6 ส.ค. 2023 เวลา 03:00 • อาหาร

ขนมดอกจอก ที่ความเป็นมาไม่กระจอกเหมือนชื่อ

ขนมดอกจอกในปัจจุบัน อาจเป็นขนมราคาย่อมเยาที่หาได้ยากในกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขนมดอกจอกมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมตั้งแต่มาเลเซียไปจนถึงนอร์เวย์
ขนมดอกจอกเป็นขนมท้องถิ่นทางภาคใต้ มีลักษณะคล้ายจอกแหน ทำจากแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน กะทิ และงาดำ นำแม่พิมพ์ชุบแป้งแล้วนำไปทอด นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลสารทเดือนสิบ
ขนมดอกจอก ภาพจากห้องสมุดประชาชนจังหวัดสตูล
ขนมดอกจอกนี้ สันนิษฐานว่า มีที่มาจากขนมอัศศุ มุรุกุ (Achu Murukku) เป็นขนมของชาวเปอรานากันที่ได้รับจากอินเดียตอนใต้และศรีลังกา โดยคำว่า อัศศุ หมายถึง แม่พิมพ์ ส่วน มุรุกุ หมายถึง บิดหรือขดเป็นเกลียว โดยขนมชนิดนี้รับประทานในช่วงเทศกาลดิวาลี ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกับเทศกาลสารทเดือนสิบ
Achu Murukku จาก https://biteskart.com/achu-murukku/
ขนมอัศศุ มุรุกุ หรือ อาชัปปัม (Achappam - ขนมแม่พิมพ์) ในภาษามาลายาลัม นั้นที่มีมาจากชาวดัตช์ที่เข้ามาปกครองอินเดียและศรีลังกาในช่วงศตวรรษที่ 17-19 โดยนำขนม Rosette หรือ Rose Cookies (คุกกี้กุหลาบ) ซึ่งเป็นคุกกี้ประเภทหนึ่งทำจากแป้งสาลี นม และไข่ นำไปชุบในแม่พิมพ์และทอด โรยน้ำตาลไอซิ่ง นิยมรับประทานในเทศกาลคริสต์มาส :ซึ่งความเชื่อเรื่องรับประทานคุกกี้ได้แพร่ขยายไปจนถึงชาวคริสต์ซีเรีย ที่เป็นชาวคริสต์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในประเทศอินเดียอีกด้วย
Rose Cookies จาก https://nishkitchen.com/indian-rose-cookies-achappam-video/
ความเชื่อเรื่องรับประทานคุกกี้กุหลาบในช่วงเทศกาลคริสต์มาสไม่ได้มีแค่ในอินเดียหรือเนเธอร์แลนด์ ในประเทศอิหร่านมีขนมที่เรียกว่า Nan Panjereh (ขนมหน้าต่าง) ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากแป้งสาลี ไข่ และน้ำกุหลาบ ผสมแล้วนำไปชุบแม่พิมพ์แล้วทอด นิยมรับประทานในเทศกาลนวรุซ (Nawaruz) หรือเทศกาลปีใหม่ของชาวอิหร่าน ซึ่งจัดในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี
Nan Panjereh
ในประเทศนอร์เวย์และสวีเดน นิยมรับประทานคุกกี้กุหลาบในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเช่นกัน แต่ดัดแปลงแม่พิมพ์เป็นรูปเกล็ดหิมะ, กระต่าย, ระฆัง, ต้นคริสต์มาส, ซานตาคลอส เรียกกันว่า Rosetbakkelser
Rosetbakkelser
จากขนมดอกจอกที่ดูราคาย่อมเยา เมื่อสืบประวัติความเป็นมาแล้ว เราจะเห็นได้ว่า เป็นขนมที่มีความเชื่อมโยงวัฒนธรรมข้ามทวีปและนิยมรับประทานในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน
โฆษณา