31 ส.ค. 2023 เวลา 04:33 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เงินดิจิทัล ตอนที่ 3: The impossible multiplier

ตัวทวีคูณ หรือ multiplier คือตัวเลข “จินตนาการ” ตามทฤษฎีของ Keynes ที่เชื่อว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลจะทำให้ GDP เติบโตมากขึ้นกว่าเงินที่จ่ายลงไป จากการที่รายจ่ายของคนๆ หนึ่ง จะเป็นรายได้ของคนอีกคนหนึ่ง และคนๆ นั้นก็มีแนวโน้มที่จะใข้จ่ายเงินนั้นส่วนหนึ่งวนต่อไปเรื่อย ๆ
ความเพ้อฝันของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัล คือ การคิดว่าการแจกเงินแบบนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล (ตัวทวีคูณเคยถูกประเมินว่าเป็น 6 ในตอนโฆษณา ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ 2.7)
เอกสารวิชาการของสำนักงบประมาณรัฐสภาได้ทบทวนวิธีการวิเคราะห์จากหลายหน่วยงาน และได้สรุปว่า ตัวทวีคูณในบริบทของประเทศไทยมีค่าตั้งแต่ 0.947 ถึง 1.871 เท่านั้นเอง
แต่นี่ยังไม่ได้ลดทอนค่าตัวทวีคูณจากเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เงินดิจิทัลใส่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดระยะทางที่ใช้ จำกัดประเภทสินค้าที่ใช้ จำกัดระยะเวลาที่ใช้ ความยุ่งยากที่ต้องใช้ระบบทางการเงินใหม่ ปัญหาการ on board ร้านค้า ความกลัวในการโดนตรวจสอบภาษี ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ยิ่งพาจะทำให้ตัวทวีคูณนี้ต่ำลงไปอีก
นอกจากนั้น การแจกเงินแบบหว่านแห
ทำให้เงินส่วนหนึ่งไปยังผู้ที่ไม่ได้จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ซึ่งแปลว่า คนเหล่านั้นอาจจะไม่ใช้เงินนี้ หรือใช้ แต่ไปทดแทนแผนการใช้จ่ายเงินปกติของเขา ทำให้เกิดการลดการใช้จ่ายในอนาคตที่จะมีผลลบกับ GDP ในอนาคต
ซึ่งปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าให้ผมเดา (เดาล้วนๆ) ค่านี้น่าจะต่ำกว่า 1 แน่ๆ
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง อยู่เฉยๆ อาจจะดีกว่าเสียด้วยซ้ำ
ในทฤษฎีของ Keynes ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่ได้จากการใช้จ่ายของรัฐบาลโดยตรงมักจะมีค่วตัวทวีคูณสูงกว่าตัวทวีคูณที่ได้จากเงินโอน (transfer payments multiplier) เนื่องจากเงินที่ใช้จ่ายในขาแรกโดยรัฐย่อมจะทำให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการขึ้นมา ในขณะที่การแจกเงินไม่มีตรงนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น หากรัฐบาลใช้จ่ายเงินดังกล่าวเพื่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ระบบคมนาคม ระบบการเงินต่าง ๆ ยิ่งจะทำให้เป็นประโยชน์ และเพิ่มประสิทธิภาพของประชาชนเข้าไปอีก
ดังนั้น หากจะให้เลือกแจกเงินฟรี กับลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ผมเลือกอย่างที่สองแน่ ๆ ครับ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่ามาก แต่อาจจะใช้ในการหาเสียงไม่ได้ เพราะประชาชนจะไม่เห็นตัวเงินที่ trickle down ลงมาจากการใช้จ่ายภาครัฐโดยตรง
อ่านตอนอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา