29 ก.ค. 2023 เวลา 03:04 • ปรัชญา
เมื่อวานไม่ได้ดูคำถาม เลยไปที่ข้อถกเถียงเลย ดูคำถามแล้ว ขอตอบบ้างดีกว่า
.
แต่ผมไม่ใช่ผู้รู้นะ อย่างมากก็แค่ผู้ที่ได้ลองสังเกตุดูแล้ว แม้ไม่สม่ำเสมอ ไม่ละเอียดนัก แต่ความเข้าใจผมเป็นอย่างนี้
คำถามแรก เหมือนอย่างที่คนอื่นตอบไปแล้ว สภาวะเหล่านั้นเกิดขึ้นเป็นลำดับ ในแง่ของการเกิด ความจริงก็ต้องเริ่มที่ผัสสะเหมือนที่มีคนตอบไปแล้วนั้นแหละ (ย้ำอีกครั้งว่าในแง่ของการเกิด) แต่เวลาที่เรารับรู้มันนั้น การจะแยกแยะอย่างงั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย (ใครที่บอกผมว่าสามารถแยกแยะสภาวะทำนี้ได้ง่าย และสามารถบอกได้ว่าขณะนี้เวทนาเกิดขึ้นแล้ว กำลังดับไป ดับไปแล้ว สัญญากำลังเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้ว กำลังดับไป ดับไปแล้ว... อย่างนี้ ผมจะยังไม่เชื่อในทันที คงต้องคลุกคลีกันนานแหละจึงจะเชื่อ)
ดังนั้น เราจะรู้สึกว่ามันเกิดขึ้น "พร้อมกันเสมอ"
ทีนี้พูดถึงการตั้งอยู่ของมันนั้น (จะว่าไปเรื่องพวกนี้ค่อนข้างละเอียดนิดหน่อย) ขออุปมาแบบนี้ ว่าเหมือนรถไฟ ที่วิ่งไปตามราง หากเราแบ่งรางออกเป็น 1 2 3 ตามลำดับ เมื่อรถไฟอยู่ตำแหน่งที่ 1 ย่อมไม่อยู่ตำแหน่งที่ 2 และ 3 เมื่ออยู่ตำแหน่งที่ 2 ย่อมไม่อยู่ตำแหน่งที่ 1 และ 3 เมื่ออยู่ตำแหน่งที่ 3 ย่อมไม่อยู่ 1 และ 2 แต่ขณะเดียวกัน หากไม่ผ่านตำแหน่งที่ 1 ตำแหน่งที่ 2 และ 3 ก็จะมีไม่ได้
ทีนี้เมื่อถามว่า เมื่อเวทนาเกิดขึ้น สัญญาจะไม่เกิดขึ้นตามมาได้หรือไม่ คำตอบก็คือได้ หากมีบางสิ่งบางอย่างรบกวนไม่ให้เวทนาเหมือนเวลาเราถูกฉีดยาซาหรือยาสลบ แล้วหมอเอาเข็มมาทิ่มเรา การที่เราไม่รับรู้ความเจ็บจากเข็มของหมอ ไม่ได้หมายความว่าความเจ็บไม่ได้เกิดขึ้น (อาจจะมีคนแย้งว่าความเจ็บนั้นมีอยู่ที่กาย ใจไม่รับรู้ก็เท่ากับไม่มีเวทนา(ความเจ็บ)เกิดขึ้น แบบนี้ผมเข้าใจว่าไม่ถูก หากจะแยกกายแยกใจอย่างงี้ก็พูดได้ว่า แท้จริงแล้วกายไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย หากไม่มีใจรับรู้)
หรือในแง่ของธรรมารมณ์เอง หากมีสภาวะธรรมที่เรียกว่า ความเฉยๆ (จริงๆ ความเฉยๆ (อทุกขมสุขเวทนา) ก็จัดเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเวทนา แต่หมายถึงความเฉยๆ ที่ทำให้เกิด อวิชชา/ความไม่รู้) เข้าสอดแทรกหรือครอบงำจิต เวทนาก็ไม่สามารถทำให้เกิดสัญญาได้เหมือนกัน
เหมือนกับเวลาเราเห็นสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เราเคยรู้ว่ามันคืออะไร แต่เมื่อเราเห็นมันแล้ว กลับไม่รู้ว่ามันคืออะไร คือเห็นก็เห็นแล้ว อารมณ์ใดๆ จากการเห็นก็เกิดขึ้นแล้ว แต่ด้วยความหลงลืมก็ตามความไม่ใส่ใจก็ตาม ทำให้เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นคืออะไร แต่ก็ต้องไม่เอาคำว่ารู้ในที่นี้ไปปนกับคำว่า วิญญาณ เพราะเรากำลังพูดเพียงขั้นสัญญา
(ควรหมายเหตุด้วยว่า 3 คำนี้ มีความหมายว่า "รู้" เหมือนกัน แต่เป็นคนละระดับคือ สัญญา, วิญญาณ, และปัญญา ทั้งหมดมีธาตุ(คำพูด) ญา- (ญาณ-) ที่แปลว่ารู้เหมือนกันหมด เพียงแต่อุปสรรคต่างกัน แต่ผมไม่รู้ภาษาบาลีหรอกนะ หากอยากได้องค์ความรู้จริงๆ ขอให้ไปอ่านอรรถกถาเอา)
(แต่ว่า ต้องมีเชิงอรรถไว้อีก (เยอะจังซักเหนื่อละนะ) คำว่า วิญญาณ นั้นแม้จะแปลว่า รู้ แต่คำนี้ก็กินความทั้ง "ภาวะรู้" และ "ภาวะของผู้รู้" คือมันก็เป็นปัญหาของภาษาเรา(ไทย)เองเหมือนกันที่ไม่สามารถแสดงรูปของประธานให้อยู่ร่วมกับคำกริยาได้ (หรือต้องพูดว่าเป็นปัญหาของพวกภาษาอินโดยูโรเปี้ยนต่างหาก) คือบางทีท่านก็ใช้คำว่า วิญญาณ ในความหมายของ "การรู้" แต่บางทีก็แสดงตัวของ "ผู้รู้" แต่เมื่อจะพูดถึงเพราะตัวผู้รู้อย่างเดียวนั้นท่านจะใช้ "มนัส" บ้าง "จิต" บ้าง เป็นต้น (อาจจะมีคำอื่นก็ได้ ตรงนี้ไม่ขอยืนยัน)
ซึ่งในภาษาของเรา เราใช้คำว่า "ใจ" (คำแปลที่ง่ายที่สุด เป็นภาษาไทย(แท้ๆ)ที่สุดของคำว่า "วิญญาณ" คงเป็น "เข้าใจ"))
เอาล่ะกลับมาที่ปัญหาของเรา หากถามว่า เมื่อมาสู่ลำดับสัญญาแล้ว สภาวะธรรมอย่างอื่น (เวทนา สังขาร วิญญาณ) จะไม่ตั้งอยู่ ได้หรือไม่ คำตอบก็คือได้ หากเราแยกพิจารณา แต่ปัญหาคือเรามักจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากเราเพ่งที่สภาวะธรรมใดสภาวะธรรมหนึ่ง ทุกอย่างที่เรารู้ก็จะเป็น "วิญญาณ" ไปทั้งหมด
แต่ที่ว่ามานั้นเป็นกระบวนการจากข้างนอกเข้ามาข้างใน (อันที่จริงควรจะอธิบายให้ละเอียดกว่านี้ แต่เหนื่อยแล้ว) ทีนี้ มาดู นัยของคำถามที่สอง คือ เมื่อไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างอื่นๆ จะมีหรือไม่มีด้วยได้หรือไม่?(ผมยังจับประเด็นคำถามของคุณอยู่ได้หรือเปล่านะ เหมือนผมจะลืมใจความมันไปแล้ว เฮ้อ เจ้าสัญญาของผม มันมักเลอะเลือนอย่างงี้ล่ะ)
คือหากเราแยกเป็นสภาวะธรรม ไม่ได้พิจารณามันในรูปของกระบวนการ คำตอบ(แบบที่ผมเข้าใจ) จะเป็นแบบนี้ ขอเพียงมี "จิต(วิญญาณ)" สภาวะธรรมอย่างอื่น จะมี(ปรากฏขึ้นในจิต)ก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ คือ เวทนา สัญญา สังขาร จะเกิดขึ้นกับจิตก็ได้หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้
แต่หากไม่มีจิต(วิญญาณ) สภาวะธรรมอย่างอื่นเหล่านั้น ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้น(ปรากฏขึ้นกับจิตของผู้รู้)ได้
จิตเปรียบเหมือนกระดาษ รูปธรรมทั้งหลายมีมหาภูตรูป 4 เป็นที่ตั้งเหมือนดินสอ นามธรรมทั้งหลายเปรียบเหมือน รูปร่าง/ข้อความใดๆ ที่ถูกวาดถูกเขียนลงบนกระดาษ หากปราศจากดินสอ ก็ไม่อาจเขียนได้ เมื่อเขียนแล้ว ดินสอหายไป สิ่งที่เขียนแล้วก็ยังปรากฏอยู่บนกระดาษได้ หากมีแค่กระดาษเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าสิ่งใดๆ ย่อมไม่ถูกเขียนลงบนกระดาษ หากไม่มีทั้งกระดาษและดินสอ สิ่งใดๆ ย่อมไม่อาจเขียนให้ปรากฏออกมา ต่อเมื่อสามสิ่งนี้บรรจบกันดีแล้ว รูปร่างข้อความทั้งหลายจึงเกิดขึ้น
ไม่รู้ว่าผมตอบคำถามของคุณได้ครบทุกประเด็นหรือเปล่า วุ่นเหลือเกิน ไม่ใช่แค่สิ่งภายนอกหรอก ใจผมนี่แหละ
โฆษณา