31 ส.ค. 2023 เวลา 10:04 • ข่าว

กาบอง..สมบัติผลัดกันชมของตระกูลบองโก กว่า 60 ปี ก่อนถูกรัฐประหารโดยหลานชายตัวเอง

หากพูดตระกูลที่สืบทอดอำนาจการเป็นผู้นำประเทศมาอย่างยาวนาน ในยุคสมัยใหม่ที่ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกแล้วนั้น เบอร์ 1 ที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงก็คือ บ้านตระกูลคิม แห่งเกาหลีเหนือ ที่สามารถส่งต่อตำแหน่งถึงรุ่นหลาน คิม จอง-อุน แล้วในวันนี้ กับบ้านตระกูล ฮุน ของ ท่านสมเด็จฯ ฮุน เซ็น อีก 1 ที่เพิ่งส่งผ่านตำแหน่งผู้นำกัมพูชาให้ลูกชาย นายฮุน มาเนท ไปหมาดๆ
แต่ใครจะเชื่อว่า กาบอง ประเทศเล็กๆในทวีปอาฟริกา ก็มีผู้นำที่มาจากคนตระกูลเดียวมานานเกือบจะ 60 ปีแล้ว แถมยังนานยิ่งกว่าบ้านตระกูลคิมแห่งเกาหลีเหนือเสียอีก ซึ่งน่ากลัวว่า อาจจะเป็นแล้ว เป็นอยู่ และเป็นต่อ ไปอีกนาน แสนนานนนน..จนไม่คิดว่าจะมีอะไรมาล้มได้ แม้กระทั่งเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่เพิ่งจะผ่านมาก็ตาม
วันนี้ เราจะมาคุยกันถึงตระกูล "บองโก" ที่เปรียบเหมือนไอคอนการเมืองแห่งกาบองกันดีกว่า
จุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำสูงสุดของตระกูลบองโก ก็คือ นาย โอมาร์ บองโก ผู้พ่อ เขาเกิดในเมืองเล็กๆที่ชื่อว่า ลีวาย (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บองโกวิลล์ หลังจากที่ โอมาร์ บองโก ได้ขึ้นเป็นผู้นำกาบองในเวลาต่อมา) ทางภาคใต้ของกาบอง ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของอิเควทอเรียลแอฟริกา อาณานิคมของฝรั่งเศส หลังจากจบมัธยมก็สมัครเป็นทหารในกองทัพอากาศของฝรั่งเศส ไต่เต้าจนได้เลื่อนยศเป็นถึงนาวาอากาศเอก
แต่ความสามารถอย่างเดียว อาจไปได้ไม่ไกล มันต้องอยู่ในสายที่ถูกที่ ถูกเวลาด้วย ซึ่ง โอมาร์ บองโก ก็พาตัวเองมาอยู่ถูกสายเสียด้วย และได้กลายเป็นคนสนิทข้างกายของนาย ลีอง เอ็ม'บา นักการเมืองที่ได้รับแรงสนับสนุนจากนายทุนฝรั่งเศสในพื้นที่เป็นจำนวนมากในช่วงเงลานั้น และสามารถชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของกาบอง หลังจากที่ประเทศได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสแล้วในปี 1960 ซึ่ง ลีอง เอ็ม'บา ก็ได้เลือก โอมาร์ บองโก ลูกน้องคนสนิทขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดีด้วยกัน
ลีอง เอ็ม'บา ดำรงตำแหน่งได้ 7 ปี ก็ถึงแก่อสัญกรรม โอมาร์ บองโก จึงได้เลื่อนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของบองโก ตั้งแต่ปี 1967 เป็นต้นมา โดยในสมัยนั้น กาบอง ยังปกครองด้วยระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว ทำให้บ้านบองโก สามารถครองตำแหน่งผู้นำได้อย่างยาวนาน จนตายคาเก้าอี้ได้
ซึ่งยุคสมัยของโอมาร์ บองโก ก็ยาวนานถึง 42 ปี มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง ขยายเครือข่ายครอบครัวบองโกออกไปอย่างกว้างขวาง รวมถึงทรัพย์สินมหาศาลของตระกูลบองโกด้วยเช่นกัน
ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่อยู่ในอำนาจ โอมาร์ บองโก ทำให้กาบองกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 5 ของอาฟริกา มีท่อส่งก๊าซยาวยิ่งกว่ามอเตอร์เวย์ และเป็นดั่งลมหายใจของฝรั่งเศส ในการส่งน้ำมันดิบ แมงกานีส แร่เหล็ก และยูเรเนียม ให้แก่ฝรั่งเศสที่นำไปใช้พัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ จนมีคำกล่าวที่ว่า
"หากกาบองไร้ฝรั่งเศส ก็เปรียบเสมือนมีรถ แต่ไม่มีคนขับ แต่ในขณะเดียวกัน หากฝรั่งเศสปราศจากกาบอง ก็ไม่ต่างจากรถที่ไม่มีน้ำมันเหมือนกัน"
และความสัมพันธ์ทางการค้า และการเมืองระหว่างตระกูลบองโก และฝรั่งเศส ทำให้เขามีทรัพย์สินเป็นคฤหาสน์หรูในฝรั่งเศส และ สหรัฐ มากกว่า 40 หลัง รถหรูกว่า 183 คัน และ เงินสดในบัญชีธนาคารทั่วโลกอีกกว่า 66 บัญชี แต่กาบองกลับยังเป็นประเทศยากจน ที่ประชากรกว่า 40% มีสภาพความเป็นอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เส้นยากจนของโลก ทั้งๆที่มีประชากรเพียง 2 ล้านเศษ หากคำนวนรายได้จากการส่งออกน้ำมัน และแร่อุตสาหกรรมอื่นๆ กาบองควรมีความเจริญเทียบเท่า UAE ด้วยซ้ำไป
2
และเมื่อ โอมาร์ บองโก ผู้พ่อถึงแก่อสัญกรรมคาตำแหน่งในปี 2009 อำนาจบริหารก็ถูกเปลี่ยนผ่านสู่ อาลี บองโก ลูกชายที่ถูกวางตัวให้รับช่วงต่อจากพ่อของเขา ได้อย่างไร้รอยต่อ ทอเต็มผืน และอยู่ในตำแหน่งผู้นำบองโกต่อถึง 2 สมัย (14 ปี)
แม้ตัวอาลี บองโก จะมีปัญหาสุขภาพอย่างหนัก ต้องเดินทางไปรักษาตัวนอกประเทศ มักปรากฏกายบนเก้าอี้รถเข็นออกสื่อหลายครั้ง หรือแม้กระทั่งไปอยู่รักษาตัวยาวในโมร็อกโกถึง 6 เดือน เพราะอาการหลอดเลือดสมอง จึงเกิดคำถามอย่างมากถึงความฟิตในตำแหน่งผู้นำว่า อาลี บองโก ยังสามารถทำหน้าที่ไหวอยู่หรือไม่
1
แต่ทั้งนี้ ที่กาบอง เขาเลือกที่จะตอบคำถามนี้ผ่านการรัฐประหาร ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2019 เมื่อมีกองทหารกลุ่มหนึ่ง บุกยึดสถานีวิทยุแห่งชาติในกรุงลีเบอรวิล พร้อมประกาศยึดอำนาจ ในขณะที่ประธานาธิบดี อาลี บองโก ยังรักษาตัวอยู่ในโมร็อกโก
1
แต่สุดท้ายกองทหารดังกล่าวถูกจับกุม และในจำนวนนั้น ถูกยิงเสียชีวิต 2 คน เหตุที่ทำให้การรัฐประหารครั้งนั้นไม่สำเร็จ เพราะมีข่าววงในรั่วออกมาเสียก่อน แม้แต่หน่วยข่าวกรองสหรัฐยังรายงานถึง โดนัลด์ ทรัมพ์ ผู้นำสหรัฐในช่วงเวลานั้น ที่ได้ตัดสินใจสั่งให้ส่งทหารอเมริกัน 80 นายเข้าไปในกาบอง เพื่อป้องกันทรัพย์สินของชาวอเมริกันในคืนก่อนเกิดเหตุเพียงวันเดียวนั่นเอง
1
แต่สำหรับเหตุรัฐประหารล่าสุดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นปฏิบัติการแบบสายฟ้าแล่บ ชิงจังหวะในช่วงสูญญากาศหลังเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งอย่างที่คาดการณ์ไว้ อาลี บองโก ยังสามารถชนะเลือกตั้งเป็นผู้นำกาบองต่อในสมัยที่ 3 แม้จะมีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์จากโรครุมเร้าก็ตาม
ถามว่า การรัฐประหารครั้งล่า่สุดนี้ ถือเป็นจุดสิ้นสุดอำนาจของตระกูลบองโกที่ครองตำแหน่งมายาวนานตั้งแต่รุ่นพ่อเกือบ 60 ปีหรือเปล่า ก็ต้องตอบตามตรงว่า ไม่ใช่เลย
เนื่องจากวันนี้มีการประกาศแต่งตั้ง นายพล บริซ โอลิกุย นูมา หัวหน้ากองกำลังป้องกันสาธารณรัฐประจำทำเนียบประธานาธิบดี เป็นผู้นำคณะรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน ซึ่ง นายพล บริซ โอลิกุย ก็คือหลานคนหนึ่งของอดีตผู้นำ โอมาร์ บองโก ผู้พ่อ ญาติคนหนึ่งในตระกูลเช่นกัน เพราะอย่างที่บอก โอมาร์ บองโก อยู่ในตำแหน่งนาน จนลูกเต็มบ้านมากกว่า 30 คน เพราะแกมีบ้านเยอะมาก 😃
ซึ่ง บริซ โอลิกุย ก็เข้ามาทำงานเป็นกองทหารองครักษ์ประจำทำเนียบประธานาธิบดีมานานตั้งแต่สมัย โอมาร์ บองโก รุ่นพ่อแล้ว จนวันนี้ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำผ่านการรัฐประหารลูกพี่ ลูกน้องตัวเอง
กาบองในวันนี้ จึงกลายเป็นสมบัติผลัดกันชมของคนในตระกูลบองโกไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะเลือกตั้ง ลากตั้ง หรือ ยึดอำนาจ ล้วนหนีไม่พ้นเครือญาติตระกูลบองโก ที่จะอยู่กับชาวกาบองไปอีกนานแสนนาน จนกว่าบ่อน้ำมันจะหมด🥲
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Twitter - @HunsaraByJeans
Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
แหล่งข้อมูล
โฆษณา