6 ส.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

“Charles Frederick Worth” ชายผู้ก่อตั้งโอตกูตูร์ ดีไซเนอร์คู่บุญของราชวงศ์ยุโรป

โอตกูตูร์ เป็นศัพท์นิยามทางแฟชั่นที่ใช้เรียกแฟชั่นชั้นสูงตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา โดยมีต้นกำเนิดอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
โดยเสื้อผ้าเหล่านี้ล้วนแต่เป็นงานฝีมือที่ถูกทำและเย็บด้วยเข็มและมืออย่างประณีตบรรจงที่สุด โดยสำหรับต้นกำเนิดของโอตกูตูร์แห่งฝรั่งเศสนั้น
ล้วนแต่เกิดขึ้นจากผู้ชายชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ผู้ได้แรงบันดาลใจในการก้าวมาเป็นผู้นำแฟชั่นของโลกจากการเดินเล่นในหอศิลป์
ในโอกาสเดือนแห่งวันแม่นี้ Bnomics จึงจะมาในธีมของดีไซน์เนอร์ประจำตัวของเหล่าแม่ ๆ ในราชสำนักต่าง ๆ โดยในวันนี้จะนำเสนอเรื่องราวของ ชาร์ล เฟรเดอริก เวิร์ธ (Charles Frederick Worth)
แฟชั่นดีไซน์เนอร์คู่บุญของเหล่าแม่ ๆ ในราชวงศ์ต่าง ๆ ของยุโรป ผู้ผลักดันให้ปารีสก้าวขึ้นมาเป็นเมืองแห่งแฟชั่นมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน
📌 จากเด็กโรงพิมพ์สู่หัวกะทิด้านแฟชั่น
ชาร์ล เฟรเดอริก เวิร์ธ เกิดเมื่อเดือนตุลาคมปี 1825 โดยเกิดในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางก่อนที่บิดาของเขาจะหย่าขาดออกไปซึ่งส่งผลให้สถานะการเงินของครอบครัวเวิร์ธติดลบในวัย 11 ปี และต้องออกมาทำงานในโรงพิมพ์ ก่อนที่จะย้ายเข้ามาในกรุงลอนดอนและทำงานในร้านขายเสื้อผ้าสองแห่งทั้ง Swan&Edgar และ Lewis&Allenby
เวิร์ธได้เรียนรู้ธุรกิจและกรรมวิธีการทำเสื้อผ้าในระหว่างการทำงานในห้างร้านทั้งสองแห่ง อยู่มาวันหนึ่งในขณะที่เวิร์ธได้มีโอกาสไปเดินดูหอศิลป์แห่งชาติลอนดอน เขาก็มีท่าทีสนใจในความงามของภาพเหมือนบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งความหรูหราของเครื่องแต่งกายเหล่านั้นก็ได้ทำให้เวิร์ธหลงใหลจนเก็บเอาไปวาดเล่น โดยเวิร์ธได้มองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการปลุกชีพแฟชั่นในประวัติศาสตร์ให้กลับมาโลดแล่นในวงการแฟชั่นสมัยใหม่ได้
📌 บิดาแห่งโอตกูตูร์
ในปี 1845 เวิร์ธในวัย 20 ปีก็ได้เดินทางออกจากกรุงลอนดอนมาลงหลักปักฐานอยู่ที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศสเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิต โดยเขาได้เข้าทำงานในบริษัทสิ่งทอชั้นนำในขณะนั้นอย่าง Gagelin ในตำแหน่งพนักงานขาย
โดยเขาได้ทำงานอย่างเยี่ยมยอดจนได้เลื่อนตำแหน่งใหญ่โตมาเป็นผู้กำกับส่วนงานตัดเย็บ ซึ่งงานในแผนกนี้เองได้ทำให้เขาเริ่มที่จะรังสรรค์ผลงานตามที่เขาเคยวาดฝันเอาไว้เมื่อยังเยาว์วัย
ผลงานของเวิร์ธเป็นที่รู้จักในวงกว้างของสังคม โดยงานของเขาได้จัดแสดงในลอนดอนปี 1851 ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงแก่แบรนด์ Gagelin ให้โด่งดังในระดับสากลด้วย ชื่อเสียงของเวิร์ธก็เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางขึ้นจนสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองได้ และเป็นที่มาของโอตกูตูร์แรกของโลกในปี 1858 โดยใช้นามสกุลของเขาเป็นชื่อของโอตกูตูร์
เวิร์ธได้กลายมาเป็นผู้นำด้านแฟชั่นในชั่วขณะนั้น ด้วยรูปลักษณ์ของงานที่ไม่เหมือนช่างออกแบบคนไหนเลย ในขณะเดียวกัน ภรรยาของเขาคือ มารี เวอร์เน่ต์ ก็ได้กลายมาเป็นนางแบบสำหรับเสื้อผ้าของเขา และสวมใส่ชุดสุดหรูหราที่ตัดเย็บและออกแบบโดยสามีของเธอ เดินอวดโฉมไปทั่วกรุงปารีส และได้กลายมาเป็นนางแบบอาชีพคนแรกของโลกด้วย
การปฏิวัติวงการแฟชั่นของเวิร์ธไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้นเมื่อเขาได้ออกแบบองค์ประกอบชุดให้แตกต่างกันออกไปในแต่ฤดูกาล และกลายมาเป็นเทรนด์ว่าในฤดูนี้ ต้องมีเครื่องประดับชิ้นนี้ ทำให้เวิร์ธมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงแฟชั่นของผู้คนในสังคม ผลงานของเขาเป็นที่นิยมทั่วยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนชั้นสูง ซึ่งได้มีบทบาทในการยกระดับแฟชั่นของเขาไปอีก
📌“ปารีส” มหานครแห่งแฟชั่น
ผลงานของเวิร์ธเข้าสู่จุดสูงสุดในชีวิตเมื่อจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสในขณะนั้นอย่างนโปเลียนที่ 3 มีพระประสงค์ให้ปารีสเป็นศูนย์กลางของความมั่งคั่งในยุโรป โดยความมั่งคั่งด้านแฟชั่นในปารีสที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเวิร์ธก็ได้เป็นที่รู้จักไปทั่ว
ในวันหนึ่งชุดของเขาที่ตัดให้กับเคาน์เตสพอลลีน ฟอน เมทเธอนีช ก็ได้ไปสะดุดสายพระเนตรของสมเด็จพระจักรพรรดินีเออเฌนี มอนติโค ผู้ซึ่งสนพระทัยและสั่งตัดชุดจากเวิร์ธ ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นผู้นำเทรนด์ในหมู่พระราชวงศ์ทั้งหลายด้วย โดยเวิร์ธได้รับความกรุณาจากจักรพรรดินีเออเฌนีเข้ามาเป็นช่างตัดชุดประจำราชวงศ์
📌 โอตกูตูร์ โกอินเตอร์
ความปังของเวิร์ธก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น จักรพรรดินีเออเฌนีผู้ซึ่งเป็นหน้าเป็นตาของประเทศใส่ชุดของเขา แน่นอนว่าทั้งยุโรปก็จับจ้องมายังเขาเช่นเดียวกัน ชื่อเสียงของเขาได้โด่งดังไปต้องพระเนตรพระกรรณของ “ซิซีแห่งวิตเตลส์บาค” หรือสมเด็จพระจักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งออสเตรีย - สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการี และลอมบาร์เดีย-เวนิช ผู้ที่ได้ชื่อว่าทรงพระสิริโฉมที่สุดในประวัติศาสตร์
เวิร์ธได้รับหน้าที่ในการออกแบบชุดที่ได้มาเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของเขา อย่าง Robe aux Étoiles หรือ อาภรณ์แห่งดวงดารา ในปี 1864 ซึ่งจักรพรรดินีซิซี่ก็ได้ใส่ชุดนั้นไปในงานเลี้ยง
โดยภาพของพระองค์ในชุดอาภรณ์แห่งดวงดาราก็ได้ถูกวาดไว้โดยศิลปินภาพเหมือนชื่อดังอย่างฟรันซ์ วินเทอร์ฮัลเทอร์ นอกจากนี้เขายังออกแบบฉลองพระองค์สำหรับวันที่จักรพรรดินีได้รับการสถาปนาเป็นราชินีแห่งฮังการีด้วย
นอกจากในยุโรปแล้ว ชุดของเขาก็ยังถูกนำไปขายที่อเมริกาโดยร้านแคเธอลีน โดโนแวน รวมไปถึงในบางครั้งก็มีลูกค้าจากอเมริกาเดินทางมาหาเขาที่ฝรั่งเศสเลยก็มี ลูกค้าของเขามีตั้งแต่ชนชั้นกลาง, ชนชั้นสูง, พระราชวงศ์ ไปจนถึงนักแสดงเช่นซาราห์ เบิร์นฮาร์ธ ไปจนถึงเจ้าของฉายานกไนติงเกลสวีดิชอย่างเจนนี่ ลินซ์
📌 จุดสิ้นสุดของโอตกูตูร์เจ้าแรกของโลก
แบรนด์ของเวิร์ธอยู่มาได้ด้วยเศรษฐกิจและราชวงศ์ฝรั่งเศสเป็นหลัก จนกระทั่งการสิ้นสุดของระบอบนโปเลียนในปี 1870 เนื่องจากสงครามฝรั่งเศสปรัสเซีย แบรนด์ของเวิร์ธก็มาสู่จุดสิ้นสุดไปพร้อม ๆ กับจักรวรรดิ เขาต้องปิดกิจการในช่วงสงคราม รวมไปถึงเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามในช่วงการปิดล้อมกรุงปารีสด้วย การสงครามทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจตามมา
ในช่วงสุดท้ายถึงแม้ว่าการเงินจะไม่ได้วิกฤตมากนักเพราะได้การช่วยเหลือจากลูกชายทั้งสองคน ธุรกิจก็ค่อย ๆ กลับมาทำการอย่างอ่อนแรงพร้อม ๆ กับปัญหาสุขภาพของเวิร์ธเองที่เริ่มมากขึ้นเช่นอาการไมเกรนที่เกิดจากภาวะเครียดเมื่อครั้งสงคราม
ชาร์ล เฟรเดอริก เวิร์ธ เสียชีวิตลงในวัย 70 ปีด้วยภาวะปอดบวม แต่ถึงตัวจะจากไปแต่เรื่องราวและผลงานของเขาในนามของโอตกูตูร์ก็ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน
พร้อมกันกับการที่เป็นแรงบันดาลใจอันเยี่ยมยอดให้กับแฟชั่นดีไซน์เนอร์ที่พยายามไขว่คว้าความสำเร็จ เรื่องราวที่พลิกผันของเด็กชายที่เคยทำงานในโรงพิมพ์และไต่เต้าคว้าโอกาสจนได้มาเป็นอีกหนึ่งแฟชั่นดีไซเนอร์คนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ เรื่องราวของเวิร์ธยังคงปรากฏและถูกกล่าวถึงในโลกของประวัติศาสตร์แฟชั่นตราบจนทุกวันนี้
References :
โฆษณา