31 ส.ค. 2023 เวลา 06:22 • หุ้น & เศรษฐกิจ

มนุษย์เงินเดือนต้องรู้! ลงทุนกองทุนรวม SSF vs RMF ต่างกันอย่างไร?

ปัจจุบันการลงทุนเป็นสิ่งถูกพูดถึง และผู้คนให้ความสนใจศึกษาหาข้อมูลกันมากขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ของการออมที่หลากหลาย
ทั้งเพื่อปูทางสู่การเกษียณอย่างมั่นคง ลดหย่อนภาษีในแต่ละปี หรือจะเป็นการออมเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวอื่นๆ ก็ตามที
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับดอกเบี้ยที่ได้รับจากการออมเงินกับธนาคารก็ให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก ทำให้การลงทุนประเภทอื่นๆ จึงมีความน่าสนใจมากกว่า
เนื่องจากมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยการลงทุนในกองทุนรวมก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดียามดอกเบี้ยธนาคารโตตามเงินเฟ้อไม่ทัน
## กองทุนรวมคืออะไร? ##
"กองทุนรวม" คือ การระดมเงินลงทุนจากนักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ รวบรวมเป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการเพื่อนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน
โดยที่นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่แตกต่างกันออกไปได้ตามนโยบายที่สนใจ และเมื่อตัดสินใจลงทุนแล้วเราก็จะได้รับการจัดสรร “หน่วยลงทุน” เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของในเงินที่ลงทุนไป โดยจะเรียกผู้ลงทุนในกองทุนรวมว่า “ผู้ถือหน่วยลงทุน”
Image Credit: Pixabay
ทั้งนี้ มูลค่าของหน่วยลงทุนในกองทุนแต่ละกองจะมีมูลค่าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการบริหารกองทุน และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสินทรัพย์ที่ลงทุน
ยกเว้นจะเป็นกองทุนรวมที่เสนอขายครั้งแรก หรือ Initial Public Offering (IPO) จะมีมูลค่าเริ่มต้นที่ 10 บาท และมูลค่าหน่วยก็จะเปลี่ยนไปหลังจากเสร็จสิ้นการระดมทุน และเริ่มการซื้อขายกันตามปกติ
โดยกองทุนรวมที่ถูกพูดถึงกันมากสำหรับผู้ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา และต้องการลงทุนเพื่อตนเองหรือตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระยะยาว นั่นก็คือ กองทุนรวม “SSF” (Super Savings Fund) และ “RMF” (Retirement Mutual Fund)
กองทุนรวม SSF เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2563 เป็นกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ซึ่งเข้ามาทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF (Long Term Equity Fund)
ส่วน “RMF” เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ส่งเสริมการออมระยะยาว (กว่า) สำหรับสร้างความมั่นคงและเป็นค่าใช้จ่ายในยามเกษียณ
Image Credit: Pixabay
### เปรียบเทียบระหว่าง SSF และ RMF ###
--- ช่วงเวลาในการลงทุน ---
SSF: ลงทุนได้ตลอดทั้งปี
RMF: ลงทุนได้ตลอดทั้งปี
--- ช่วงเวลาในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีฯ ---
SSF: พ.ศ. 2563-2567 (หักภาษีได้ปีต่อปี)
RMF: ลดหย่อนได้ทุกปีที่ลงทุน
--- ระยะเวลาที่ต้องถือครอง ---
SSF: ถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
RMF: ถือครองจนกว่าอายุครบ 55 ปี และต้องถือครองขั้นต่ำ 5 ปีนับจากวันที่ซื้อ
--- จำนวนที่ลดหย่อนภาษีฯ ได้ ---
SSF: ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท
RMF: ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท
*หมายเหตุ: ทั้งนี้ SSF+RMF รวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ/ประกันบำนาญ/ค่าลดหย่อนการออมอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท)
--- เงินลงทุนขั้นต่ำ/เงื่อนไขการซื้อ ---
SSF: ไม่มีขั้นต่ำ และไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
RMF: ไม่มีขั้นต่ำ แต่ต้องซื้อต่อเนื่องอย่างน้อยปีเว้นปี
--- นโยบายการลงทุน ---
SSF: สินทรัพย์ทุกประเภททั้ง หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
RMF: สินทรัพย์ทุกประเภททั้ง หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
--- เหมาะกับใคร ---
SSF: ต้องการลดหย่อนภาษี และต้องการลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 10 ปี
RMF: ต้องการลดหย่อนภาษี และต้องการออมเงินสำหรับเกษียณในอนาคต
Image Credit: Pixabay
### แล้วลงทุนในกองทุนรวมดีอย่างไร? ###
1. มีผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญในสินทรัพย์แต่ละประเภท คอยวิเคราะห์หาโอกาสทำกำไร และดูแลการลงทุนให้อย่างดี
2. นโยบายการลงทุนที่หลากหลายตามระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้ กระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ต่างๆ ได้หลายประเภท และ บลจ. ส่วนใหญ่มีการอัพเดทกองทุนใหม่ๆ ตามเทรนด์อยู่เสมอเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน
3. ไม่ต้องมีเงินมากก็เริ่มลงทุนได้ (บางกองทุนเริ่มต้นเพียง 1 บาท) แถมยังมีแผนการลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Average) ให้ทยอยลงทุนด้วยเงินเท่ากันเป็นงวดๆ ได้ เพื่อลดความผันผวนของมูลค่าทรัพย์
4. เริ่มลงทุนได้ง่าย เพราะปัจจุบันเกือบทุก บลจ. สามารถเปิดพอร์ตลงทุนผ่านทางออนไลน์ได้เอง รวมทั้งบริหารจัดการเรื่องการลงทุน ทั้งซื้อ-ขาย โยกย้ายสับเปลี่ยนกองทุนได้ผ่านปลายนิ้วสัมผัสได้อย่างสะดวกสบาย
อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนควรเลือกลงทุนในกองทุนที่สามารถยอมรับในระดับความเสี่ยงได้ และเหมาะสมตามเป้าหมายของตัวเองว่ามีวัตถุประสงค์อะไรในการลงทุน รวมถึงมีการวางแผนเรื่องของผลตอบแทนอย่างชัดเจน
อีกทั้งควรทำความรู้จักประเภทของสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุน และข้อมูลเบื้องต้นของกองทุนนั้นๆ เช่น นโยบายการลงทุน การจ่ายปันผล ค่าธรรมเนียมต่างๆ และสถิติผลการดำเนินงานในอดีต เป็นต้น ก็จะสามารถไปถึงเป้าหมายของการลงทุนในกองทุนรวมได้ไม่ยากอย่างแน่นอน.
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา