16 ส.ค. 2023 เวลา 11:00 • หนังสือ
เมลเบิร์น

แนะนำหนังสือ A Man Called Ove

“โลกของเขาเป็นสีขาวดำ
แต่เธอคือสีสัน เป็นสีสันทั้งหมดที่เขามี”
ถ้าใครดู Netflix ในช่วงที่ผ่านมาคงจะเห็นหนังเรื่อง A Man Called Otto ที่ทอม แฮงส์ เล่นบ้าง เป็นละครที่หลาย ๆ คนดูแล้วบอกว่าอบอุ่น ส่วนตัวเราก็เห็นด้วย คิดว่าหนังก็ทำออกมาได้น่ารักดี แม้จะเปลี่ยนบริบทเป็นอเมริกันและชื่อตัวละคร จากเดิมในหนังสือที่เป็นสวีดิช วันนี้เลยอยากมาแนะนำเวอร์ชันหนังสือ ซึ่งก็คือ A Man Called Otto
หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของโอเว่ ชายวัยเกษียณคนหนึ่งที่ขับรถยี่ห้อเดียวมาตลอดชีวิต ทำงานเดียวมาตลอดชีวิต และรักผู้หญิงคนเดียวมาตลอดชีวิต กับเรื่องราววุ่น ๆ ของเขาและเพื่อนข้างบ้านที่พออ่านแล้วก็อดยิ้มตามไม่ได้
อย่างแรกที่ชอบในหนังสือคือเรื่อง “ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว” และ “Empathy”
โอเว่เป็นคนที่หลาย ๆ คนจะมองว่าเป็น “มนุษย์ลุง” เพราะเป็นคนที่ยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาก ๆ และเป็นคนที่เถรตรงมาก ๆ
เขามองว่ากฎก็คือกฎทุกคนต้องทำตาม ในหนังสือเราจะเห็นได้จากชีวิตประจำวันของโอเว่ในทุก ๆ เช้าที่จะเดินตรวจบริเวณหมู่บ้านของเขาว่ามีรถแปลกหน้าแอบมาจอดหรือเปล่า มีรถที่ไม่มีใบอนุญาตเข้ามาในหมู่บ้านมั้ย เพื่อนบ้านแยกขยะถูกมั้ย และจักรยานจอดในที่ให้จอดหรือเปล่า
และถ้าหากมีคนทำผิดกฎหรือตรงข้ามกับความเชื่อของโอเว่ มนุษย์ลุงคนนี้จะพร้อมบวก พร้อมชี้ให้เห็น (และชี้หน้า) บอกว่าอีกฝ่ายผิดยังไงเสมอ
พอพูดว่าเป็นเรื่องราวของมนุษย์ลุง หลายคนอาจคิดว่าอ่านแล้วหงุดหงิดแน่ ๆ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่แบบที่คิด เพราะยิ่งอ่านยิ่งเข้าใจว่าทำไมคนคนหนึ่งถึงเป็นแบบนี้
ซึ่งเราว่ามันเป็นการเตือนเราเหมือนกันว่าในชีวิตเราจะเจอคนหลายรูปแบบ เราอาจจะเจอคนที่เราไม่เข้าใจเลย แต่อย่าลืมมี empathy ต่อกันและกัน เพราะเราไม่รู้ว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง (เราว่า Fredrik Backman คนเขียนพยายามตอกย้ำเรื่องนี้บ่อย ๆ ในหนังสือของเขาหลาย ๆ เล่มเลย)
และที่สำคัญหนังสือมันย้ำเตือนเสมอว่า “เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว” แม้การเอาตัวรอดเองได้และไม่พึ่งพาใครมันรู้สึกปลอดภัยกว่าสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่การเดินทางของโอเว่สอนว่า การเปิดใจพึ่งคนอื่นบ้าง ยอม ให้คนอื่นพึ่งบ้าง มันอุ่นใจและมีความสุขกว่าเยอะ
(ถึงตรงนี้แล้วก็นึกถึง Ted Talk เรื่องความเปราะบาง (Vulnerability) ของ Brene Brown ที่บอกว่า เราจะมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและมีความหมายได้ ต้องเริ่มจากการกล้าที่จะเปราะบางให้คนอื่นเห็นเสียก่อน)
อีกอย่างที่ชอบในหนังสือคือเรื่อง “ความรัก” แบบ Old School
ในยุคปัจจุบันที่การหาคนคุยง่ายแค่ปัดซ้ายปัดขวา เราตระหนักว่าเรามีตัวเลือกเยอะ ผลที่ตามมาคือเราไม่ค่อยพอใจกับตัวเลือกที่มี คิดบ่อย ๆ ว่ามันต้องมีคนที่ดีกว่านี้ และอาจจะทำให้หลาย ๆ คนเลยไม่ค่อยพยายามกับความสัมพันธ์เท่าไหร่ เจอเรื่องที่เป็นปัญหานิดหน่อยก็ปล่อยมือ เพราะการหาคนใหม่มันง่ายกว่า
เราเลยได้เห็น Serial Daters ที่เดตคนใหม่ไปเรื่อย ๆ พอหมดช่วงโปรโมชันแล้วก็เปลี่ยนใหม่ เพราะช่วงโปรฯ ยังไงก็มีความสุขกว่าเยอะ
แต่โอเว่ไม่ใช่คนแบบนั้น เขาเป็นคนที่เชื่อว่าอะไรเสียก็ต้องซ่อม ไม่ใช่ซื้อใหม่เสียทุกครั้ง
มีท่อนหนึ่งในหนังสือที่อธิบายความคิดของโอเว่ได้ดี เป็นท่อนที่เราชอบมาก
"การจะรักใครสักคนก็เหมือนการย้ายเข้าบ้าน ตอนแรกเราตกหลุมรักทุกสิ่งอันแปลกใหม่ เราสงสัยอยู่ทุกเช้าว่าบ้านนี้เป็นของเราจริงหรือ ราวกับกลัวว่าใครสักคนจะพุ่งพรวดเข้าประตูมาบอกว่า นี่เป็นความผิดพลาดและเราไม่ควรจะได้อยู่ในที่ที่ดีเยี่ยมขนาดนี้
แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีจนผนังเริ่มซีด ไม้เริ่มพังตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้าง เราจะเริ่มรักบ้านหลังนี้ ไม่ใช่เพราะความสมบูรณ์แบบ แต่เป็นเพราะความไม่สมบูรณ์แบบของมันต่างหาก เราจะรู้จักทุกซอกทุกมุม รู้ว่าจะไขกุญแจอย่างไรไม่ให้ลูกกุญแจติดแหง็กในวันที่ข้างนอกหนาวเหน็บ รู้ว่าพื้นตรงไหนจะกระดกเวลาเราเหยียบใส่ หรือรู้ดีว่าจะเปิดประตูตู้เสื้อผ้าอยากไรไม่ให้มันดังเอี๊ยดอ๊าด
สิ่งเหล่านี้คือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านของเรา"
งานของ Fredrik Backman ทำให้เรากลับมาเชื่อใน humanity อีกครั้งตลอด เล่มนี้ก็เช่นกัน อ่านแล้วอมยิ้มทั้งเรื่อง หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง แถมดันเข้าใจมนุษย์ลุงต่างเจเนอเรชันมากขึ้น แม้เล่มนี้ฝีมือการเขียนของ Fredrik อาจจะยังไม่คมเท่า Anxious People และมีหลาย ๆ อย่างที่ไม่ค่อยสมจริง แต่ก็เป็นอีกเล่มที่น่ารักและอยากแนะนำ
(ป.ล. น้องแมวในเล่มน่ารัก + ตัวเอกชื่อโอเว่ แต่ชั้นอ่าน โอฟ มาตลอดทั้งเล่ม)
โฆษณา