27 ส.ค. 2023 เวลา 05:47 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เงินดิจิทัล ตอนที่ 1: เงินดิจิทัลต่างกับเงินธรรมดาอย่างไร?

ช่วงนี้มีเพื่อนๆ ถามมาเยอะมากๆ เกี่ยวกับเงินดิจิทัล แต่ทุกคนอยากฟังสั้นๆ แล้วจบ ปัญหาคือ มันมีรายละเอียดเยอะมาก จึงขออนุญาตทยอยแบ่งเล่าเป็นตอนๆ ไปนะครับ โดยในตอนแรกนี้จะขอเล่าที่มาที่ไปของเงินดิจิทัล
1
ย้อนกลับไปในอดีต เราคงรู้กันดีว่า มนุษย์เราเคยใช้หอยเบี้ย แร่เงิน แร่ทอง เหล็ก หิน และสิ่งต่าง ๆ มากมายมาเป็นเงิน เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกัน แต่เราควบคุมปริมาณเงินเหล่านั้นได้ยาก จนเกิดปัญหาเงินเฟ้อเงินฝืดตามอุปทานของเงิน ต่อมารัฐก็เข้ามาควบคุมโดยการออกธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ เพื่อสร้างมาตรฐาน
ทำให้การค้าสะดวกมากขึ้น แต่แล้วในที่สุด การพิมพ์เงินอย่างขาดวินัยทางการคลัง ก็ทำให้เกิดเงินเฟ้อ จนมีความจำเป็นต้องมีธนาคารกลางเข้ามาเป็นผู้ควบคุมปริมาณเงินให้มีความเหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจ
และเพื่อให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ และประชาชนมีความเชื่อมั่นในเงิน เงินจึงมักจะมีสินทรัพย์ที่มีค่าหนุนหลัง เช่น ทองคำ และเงิน ก่อนที่จะมาเป็นเงินสกุลหลักอย่าง ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และเยน เป็นต้น
ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนกรมธนารักษ์ ภายใต้กระทรวงการคลัง เป็นผู้ออกเหรียญกษาปณ์ และมีเงินสดหมุนเวียนอยู่ตามนิยามของเงินความหมายอย่างแคบรวมกันประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยธนบัตรที่ออกต้องมีเงินสำรองหนุนหลัง 100% ตามภาพที่ 1
คราวนี้ เรามาพูดถึงโครงการเงินช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ก้อนใหญ่ๆ ที่ช่วยเหลือประชาชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นโดยผ่านการแจกเงินอุดหนุน เช่น เราไม่ทิ้งกัน เป็นการโอนเงินเข้าบัญชี ส่วนโครงการอย่าง ม.33 เรารักกัน เราชนะ ฯลฯ เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ เป๋าตัง และโครงการอย่างคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกันที่เป็นการใช้จ่ายผ่าน เป๋าตัง แต่เงินชดเชยจะถูกโอนตรงให้กับร้านค้า
โครงการเหล่านี้ไม่ได้ไปแตะต้องกระบวนการสร้างเม็ดเงินแต่อย่างไร เป็นการที่ให้การสนับสนุนกับประชาชนโดยตรง และใช้เงินกู้ผ่าน พรก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาทส่วนหนึ่งมาใช้ในการเยียวยาผลกระทบจากมาตรการในการป้องกันโรคโควิด ดังนั้นจึงทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มหนี้สินต่อ GDP จากประมาณ 40% ขึ้นมาที่ 60% และมีภาระดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปีมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว แต่ก็เป็นไปเพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัวลงจนภาคธุรกิจไม่สามารถอยู่ได้ และไม่ให้ประชาชนมีความลำบากจนเกินควร
2
จริงอยู่เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ภาวะที่ดีมากนัก ประกอบกับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของ GDP ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งยังอยากที่จะได้รับความช่วยเหลือ แต่ในโครงการเงินดิจิทัลนี้กลับเป็นความพยายามที่ต่างกันออกไปจากในช่วงโควิด เพราะเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวแล้ว ความจำเป็นจึงน้อยลงกว่าเดิมมาก
ประกอบกับรัฐบาลมีงบประมาณที่ขาดดุลมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา หากจะก่อหนี้มากถึง 5.5 แสนล้านบาทจะถือว่าเป็นหนี้ที่ต้องก่อใหม่จำนวนมาก ซึ่งมากถึง 2-3% ของ GDP และ 16% ของวงเงินงบประมาณปกติ ทั้ง ๆ ที่เงินงบประมาณมากถึง 75% ก็ถูกจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายประจำ รวมถึงรายจ่ายให้กับบุคลากรของรัฐมากกว่า 36%
เงินดิจิทัลจึงถูกออกแบบสไตล์ "การเลี่ยงบาลี" ให้สามารถ "สร้างเงิน" จาก "อากาศ" ให้เข้าไปอยู่ในมือประชาชนให้นำไปใช้จ่ายได้ โดยที่ไม่ต้องกู้เงินใดๆ และหลบเลี่ยงข้อจำกัด "วินัยทางการคลัง" จึงดูไม่ต่างกับแนวความคิด Helicopter Money ของ Milton Friedman ในหนังสือ The Optimum Quantity of Money ที่พูดถึงข้อถกเถียงที่จะแก้ไขปัญหา "เงินฝืด" ด้วยการโปรยเงินผ่านเฮลิคอปเตอร์
1
แต่เรากำลังคิดอยากจะทำในสภาวะ "เงินเฟ้อ" เงินดังกล่าวดูเหมือนเป็นเงินที่เสกขึ้นมา และคิดว่าจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้โดยที่ไม่มีผลกระทบ หรือภาระตามมา แต่ไหนเลย จริง ๆ แล้วมันมีผลกระทบอย่างมากหลายเรื่องที่ไม่ได้มีการถกเถียงกันอย่างจริงจัง ไว้เดี๋ยวเรามาถกกันต่อในตอนหน้าครับ
อ้างอิง :
2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา