11 ส.ค. 2023 เวลา 23:58 • ดนตรี เพลง

1913 Massacre คืนสังหาร

‘ขณะที่ผู้คนกว่าห้าร้อยคนกำลังเฉลิมฉลอง ในค่ำคืนของคริสต์มาสอีฟ ทุกสิ่งทุกอย่างกลับกลายเป็นฝันร้ายที่พรากชีวิตผู้คนไป 73 คน’
บทเพลง ‘1913 Massacre’ ของ ‘วู้ดดี้ กูทรี’ (Woody Guthrie) ศิลปินโฟล์คดั้งเดิมชาวอเมริกัน วางจำหน่ายในปี 1945 เล่าเรื่องราวโศกนาฎกรรมในคืนคริสต์มาสอีฟของปี 1913 เหตุจากความขัดแย้งของแรงงานกับเจ้าของเหมืองทองแดง
บริเวณคาบสมุทรคีวีนอว์ (Keweenaw) ทางตอนเหนือของรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ภูมิภาคนี้เป็นแหล่งแร่ทองแดงขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ โดยมีเหมืองแร่ทองแดงสามแห่ง คือ เหมือง Calumet and Hecla Mining Company (C&H) ผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ที่สุด, เหมือง Quincy และเหมือง Copper Range โดยดินแดนแห่งนี้ถูกขนานนามว่า ‘Copper Country’
ช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ‘Copper Country’ แห่งมิชิแกนเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมทองแดง การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการทำเหมืองทำให้คนงานต้องทำงานหนักภายใต้สภาวะที่อันตรายบ่อยครั้ง คนงานต้องเผชิญกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ค่าจ้างต่ำ และสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงภัย
ปี 1908 ได้มีการจัดตั้ง Western Federation of Miners (WFM) สหภาพแรงงานเหมืองทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหภาพแรงงานได้พยายามจัดระเบียบการทำงานของแรงงานให้เป็นระบบ มีการเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม และคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ จนเกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าของเหมืองขึ้นบ่อยครั้ง
ฤดูร้อนปี 1913 ความตึงเครียดถึงจุดเดือด คนงานเหมืองทองแดงเกือบ 9,000 คน ได้นัดหยุดงานประท้วง เนื่องจากเจ้าของเหมืองปฎิเสธการเจรจาข้อเรียกร้องของแรงงานที่ต้องการทำงานวันละไม่เกินแปดชั่วโมง การปรับเพิ่มค่าแรงเป็น 3 ดอลล่าร์ต่อวัน และการปรับปรุงความปลอดภัยในการทำงาน สหภาพแรงงานจึงมีมติให้หยุดงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 1913 เป็นต้นไป
เจ้าของเหมืองเองก็ตอบโต้การประท้วง ทั้งการใช้กำลังข่มขู่ ทั้งการว่าจ้างแรงงานเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่เป็นผล แรงงานยังคงยึดถือประโยขน์ส่วนใหญ่เป็นหลัก ไม่เพียงเท่านั้น ยังสร้างชุมชนเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระหว่างการหยุดงานประท้วงที่ยืดเยื้อ
24 ธันวาคม 1913 ย่างเข้าสู่ช่วงคริสต์มาส เทศกาลแห่งความสุขที่ทุกคนรอคอย องค์กรสตรีของสหภาพแรงงาน WFM ได้จัดงานปาร์ตี้ขึ้นในค่ำคืนคริสต์มาสอีฟ โดยความร่วมมือจากชุมชน ทั้งของขวัญสำหรับเด็กๆ อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งงานเลี้ยงคริสต์มาสถูกจัดขึ้นที่ชั้นสองของ Calumet's Italian Hall เมืองคาลูแมต รัฐมิชิแกน โดยมีแรงงานและครอบครัวเข้าร่วมงานกว่าห้าร้อยคน
ในค่ำคืนแห่งความสุข ขณะที่ทุกคนกำลังสนุกสนาน กลับต้องกลายเป็นฝันร้ายในฉับพลัน เมื่อชายคนหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร วิ่งเข้ามาภายในห้องจัดงานเลี้ยง พร้อมทั้งตะโกนโหวกเหวกว่า
“! ! ! ไฟไหม้ ! ! !”
เสียงกรีดร้องโวยวายของคำว่า ‘ไฟไหม้’ ก็ถูกส่งต่อไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนกว่าห้าร้อยคนพากันแตกตื่น ต่างพยายามไปที่ทางออกให้เร็วที่สุด
ห้องจัดงานอยู่บนชั้นสองของอาคาร ทำให้ผู้คนต่างเบียดเสียดยัดเยียดบริเวณบันได และประตูทางออกก็เปิดไม่ได้ หลายคนล้มลง หลายคนถูกเหยียบ หลายคนถูกเบียดติดกำแพง
เมื่อเหตุการณ์สงบ พบผู้เสียชีวิตจำนวนทั้งสิ้น 73 คน ในจำนวนนั้นเป็นเด็กถึง 59 คน
'และไม่มีเหตุไฟไหม้'
ในวันที่ 7 มีนาคม 1914 คณะอนุกรรมการของสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาได้เดินทางมาตรวจสอบการหยุดงานประท้วง และรับคำให้การจากพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยมีพยาน 8 คนให้การว่า ชายคนแรกที่ตะโกนว่า ‘ไฟไหม้’ มีคำว่า ‘Citizens' Alliance’ อยู่บนเสื้อ ซึ่งเป็นชื่อของกลุ่มต่อต้านสหภาพแรงงานและการนัดหยุดงาน
นอกจากนี้มีการสันนิษฐานกันไปว่า เป็นการกระทำของเจ้าของเหมือง และในวันเกิดเหตุสาเหตุที่ประตูเปิดไม่ได้ก็เพราะมีการล็อคจากด้านนอก
แต่ท้ายที่สุดผลการตัดสิน ‘ไม่สามารถหาผู้กระทำความผิดได้’
ผลพวงจากโศกนาฎกรรมในครั้งนี้ สร้างความสนใจจากประชาชน และภาครัฐ กระตุ้นให้ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ส่งผู้ไกล่เกลี่ยของรัฐบาลกลางไปยัง ‘Copper Country’ เพื่อพยายามเจรจาหาข้อยุติ หลังจากการต่อสู้ของแรงงานผ่านมากว่าหนึ่งปีการนัดหยุดงานก็สิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 1914
การหยุดงานประท้วงในครั้งนี้ถูกเรียกว่า ‘Copper Country Strike’ ซึ่งเป็นการหยุดงานประท้วงเป็นครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา อันเป็นการสร้างความตระหนักของแรงงานสัมพันธ์ในสหรัฐ นำไปสู่การปฏิรูประบบแรงงานในเวลาต่อมา
วู้ดดี้ กูทรี (Woody Guthrie)
วู้ดดี้ กูทรี (Woody Guthrie) นักร้อง นักดนตรี นักคิด นักเขียน กวี นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวอเมริกัน และได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของวงการดนตรีโฟล์ค (Folk Music)
วู้ดดี้ กูทรี มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 1912 – 1967 ตลอดชีวิตได้สร้างผลงานไว้มากมาย เขาใช้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการวิจารณ์สังคมและการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน ความอยุติธรรมทางสังคม ความยากจน รวมทั้งการเมือง ผลงานของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้นักดนตรีโฟล์ครุ่นต่อรุ่น รวมถึง Bob Dylan, Pete Seeger และ Joan Baez
สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมาจาก...ความโลภ
Woody Guthrie
โฆษณา