แพ้ ไม่แพ้ ไม่ชนะ ชนะ ทำทีละขั้นยังไงก็ชนะ

เราทุกคนอยากจะเป็นคนชนะ ถึงขั้นมีคำเคยกล่าวไว้ว่า "ผู้ชนะคือผู้ที่เขียนประวัติศาสตร์" ไม่มีใครอยากเป็นคนที่ต้องพ่ายแพ้ หรือถูกตราหน้าว่าเป็นไอ้ขี้แพ้ เราจึงพยายามที่จะไขว่คว้าหาความสำเร็จ ชื่อเสียง เงินทอง หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เรารู้สึกว่าชนะ เพราะการไขว่คว้าสิ่งเหล่านี้ ทำให้เราหลายคนต้องเหน็ดเหนื่อย หมดพลังไปกับการไขว่คว้าความสำเร็จ
บางคนถึงขั้นมีนิสัยที่ต้องชนะในทุกๆเรื่อง เราเสียเปรียบไม่เป็น จะต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้เท่านั้น แต่สุดท้ายคนเหล่านี้ก็ต้องมีวันที่ความสำเร็จนั้นถล่มลงมา ส่วนตัวผู้เขียนบางครั้งก็มองว่าการแข่งขันเพื่อเป็นที่หนึ่งในมุมหนึ่งก็มีไว้เพื่อแค่ความสนุกสนาน เป็นเรื่องราวเพื่อความตื่นเต้น หรือเป็นเรื่องราวที่ไว้สำหรับการจดจำและเรียนรู้
แต่สำหรับเรื่องของสงคราม การทำธุรกิจ หรือสิ่งสำคัญใดๆก็ตามในชีวิตที่เกี่ยวพันกับความอยู่รอดของชีวิตเรา ซุนวูไม่ได้เน้นให้เราต้องเป็นผู้ชนะ หากแต่พูดถึงการดำรงอยู่หรือดับไปจากการตัดสินใจจะทำ ไม่ทำเรื่องใดเป็นหลัก หากจะจำเป็นต้องตัดสินใจเรื่องใดจุดสำคัญคือตัดสินใจแล้วเรื่องนั้นควรจะจบปัญหาในครั้งเดียว ไม่ใช่สร้างเงื่อนไขของปัญหาขึ้นมาอีก
ซุนวูกล่าวว่า ผู้ชาญศึกแต่โบราณ จะทำตนเองไม่ถูกพิชิตก่อน เพื่อรอข้าศึกเราเอาชนะได้ ไม่ถูกพิชิตขึ้นอยู่กับเรา เอาชนะได้ขึ้นอยู่กับข้าศึก ดังนั้นผู้ชาญศึกจึงสามารถทำให้ตนเองไม่ถูกพิชิต ไม่สามารถทำให้ข้าศึกถูกพิชิตแน่ จึงกล่าวว่าชัยชนะหยั่งรู้ได้แต่กำหนดเองไม่ได้
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บทรูปแบบการรบ
ผู้ที่ชำนาญการรบ จะทำให้ตัวเองไม่ถูกเอาชนะได้ก่อน แพ้หรือไม่แพ้จึงขึ้นอยู่กับเรา จะเอาชนะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับอีกฝ่าย เราจะสามารถชนะได้ไหมขึ้นอยู่กับอีกฝ่ายเปิดโอกาสนั้นหรือเปล่า แพ้หรือชนะมันก็พอที่จะคาดเดาได้ แต่เราต้องดูเงื่อนไขด้วยว่าครบไหมที่จะเอาชนะ
ผู้เขียนนึกถึงประโยคของหนังเรื่องหนึ่งชื่อว่า ร็อคกี้ ราชากำปั้น...ทุบสังเวียน (อังกฤษ: Rocky Balboa) ในฉากที่พระเอกพูดกับลูกชายของตัวเองว่า
ไม่มีใครหรอกที่ชกได้หนักเท่าชีวิต ไม่เกี่ยวว่าแกหมัดหนักแค่ไหน แกรับหมัดหนักได้แค่ไหนต่างหากเล่า และลุยต่อไปข้างหน้า ชัยชนะต้องแบบนั้นล่ะ
ร็อคกี้ ราชากำปั้น...ทุบสังเวียน (อังกฤษ: Rocky Balboa)
การรับมันหนักได้แค่ไหน เป็นเรื่องเดียวกันกับการที่ทำให้ตัวเองไม่แพ้
และการลุยไปข้างหน้า ก็คือการมองหาโอกาสที่จะเอาชนะ
ขอเพียงหมัดเดียวที่แรงพอที่จะคว่ำอีกฝ่าย นี่แหละชัยชนะ
ทำให้ตนเองไม่แพ้เป็นเรื่องภายใน คว้าโอกาสและเป็นการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์
ชัยชนะก็ฟังดูง่ายแบบนี้นี่แหละ แต่ทุกความสำเร็จล้วนมาจากการสั่งสมเป็นเดือนเป็นปี ไม่ใช่เรื่องปุบปับที่คิดขึ้นมา คนที่ประสบความสำเร็จล้วนทำงานพื้นฐานให้ดีที่สุด หัวใจของพิชัยสงคราม ซุนวู คือชนะก่อนจึงออกรบ ในประโยคนี้มีอยู่สองประเด็น "ชนะก่อน" และ "ออกรบ" ต้องพิจารณาตามลำดับ "ชนะต้องมาก่อน" ทำตัวให้ไม่แพ้ถึงพอจะลุ้นที่จะชนะได้ ถ้าแพ้ทุกอย่างก็จบนี่คืองานพื้นฐาน
แต่ปัญหาของคนทั่วไปมักจดจ่อกับที่ "ออกรบ" จึงมักคิดหาวิธีพิสดาร วิธีการเจ๋งๆ หรือวิธีการที่คิดว่าดูแล้วฉลาดดี ดังนั้นจึงมักออกรบก่อน ทั้งที่ยังไม่มีโอกาสจะชนะ จึงทำให้ยากที่จะชนะได้ เพราะต้องเหนื่อยทั้งประคองให้ตัวเองไม่แพ้ และก็ต้องพยายามมองหาโอกาสคว้าชัยชนะไปในเวลาเดียวกันเป็นการกระทำที่ไม่ประหยัดพลังงานเอาเสียเลย
ชัยชนะไม่มีทางลัด ทุกอย่างเริ่มจากพื้นฐาน ระหว่างทางอาจมีเทคนิคบ้างเพื่อเร่งให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จได้เร็วขึ้น แต่ต้องไม่หลงไปว่าเทคนิคเป็นทุกอย่างของแผนการระยะยาว แต่โดยส่วนใหญ่คือพื้นฐานของเรื่องที่คุณกำลังจะทำคือสิ่งที่พาคุณไปสู่จุดสำเร็จมากกว่า
โฆษณา