที่เราจะชนะก็จะปรากฏขึ้น ถ้าอีกฝ่ายไม่ผิดพลาดเราก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าเราจะเอากำลังเข้ากระทำการใดสิ่งหนึ่งก็มีราคาที่ต้องจ่าย บางครั้งอาจจะเป็นราคาสูงที่ต้องจ่าย และไม่อาจการันตีว่าเราจะชนะด้วยสู้รอสักพักจะคุ้มกว่า
3.คือ "ล่อให้พลาด"
เราจะหาวิธีที่ทำให้ข้าศึกผิดพลาดได้หรือไม่? เราสามารถทำให้ฝ่ายตรงข้ามมาเล่นในเกมที่ฝ่ายเราเก่งได้หรือไม่? หลักชัยชนะสุดท้ายแล้วก็วัดกันที่พลานุภาพ ดังที่บรูซ ลี เคยกล่าวไว้
"ผมไม่กลัวคนที่ฝึกท่าเตะหมื่นท่าในครั้งเดียว แต่ผมกลัวคนที่ฝึกเตะหนึ่งท่าหมื่นครั้งต่างหาก"
บรูซ ลี
เรากลัวคนที่ฝึกเตะหนึ่งท่าหมื่นครั้งก็เพราะว่าเรารู้ว่าท่านั้นของเค้าจะเป็นท่าที่มีพลานุภาพมากแค่ไหน ฉะนั้นก่อนจะหลอกล่อให้ฝ่ายตรงข้ามผิดพลาดได้หรือไม่เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าพลานุภาพของเรานั้นอยู่ที่ไหน หรือมีมากน้อยแค่ไหน
จากทั้งสามข้อจึงจะกล่าวได้ว่า เรานั้นรู้หรือไม่ว่าเรามีพลานุภาพในเรื่องใด เป็นพลานุภาพที่มากพอจะเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้หรือไม่ รู้ว่าสิ่งใด "ไม่ทำ" ก็ได้ เพื่อประหยัดทรัพยากรและกำลังของฝ่ายเรา อดทนรอสถานการณ์เพื่อให้โอกาสที่เราจะชนะได้ปรากฏขึ้นมา มองให้ออกว่าจุดใดจะเป็นจุดที่พลานุภาพของเรานั้นจะนำชัยชนะมาให้กับเราได้
ในโลกปัจจุบันการแข่งขันนั้นมีอยู่มากมาย แทบจะทุกมิติของสังคม ไม่ว่าจะเป็นในระดับตัวบุคคล องค์กร บริษัท หรือกระทั่งในระดับประเทศ เชื่อว่าเราหลายคนก็คงเคยเจอสภาวะที่เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าชนะไม่ได้ ฝืนก็ไม่ได้ แล้วจะให้ทำอย่างไร?
หลักการของซุนวูนี้น่าจะพอช่วยให้เราเริ่มตั้งคำถามใหม่กับตัวเองกับจุดยืนที่เราสู้อยู่แล้วเราแพ้อยู่ล่ำไป หรือสู้อยู่แต่ยังความสำเร็จมาไม่ได้สักที หรือชีวิตเหมือนไม่มีอะไรจะคืบหน้าได้เลย โดยเฉพาะยิ่งยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงมากเราแทบจะเป็นผู้ที่มีความอดทนสูงมากๆ เราอดทนกับการงาน เราอดทนกับชีวิตที่ไม่มีความคืบหน้าในความสำเร็จสักที เราอดทนกับความไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก
หากเรามีท่าทีใหม่ต่อการอดทน ทนแบบตั้งสังเกต ฝึกฝนตนอยู่เสมอ เพื่อหาจุดที่พลานุภาพของเรานั้นจะนำความสำเร็จมาให้กับตัวเรานั้นได้ เลือกทำสิ่งใดและไม่ทำสิ่งใดได้อย่างแม่นยำ เพื่ออ่อมกำลังสำหรับใช้พลานุภาพในสถานการณ์ที่โอกาสความสำเร็จปรากฎขึ้นมาและคว้ามันไว้ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถตอบคำถามที่ว่า ชนะไม่ได้ ฝืนก็ไม่ได้ แล้วจะให้ทำอย่างไร? ได้อย่างแน่นอน
โฆษณา