26 ส.ค. 2023 เวลา 12:00

รู้จัก Catastrophizing อาการของคนที่ชอบคิดถึงผลลัพธ์แย่ที่สุดไว้ก่อน

“ถ้าสอบไม่ผ่าน จบไปจะต้องหางานยากแน่ๆ เลย”
“ถ้าทำงานนี้ผิดพลาดไปสักนิด จะต้องถูกไล่ออกแน่ๆ เลย”
“ถ้าแฟนไม่ตอบข้อความเหมือนเดิมแบบนี้ เขาจะต้องมีคนอื่นแน่ๆ เลย”
มีใครเคยมีความคิดที่เชื่อว่าตัวเองนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าความเป็นจริง หรือพูดอีกอย่างคือชอบ “ตีตนไปก่อนไข้” แบบนี้บ้างไหม?
บางคนชอบกังวลเรื่องบางเรื่องเกินความเป็นจริง เช่น กลัวว่าสอบตกแล้วคนอื่นจะมองว่าตัวเองเป็นนักเรียนนักศึกษาที่ไม่ได้เรื่อง กลัวว่าจะมีผลต่อการรับปริญญาหรือการหางานในอนาคต บางคนถึงขั้นคิดไปเลยว่าต่อไปเราจะต้องไม่มีความมั่นคงทางการเงินแน่เลย
ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วคนที่ประสบความสำเร็จหลายคนต่างก็เคยสอบตกกันมาก่อน แล้วการที่เราสอบตกก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหางานไม่ได้ด้วย แต่ทำไมหลายคนถึงมีความคิดที่ว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดจะต้องเกิดขึ้นกับตัวเองหรือชอบคิดถึงผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดขึ้นมาก่อน?
2
นั่นเป็นเพราะเขาเหล่านั้นอาจกำลังเผชิญกับ ‘Catastrophizing’ หรืออาการของคนที่คิดว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่นั้นคือ ‘จุดที่เลวร้ายที่สุด’
Catastrophizing ตัวการที่ทำให้ความสุขในชีวิตลดลง
เชื่อว่าหลายคนคงจะกำลังสงสัยกันว่า Catastrophizing นั้นเกิดขึ้นจากอะไร จริงๆ แล้วยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความคิดประเภทนี้ มันอาจจะเกิดขึ้นมาจากการที่เราเรียนรู้ไว้เป็นกลไกรับมือทางใจจากครอบครัวหรือคนใกล้ตัว เป็นการตอบสนองต่อเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น พ่อแม่หย่าร้าง หรืออาจเกี่ยวข้องกับเคมีในสมองของเราเอง
แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้ได้อย่างแน่ชัดเกี่ยวกับ Catastrophizing คือมันสามารถนำไปสู่ความเครียด ความวิตกกังวล และอาการซึมเศร้าได้ นอกจากนี้งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2014 ยังชี้ไว้อีกว่า Catastrophizing นั้นอาจทำให้อาการปวดเรื้อรัง (Chronic Pain) แย่ลงอีกด้วย
และถ้าถามว่าทำไม Catastrophizing จะทำให้อาการปวดเรื้อรังแย่ลง ก็ต้องขออธิบายแบบนี้ว่า เนื่องจากคนที่เป็นโรคนี้มักจะรู้สึกเจ็บปวดตลอดเวลาอยู่แล้ว แล้วยิ่งมีอาการ Catastrophizing อีก เขาเหล่านั้นก็จะเชื่อว่าตัวเองจะไม่มีวันดีขึ้นจากอาการนี้หรือจะต้องรู้สึกไม่สบายแบบนี้ตลอดไปแน่ๆ
ซึ่งความกลัวตรงนี้จะทำให้คนเหล่านี้แสดงพฤติกรรมเชิงลบต่อตัวเองออกมา เช่น เลี่ยงการออกกำลังกายเพราะคิดว่าตัวเองคงไม่มีวันดีขึ้น ทั้งๆ ที่ควรจะรักษาและป้องกันสุขภาพของตัวเองต่อไป สุดท้ายอาการของโรคนี้จะเป็นอย่างไรทุกคนก็คงจะนึกออกกัน ก็คือมันจะทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลงนั่นเอง
จริงๆ เริ่มแรกแล้ว Catastrophizing สามารถเกิดขึ้นได้จากเรื่องเล็กๆ แล้วหลังจากนั้นอาการจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เมื่อเรามีความคิดเห็นบางอย่างไม่ตรงกันกับแฟน จึงทำให้เกิดการมีปากเสียงกันเล็กน้อย แล้วหลังจากนั้นเราก็เริ่มคิดแล้วว่าแฟนไม่รักเราและจะต้องอยากเลิกกับเราแน่ๆ ทั้งๆ ที่เรื่องไม่ได้ใหญ่โตอะไรขนาดนั้น
แต่ถ้าเรายังคิดแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะกังวลต่อไปว่าถ้าเราเลิกกันแล้วเราจะไปอยู่ที่ไหนหรือคิดเรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่ขึ้นๆ สุดท้ายแล้วมันอาจนำไปสู่อาการแพนิกหรืออาการอื่นๆ อย่างเช่นความเครียดและวิตกกังวล
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนคงจะเห็นกันแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย แต่ว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็น Catastrophizing หรือเปล่า?
ลองมาเช็กสัญญาณของ Catastrophizing ไปพร้อมๆ กัน
[ ] รู้สึกว่าตัวเองซึมเศร้า วิตกกังวล หรือชอบมองโลกในแง่ร้าย
[ ] กังวลและคิดอะไรหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน
[ ] มักจะติดอยู่กับเสียงในหัวตัวเอง
[ ] พูดถึงตัวเองในแง่ลบ
[ ] เสิร์ชหาวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ มากเกินไป
[ ] คิดมากเกินไปเมื่อถึงเวลาต้องเลือก
หลายคนที่มีอาการ Catastrophizing จะชอบคิดว่าตัวเองไม่สมควรได้รับสิ่งดีๆ หรืออาจจะเชื่อว่าสิ่งดีๆ ไม่มีวันเกิดขึ้นกับตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมันก็อาจกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราได้
วิธีหยุดกังวลสิ่งที่ยังไม่เกิด
1. หยุดคิดเกินจริงกับตัวเอง
ทุกคนรู้จักคำว่า Cognitive Errors กันไหม?
ถ้าให้อธิบายง่ายๆ Cognitive Errors คือการที่เราให้เหตุผลถึงเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างผิดๆ โดยเราอาจจะเข้าใจหรือวิเคราะห์เรื่องนั้นๆ ได้ไม่ดีพอ จนทำให้เกิดข้อผิดพลาดทางความคิดขึ้นมา ซึ่งหนึ่งใน Cognitive Errors ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การที่เราคิดถึงผลกระทบจากเรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้น “เกินความเป็นจริง” นั่นเอง เช่น การคิดว่าถ้าเราทำโปรเจกต์นี้ได้ไม่ดี ชีวิตเราจะพังทลายหรือจะถูกไล่ออก ถ้าเราคิดแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้เราดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ จนอาจกู่ไม่กลับ
ทางที่ดีให้ลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยเราสามารถเริ่มได้จากเรื่องเล็กๆ อย่างเช่นลองมองหาว่ามีส่วนไหนในชีวิตบ้างที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ทำให้เรามีความสุข หรือทำให้เราผ่อนคลายได้เสมอ เช่น สำรวจดูว่าเราทำงานได้ดีในเรื่องอะไรบ้างหรือแฟนของเรายังคงสร้างความสุขให้กับเราในเรื่องใดบ้าง ให้มองถึงโลกในด้านที่ดีๆ และเมื่อมองเห็นแล้วว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร ก็อย่าทำให้ความสุขตรงนั้นหายไปด้วยการคิดเกินจริงของเรา
1
2. ลองนอนดูสักตื่น
เคยได้ยินไหมว่า การนอนน้อยทำให้อารมณ์แปรปรวน?
เรื่องนี้ก็สามารถนำมาใช้กับปัญหาเรื่อง Catastrophizing ได้เช่นกัน เพราะเมื่อเรานอนน้อยหรืออดนอนมันจะทำให้เรารู้สึกแย่ลง เช่น รู้สึกหงุดหงิดมากขึ้นและคิดอะไรไม่ค่อยออกหรือไม่ค่อยเฉียบคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่นด้วย เช่น ความง่วงนอนหรือคิดได้ไม่เยอะเท่าไรอาจเข้ามาบิดเบือนความคิดและมุมมองของเราได้
จริงๆ มีการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Neuroscience ยืนยันแล้วว่า การอดนอนนั้นจะทำให้เราไวต่อสิ่งคุกคามมากกว่าเดิมเสียอีก! ซึ่งการไวต่อสิ่งคุกคามตรงนี้มันจะทำให้เราตีความเรื่องราวต่างๆ ในแง่ลบมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครกำลังนอนน้อยอยู่ แนะนำว่าอย่าลืมนอนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
3. ทำความเข้าใจว่าเสียงในหัวเราไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป
“เสียงในหัว” เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ยากและทำให้เราดำดิ่งสู่มุมมืดของอารมณ์ลบอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันให้เราได้ตั้งตัว เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งเราไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเสียงที่อยู่ในหัวเรานั้นจริงแท้แค่ไหน จนบางทีเราอาจตีความไปเองว่าความคิดลบๆ ที่เกิดขึ้นนั้นคือเรื่องจริง
ดังนั้นหากมีความคิดแย่ๆ ผุดขึ้นมาในหัวอยากให้ทุกคนลองคิดอย่างรอบด้านก่อนว่า สิ่งที่เราคิดนั้นจริงหรือไม่ เราคิดไปเองหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงก็ปล่อยให้มันผ่านไป แต่ถ้าเกิดเป็นเรื่องจริงขึ้นมาก็อย่าจมปลักกับมันนานและอย่าคิดเลยเถิดไปไกลจนเกินความเป็นจริง เพราะเรื่องทุกเรื่องที่ผ่านมาเดี๋ยวสุดท้ายแล้วมันก็จะผ่านไป
4. ปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต
1
บางครั้งการที่เราตีความไปก่อนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจะต้องเป็นสิ่งที่เลวร้ายแน่ๆ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่เรานำเอาประสบการณ์ในอดีตและปัจจุบันมาผสมปนเปกับอนาคต จนทำให้กังวลถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปโดยปริยาย แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครล่วงรู้อนาคตได้ อีกทั้งอดีตและปัจจุบันนั้นไม่ใช่ตัวที่จะบ่งชี้ถึงเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เสมอไป เพราะฉะนั้นจงอย่านำเอาอดีตหรือปัจจุบันมาเป็นตัวตัดสินอนาคตของตัวเอง
จะเห็นได้ว่า Catastrophizing นั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรปล่อยทิ้งไว้นานๆ เพราะมันมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของเราเอง เช่น อาจนำไปสู่โรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า สุดท้ายแล้วหากใครลองวิธีข้างต้นแล้วรู้สึกว่าอาการของตัวเองยังไม่ดีขึ้น ทางเราก็ขอแนะนำให้เข้าไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำและการรักษาได้อย่างตรงจุด
อ้างอิง
- Catastrophizing: What You Need to Know to Stop Worrying : Healthline - https://bit.ly/3Yr8GSV
- What Is Catastrophizing? : Psych Central - https://bit.ly/47nQ2zt
- How to Stop Catastrophizing : Verywell Health - https://bit.ly/3QxZ8Dy
- 5 Ways to Stop Catastrophizing : Andrea Bonior, Psychology Today - https://bit.ly/3YspE3g
#psychology
#catastrophizing
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา