17 ส.ค. 2023 เวลา 10:00 • ดนตรี เพลง

Countess Bathory : VENOM

‘เลือดของหญิงสาวบริสุทธิ์ สู่ความงามอันเป็นนิรันดร์’
‘Countess Bathory’ บทเพลงจากอัลบั้ม ‘Black Metal’ ในปี 1982 อัลบั้มสำคัญในประวัติศาสตร์ดนตรีเมทัล ของคณะ ‘VENOM’ วงดนตรีแนวหนักกระโหลกที่เรียกกันว่า ‘Extream Metal’ และจากอัลบั้มนี้เอง คำว่า ‘Black Metal’ ก็ได้ถูกบัญญัติขึ้นมาบนโลกของดนตรี ซึ่งเป็นการใช้เรียกแนวเพลงเมทัลที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความตาย ความลึกลับ และซาตาน
บทเพลง ‘Countess Bathory’ จาก ‘VENOM’ เล่าถึงเรื่องราวของ ‘เคาน์เตสเอลิซาเบธ บาโธรี เดอ เอคเซด’ (Countess Elizabeth Báthory de Ecsed) หญิงสาวผู้สูงศักดิ์ที่ก่อคดีฆาตกรรมสาวบริสุทธิ์ไปกว่า 650 คน จนถูกขนานามว่า ‘The Blood Countess’ และเรื่องราวของเธอยังเป็นแรงบันดาลใจต่อนิยายแวมไพร์ในยุคต่อมา
‘เคาน์เตสเอลิซาเบธ’ เกิดเมื่อปี 1560 ในครอบครัวขุนนางชั้นสูงของฮังการี ในวัยเด็กเธอป่วยด้วยโรคลมบ้าหมู ทำให้เกิดอาการชัก และมีอารมณ์ฉุนเฉียวโมโหง่าย เธอยังซึบซับลัทธิซาตานจากลุงของเธอเอง และความเป็น ‘ซาโดมาโซคิสม์’ (sadomasochism) หรือการใช้ความเจ็บปวดและความรุนแรงเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ จากป้าของเธอ
กระทั่งอายุสิบห้า ‘เคาน์เตสเอลิซาเบธ’ ได้แต่งงานกับ ‘เคาน์เฟเรนซ์ นาดาสดี’ (Count Ferenc Nádasdy) นายทหารแห่งกองทัพฮังการีสมาชิกตระกูลชนชั้นสูงผู้ทรงอิทธิพลของฮังการี
ภายหลังแต่งงาน เอลิซาเบธ ก็เข้ามาเป็นนายหญิงแห่งปราสาท Csejte จากนั้นสามปี เคาน์นาดาสดี ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพฮังการีเพื่อนำทัพเข้าสู่สงครามกับจักวรรดิออตโตมัน เคาน์นาดาสดี เสียชีวิตในปี 1604 ด้วยวัย 48 ปี
ในช่วงระหว่างปี 1600 – 1604 หญิงสาวรวมทั้งเด็กผู้หญิงมากมาย จากหมู่บ้านต่างๆ ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย มีข่าวลือว่า ผู้หญิงเหล่านั้นเข้าไปที่ปราสาทของ เอลิซาเบธ แล้วไม่ออกมาอีกเลย
ตำนานเล่าว่า ในวันหนึ่งขณะที่สาวรับใช้กำลังแปรงผมให้ เอลิซาเบธ บังเอิญสาวใช้ทำผมเธอขาด เอลิซาเบธ เกิดความโกรธเกรี้ยวจึงใช้หลังมือฟาดไปที่ใบหน้าของสาวรับใช้ผู้เคราะห์เต็มแรงจนเลือดไหลติดมือเธอ
และในค่ำคืนนั้น เอลิซเบธ สังเกตว่า บริเวณที่ถูกเลือดสาวรับใช้นั้น ดูนุ่มนวลและอ่อนเยาว์กว่าบริเวณอื่น
ความคิดชั่วร้ายก็บังเกิด เอลิซาเบธ คิดว่า ‘เลือด’ ทำให้ผิวพรรณและร่างกายอ่อนเยาว์ได้ เธอจึงต้องการเลือดสดๆ ของหญิงสาวพรหมจรรย์ แล้วเธอก็เริ่มต้นอาบเลือดหญิงบริสุทธิ์นับแต่บัดนั้น
หญิงแรกรุ่นและเด็กสาว ถูกนำตัวเข้ามาที่ปราสาท พวกเธอถูกขังไว้ในห้องใต้ดิน หญิงเคราะห์ร้ายมากมายถูกทารุณกรรม ทั้งเฆี่ยนตี บ้างถูกเย็บปาก บ้างถูกบังคับให้กินเนื้อตัวเอง บ้างก็ถูกเผา
เมื่อข่าวหญิงชาวบ้านหายตัวไปมากมาย จึงมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จนไม่สามารถหาสาวชาวบ้านเข้ามาสนองความอำมหิตของเคาน์เตสเอลิซาเบธได้ หญิงสาวชนชั้นสูงจึงตกเป็นเหยื่อแทน และการเสียชีวิตของหญิงในตระกูลขุนนางในปี 1609 จึงเป็นที่มาของการสืบสวน
ในที่สุด ปี 1612 ‘เคาน์เตสเอลิซาเบธ บาโธรี’ และสาวรับใช้อีกสี่คน ถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรมผู้หญิง 650 คน และค่ำคืนที่เจ้าหน้าที่บุกเข้าจับกุม ยังพบร่างมนุษย์อยู่บนเตาไฟ บางรายแขนขาขาด และตาบอด และอีกหลายรายอยู่ในสภาพที่เกินกว่าจะบรรยายได้
สุดท้าย หญิงรับใช้ทั้งสี่ถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วน ‘เคาน์เตสเอลิซาเบธ บาโธรี’ บุคคลในฐานันดรสูงศักดิ์ ถูกตัดสินในขังอยู่ในปราสาทของเธอเอง จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1614
ปิดตำนานอำมหิต ‘เคาน์เตสบาโธรี’
โฆษณา