20 ส.ค. 2023 เวลา 18:57 • หนังสือ

ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ THINKING, FAST AND SLOW คิด, เร็วและช้า

ผู้แต่ง: Daniel Kahneman
ผู้แปล: จารุจรรย์ คงมีสุข
สำนักพิมพ์: WeLearn
.
.
หนังสือเล่มหนาขนาดนี้ เนื้อหาต้องยากแน่ ผมคงไม่มีทางอ่านมันได้จบ
เป็นคำกล่าวของผู้เขียนบทความนี้เอง หลังจากได้เห็นหนังสือที่มีความหนา 800 หน้า (แปลไทย) เล่มนี้
แต่ผมคงไม่สามารถเขียนบทความแนะนำหนังสือเล่มนี้ได้ ถ้าผมไม่ได้อ่านมันจบจบนั่นแปลว่าข้อความข้างต้นที่กล่าวมา เกิดจากการที่ผมใช้ ‘ความคิดระบบที่ 1’ ในการตัดสินหนังสือเล่มนี้ว่าต้องอ่านยากแน่
.
และ ‘ความคิดระบบ 2’ นั้น ‘ขี้เกียจ’ และต้องการ'ใช้สมาธิอย่างมาก' ในการ'คิด'และ'วิเคราะห์'สิ่งต่างๆ ที่ระบบ 1 ไม่สามารถทำได้ จึงทำให้ตัดสินไปว่าหนังสือเล่มหนาเตอะนี้ต้องอ่านยาก
.
แต่ไม่ใช่ครับแท้จริงแล้วเป็นเพราะความขี้เกียจคิดของระบบ 2 ที่ทำให้ผมขี้เกียจและไม่อยากอ่านหนังสือเล่มนี้
.
จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมและเป็นการแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับตัวละคร ‘ระบบความคิดแบบที่ 1’ และ ‘ระบบความคิดแบบที่ 2‘ คร่าวๆ ว่าคืออะไร
.
มนุษย์ทุกคน มีสัญชาติญาณเบื้องต้น ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้ามาตั้งแต่กำเนิด เช่น การระวังอันตรายของสิงโตระหว่างการหาอาหาร เราเรียกสิ่งนี้ว่า ระบบความคิดแบบที่ 1 ซึ่งเป็นระบบที่ ’คิดเร็ว’
.
และ ระบบการใช้ความคิดในการวิเคราะห์ว่าพุ่มไม้ที่สั่นไหวอยู่นั้นเป็นสิงโตจริงอย่างที่เราคิดหรือเปล่า หรือว่าเป็นแค่กระต่าย สิ่งนี้เรียกว่า ระบบความคิดแบบที่ 2 เป็นระบบที่ ‘คิดช้า’ เนื่องจากต้องใช้สมาธิและใช้พลังงานในการวิเคราะห์
.
ทั้งสองระบบนี้มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน และมนุษย์เราในปัจจุบันนี้ก็ยังได้รับอิทธิพลต่อระบบความคิดทั้งสองแบบในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมธรรมดาทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือ การตัดสินใจบางอย่างที่มีความสำคัญอย่างมาก และบางครั้งเราก็ตัดสินใจผิดพลาดเนื่องจากระบบความคิดสองแบบนี้
ข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้
.
1.ความเหนื่อยล้าส่งผลต่อ ระบบความคิดแบบที่ 2 เนื่องจากต้องใช้พลังงานและสมาธิเยอะ
ทำให้ระบบนี้ขี้เกียจและส่งผลให้เราใช้ระบบ 1 ในการตัดสินใจแทน และบางครั้งก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่เราตัดสินใจผิดพลาด
.
2.’สิ่งที่คุณเห็นคือทั้งหมดที่สิ่งนั้นเป็น’ หรือ’ปรากฏการณ์หน้ามืดตามัว’เป็นชื่อเรียกของกระบวนการคิดระบบ 1 ที่เราประทับใจหรือสังเกตเห็นในสิ่งนั้น คนนั้น หรือเรื่องราวนั้น ตั้งแต่แรกเห็น ทำให้เราสรุปไปเองว่าเราเข้าใจสิ่งเหล่านั้น คนคนนั้น หรือเรื่องราวนั้นทั้งหมด ทั้งที่เรามีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นน้อยมาก นี่เป็นความผิดพลาดในการคิดของระบบ 1
.
3.การยึดติดต่อตัวเลขหรือมาตฐานข้อกำหนด ทำให้เราประเมินสิ่งต่างๆมากกว่าหรือน้อยกว่า โดยอิงจากตัวเลขหรือมาตรฐานที่เรากำหนดไว้ เช่น การที่เราต้องฟ้องร้องเรียกร้องค่าชดเชยสำหรับการได้รับสินค้าไม่ตรงมาตรฐาน เราอาจค้นหาเหตุการณ์การฟ้องร้องใกล้เคียงที่ชนะแล้วได้รับค่าชดเชย เราจะยึดติดมาตรฐานจากตัวเลขค่าชดเชยที่ได้รับจากการฟ้องร้องที่ชนะดังกล่าว มาใช้ในกรณีฟ้องร้องของเรา ซึ่งกรณีของเราอาจจะได้รับการชดเชยน้อยกว่าที่ควรจะเป็นจริง เนื่องจากเรายึดติดกับมาตรฐาน
.
4.หลายๆสิ่งมักถอยกลับไปยังค่าเฉลี่ยของมันเสมอ การชมเชยนักเรียนหลังจากทำผลงานได้ดี มีแนวโน้มว่าเขาจะทำได้แย่ลงในคราวต่อมา และการลงโทษนักเรียนที่ทำผลงานได้ไม่ดี ก็มีแนวโน้มว่าเขาจะทำได้ดีขึ้นในคราวต่อมา สิ่งนี้คือการถอยกลับไปยังค่าเฉลี่ย
.
5
5.ในบางครั้งเรารู้ตัวว่าโครงการหรืองานที่เราได้ตัดสินใจเริ่มไปแล้วอาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างทั้งใจไว้ แต่เราก็ยังจะดึงดันทำมันต่อทั้งที่รู้ว่างบประมาณและเวลาจะบานปลายกว่าที่คาดเอาไว้ ส่งผลให้สูญเสียมากกว่าที่คาดไว้ สิ่งนี้คือ’เหตุผลวิบัติที่ว่าด้วยต้นทุนจม’ เนื่องจากเราเกลียดการสูญเสียและการพ่ายแพ้ เราจึงยอมที่จะดื้อดึงทำโครงการที่ริเริ่มไปแล้วให้เสร็จ ทั้งที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นแย่กว่าการละทิ้งโครงการนั้นและเริ่มโครงการใหม่แทน
.
6.’วิธีชันสูตรก่อนตาย’ คือการถามตัวเองว่า “ในอนาคตข้างหน้า 1 ปี เราได้ทำตามแผนการที่กำหนดไว้ แต่ผลลัทธ์กลับออกมาพังพินาศ จงทบทวนและบรรยายว่าเกิดอะไรบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา” เพื่อวิเคราะห์และประเมินความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากเราอาจรู้ว่ามีอุปสรรคอะไรบ้างที่เราได้มองข้ามไป ก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องต่างๆ
.
7.’จุดอ้างอิงที่แตกต่างกัน’ ทำให้เราลังเลที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเรา และทำให้อีกฝั่งก็ลังเลที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเขาเหมือนกัน เช่น เราไม่อยากแลกงานที่เราทำอยู่ ซึ่งมีวันหยุดดีแต่เงินน้อย กับงานที่ได้เงินดีแต่วันหยุดแย่
กลับกัน อีกฝ่ายก็ไม่อยากแลกงานที่เขาทำอยู่ซึ่งมี เงินดีแต่วันหยุดแย่ เพื่อแลกกับงานที่วันหยุดดีแต่เงินน้อย เนื่องจากเราอีกอีกฝ่ายใช้จุดอ้างอิงที่แตกต่างกันในการตัดสินใจ
.
8.เราเกลียดชังความสูญเสียมากกว่าการได้รับ เช่น น้ำหนักของความเสียใจเมื่อต้องแพ้เดิมพันและเสียเงิน มากกว่าน้ำหนักของความดีใจเมื่อเราได้รับเงินจากการเดิมพัน ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดและเดิมพันต่อไป
.
9.เรายอมเสี่ยงเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียที่แน่นอน เช่น กรณีที่จะเสียเงินแน่นอน 800 บาท แต่ถ้าเรายอมเสี่ยงเดิมพัน และมีโอกาส 85% ที่จะเสียเงิน 1000 บาท และ 15% ที่จะไม่เสียเงินเลย เราย่อมเลือกทางเสี่ยงเดิมพัน ในทางกลับกัน เราจะไม่ยอมเสี่ยงแต่เลือกทางที่แน่นอนเมื่อเป็นเปลี่ยนจากการศูนย์เสียเป็นการได้รับ
.
10.เหตุการณ์ที่พึ่งพบเจอล่าสุด จะส่งผลต่อการสรุปมุมมองความคิดของชีวิตเรา โดยไม่ได้คำนึงถึงภาพรวมทั้งหมดที่ผ่านมา เช่น เราโชคร้ายลื่นบันได เราอาจคิดไปว่าชีวิตเราช่างโชคร้าย แต่จริงๆแล้วในชีวิตภาพรวมของเราอาจโชคดีมากกว่าโชคร้ายก็ได้
สำหรับข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้มีมากกว่าที่กล่าวไป แต่เนื่องจากให้แนะนำทั้งหมดคงไม่จบแค่ในบทความนี้ ผมจึงขอแนะนำหนังสือแทนว่าเป็นหนังสือที่สมควรอ่านซักครั้งหนึ่งในชีวิต
.
หลังจากอ่านจบผมจึงเข้าใจว่าทำไมหลายๆท่านจึงยกให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในโลก เนื่องจากเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกๆเรื่องที่ว่าด้วยการตัดสินใจของมนุษย์ และความง่ายในการอ่าน
.
ผู้เขียนคุณ Kahneman ได้สรุปเนื้อหางานวิจัยของเราในแบบที่เข้าใจง่ายและได้เล่นและทบทวนระบบความคิดของผู้อ่านไปด้วยในระหว่างการอ่าน ทำให้ระหว่างทางทั้ง 5 ส่วน เนื้อหา 700 กว่าหน้า สนุกและเพลิดเพลินตลอดการเรียนรู้และทำความเข้าใจระบบความคิดของเรา
.
เนื่องจากผู้เขียนบทความได้อ่าน ‘Noise จุดด้อยของการตัดสินใตโดยมนุษย์’ ที่ว่าด้วยอคิติ (Bias) มาก่อนโดยเป็นผู้เขียนคนเดียวกันกับ Think, Fast and Slow ซึ่งเปรียบเสมือนเนื้อหาภาคต่อของ Think, Fast and Slow ก่อน ทำให้มีความรู้สึกว่าเล่มนี้อ่านง่ายกว่าทั้งที่เนื้อหาเยอะกว่า
.
เนื่องจาก Noise นั้น ถึงแม้เนื้อหาจะน้อยกว่าและมีความเกี่ยวโยงกับตัวอย่างวิจัยใน Think, Fast and Slow ก็ตามที แต่เนื้อหาหลักๆนั้น Noise เต็มไปด้วยหลักสถิติ และคำศัพท์เฉพาะทางที่เยอะกว่ามาก ดังนั้นผมจึงแนะนำให้เริ่มที่ Think, Fast and Slow ก่อนจะไปอ่าน Noise ครับ
หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับบุคคลที่สนใจในพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์ และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารและนักการตลาด ที่ต้องตัดสินใจเรื่องยากๆและต้องเข้าใจมุมมองการตัดสินใจของมนุษย์ในสังคม เนื่องด้วยเนื้อหามีการครอบคลุมถึงการตัดสินใจในบริบทของผู้บริหาร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การรับรู้ข้อมูลและการตัดสินใจของลูกค้า ซึ่งจะทำให้คุณเข้าใจระบบความคิดของมนุษย์และเข้าใจความคิดตนเองมากยิ่งขึ้น
.
.
แล้วคุณผู้อ่านล่ะครับ คุณเข้าใจกระบวนการตัดสินใจของคุณดีแล้วหรือยัง?
.
.
Zcollex_book
#THINKFASTANDSLOW #DanielKahneman
#welearn #พัฒนาตนเอง #จิตวิทยา
#หนังสือพัฒนาตนเอง
โฆษณา