26 ก.ค. 2023 เวลา 05:32 • ประวัติศาสตร์

ชุมทางเสียงทอง วาไรตี้ลูกทุ่งมาตรฐานที่นำพา “เบญทราย กียปัจจ์” มาให้เรารู้จักกัน

.ท่ามกลางรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งทางโทรทัศน์ที่มีอยู่มากมายนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีอยู่รายการหนึ่งที่ยึดมั่นในการส่งเสริมและคงเอกลักษณ์ความเป็นเพลงลูกทุ่งของไทยไว้ ทั้งยังเป็นเวทีที่ปลุกปั้นนักร้องอาชีพในวงการอีกหลายคนจากการประกวดตั้งแต่แรกเริ่มออกอากาศ ซึ่งคงเป็นรายการใดไปอีกไม่ได้ นอกจาก “ชุมทางเสียงทอง” ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่คู่กับช่อง 7 มานานนับสิบกว่าปี
ด้วยความที่ช่อง 7 ต้องการรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งใหม่มาแทนรายการ “ลูกทุ่ง 7 สี” ที่ยุติการออกอากาศแบบกลางคัน ทางสถานีจึงติดต่อไปยังคุณพนม นพพร เพื่อให้มาผลิตรายการในช่วงเวลาดังกล่าว ถึงตอนนั้นคุณพนมจะยังไม่ตกปากรับคำทันทีหลังได้รับการติดต่อก็จริง
แต่ท้ายที่สุด รายการ “ชุมทางเสียงทอง” ที่มีคุณสุรางค์ เปรมปรีดิ์ เป็นผู้ตั้งชื่อให้ ก็ได้ออกอากาศครั้งแรกในปี 2541 โดยระยะแรกของรายการนั้นมีความยาวถึง 2 ชั่วโมงในช่วงเที่ยงวันศุกร์ ก่อนที่จะปรับเวลาเป็น 90 นาที และแบ่งเป็น 2 วัน คือวันพฤหัสบดีกับวันศุกร์ตอนเช้าในภายหลัง
แน่นอนว่ารายการนี้ไม่ได้มีแค่การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของรายการเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีช่วงต่างๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นการแสดงและการสัมภาษณ์ศิลปินรับเชิญในแต่ละสัปดาห์ ช่วงตอบจดหมายจากทางบ้าน ช่วงจับรางวัลจากผู้สนับสนุน (ที่คุ้นเคยกันดีก็คงเป็นแป้งน้ำมองเล่ย่ะนั่นล่ะ)
รวมไปถึงช่วงเปิดป้ายลุ้นรางวัลสำหรับผู้ชนะแต่ละสัปดาห์ และมิวสิควิดีโอเพลง (ที่ส่วนใหญ่จะเป็นของนพพรซิลเวอร์โกลด์) ซึ่งทั้งหมดนี้แม้ว่าจะมีปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมสิ่งใด ๆ ในรายการก็ตาม แต่การตัดสินการประกวดจากครูเพลงผู้ทรงคุณวุฒิในวงการเพลงลูกทุ่ง และเกณฑ์การตัดสินที่เฉียบขาด สามารถชี้ถึงจุดเด่นและจุดที่ควรปรับปรุงของผู้เข้าประกวดแต่ละคนนั้น ก็ยังคงเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่คู่กับชุมทางเสียงทองมาตลอด
เช่นเดียวกับพิธีกรของรายการนี้ที่อยู่คู่กับรายการจนแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของชุมทางเสียงทองไปแล้ว ถ้านับตั้งแต่พิธีกรที่อยู่มาแต่แรกเริ่มอย่างนก-บริพันธ์ ชัยภูมิ, จำเริญ รัตนะ และทราย-เบญทราย กียปัจจ์ (หุ่นน้อย) ก่อนที่จะมีโอบะ เสียงเหน่อ เข้ามาร่วมทีมด้วยในปี 2545 จะเห็นได้ว่าแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงพิธีกรเลย ซึ่งตรงนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำพวกเขาทั้งสี่ในฐานะของพิธีกรรายการ “ชุมทางเสียงทอง” ก็ว่าได้
เชื่อว่าหลายคนที่มีโอกาสได้ดูชุมทางเสียงทองจะรู้จักเบญทรายจากรายการนี้เป็นที่แรก แต่แท้จริงแล้วเบญทรายเริ่มต้นงานชิ้นแรกในวงการบันเทิงด้วยบท “อิสรี” จากละครเรื่องไอ้แก่น (2540) ทางช่อง 3 และมีผลงานละครอีกหลายเรื่องทางช่อง 7 ไม่ว่าจะเป็นอังกอร์ (2543), เพลงรักข้ามภพ (2552) พ่อตาปืนโต ตอนหลานข้าใครอย่าแตะ (2562)
รวมไปถึงผลงานภาพยนตร์ล่าสุดอย่างรักข้ามคาน (2563) ซึ่งนอกจากผลงานในวงการบันเทิงแล้ว เบญทรายยังเคยรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และรองโฆษกกรุงเทพมหานครในสมัยที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครอีกด้วย
ถึงแม้ว่าในตอนนี้ชุมทางเสียงทองจะไม่ได้อยู่ทุกวันพฤหัส-ศุกร์ตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ทว่ายังมี “ชุมทางดาวทอง” ที่ทำหน้าที่สืบทอดเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและคงเอกลักษณ์ความเป็นลูกทุ่งของไทยที่ยึดถือมาแต่เดิม ด้วยรูปแบบการประกวดที่ปรับเปลี่ยนไปตามวาระ และยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานการตัดสินที่ไม่ด้อยไปกว่าครั้งที่ยังเป็นชุมทางเสียงทองแม้แต่น้อย
เรียบเรียงโดย ศรัณญู ดำรงค์ชีพ
คิดถึงเรื่องสื่อ เปิด #ส่องสื่อ
ติดตามเราได้ทาง www.songsue.co
ติดต่อโฆษณา opinionmediathai@gmail.com
โฆษณา