วิธีการที่ง่ายและเหนื่อยน้อยที่สุดในการเพิ่มกำไร คือ การจัดการต้นทุน ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ด้วยกลยุทธ์ต่อไปนี้
1) พูดคุยกับฝ่ายจัดซื้อ
2) การจัดการคลังสินค้า
3) บริหารต้นทุนดำเนินงาน
4) งบการตลาด
การทำธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะถามผู้ประกอบการคนไหน คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “กำไร” คือ สิ่งที่สำคัญมากๆ ในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ทำให้เราสามารถสร้างกำไรเพิ่มขึ้นได้ โดยที่ไม่ต้องยิงแอดโฆษณา หรือเหนื่อยกับการหาลูกค้าใหม่ นั่นก็คือ “การจัดการต้นทุน” ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทำธุรกิจหลายคน อาจละเลยไป
เมื่อกล่าวถึงเรื่อง “ต้นทุน” นักธุรกิจหลายคน อาจจะกังวลว่าด้วยสภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ เงินเฟ้อสูง ต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายล้วนราคาแพงขึ้น แล้วเราจะไปจัดการได้อย่างไร? จริงๆ แล้ว เรายังพอจัดการได้ เพียงแค่เรายังไม่รู้ว่า ต้องจัดการอย่างไรให้ต้นทุนลดลง และคนที่พร่ำบ่นอาจจะมองแค่ปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่ในบทความนี้ เราจะมากล่าวถึง กลยุทธ์การจัดการต้นทุน ในด้านต่างๆ ของธุรกิจ ซึ่งสามารถเริ่มได้จากภายในธุรกิจของตัวเราเอง
กลยุทธ์แรกที่เราสามารถจัดการได้เลย คือ “พูดคุยกับฝ่ายจัดซื้อ” จริงๆ แล้วฝ่ายจัดซื้อมีความสำคัญในระดับกลยุทธ์เพราะช่วยให้บริษัทมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง มีทางเลือกในการทำโปรโมชันราคาสินค้า รวมถึงทำให้มีสินค้าพร้อมขาย ไม่เสียโอกาสการขาย มีสภาพคล่องที่ดี และยังทำให้ได้ของที่มีคุณภาพดีกว่าคู่แข่ง
คำถามสำคัญที่เราต้องถามฝ่ายจัดซื้อ คือ “ครั้งสุดท้ายที่เปลี่ยน Supplier คือเมื่อไหร่? หรือบริษัทมีนโยบายการเปลี่ยน Supplier บ่อยแค่ไหน?” ถ้าคำตอบคือ “ไม่ค่อยได้เปลี่ยน เพราะที่ซื้ออยู่ก็ดีอยู่แล้ว” หากได้คำตอบแบบนี้ บริษัทของเรา กำลังเสียโอกาสเป็นอย่างมาก
เพราะถ้าเปลี่ยนแหล่งซื้อใหม่ เราจะมีโอกาสได้ของราคาที่ถูกกว่าเดิม หรือ คุณภาพดีกว่าเดิม หรือมีโอกาสได้ทั้งสองอย่าง ถ้าฝ่ายจัดซื้อของเราคนไหนไม่อยากเปลี่ยนแหล่งซื้อ ต้องลองตรวจสอบว่า เขามีดีลลับบางอย่างกับ Supplier เดิมหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นการป้องกันการทุจริตในบริษัทและเป็นการควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย และเมื่อเราลองเปลี่ยน Supplier เราอาจจะพบว่า กำไรเราเพิ่มขึ้นได้ทันที โดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนสิ่งอื่นเลย
กลยุทธ์ต่อมาที่ควรทำควบคู่กับการดูแลฝ่ายจัดซื้อ คือ “การจัดการคลังสินค้า” โดยเฉพาะการนับจำนวนสินค้าว่าครบถ้วนหรือไม่ ถ้าจำนวนสินค้าขาดหายไปโดยไม่รู้ว่าหายไปไหน คือ ต้นทุนที่เสียไปและหาคืนกลับมาได้ยาก และหากเจอสินค้าที่ขายไม่ออกเป็นจำนวนมาก ควรหาวิธีระบายสินค้าออกโดยด่วน ไม่เช่นนั้นจะเป็นต้นทุนจม และอาจทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องได้
อีกกลยุทธ์ที่ไม่ควรหลงลืม คือ “บริหารต้นทุนดำเนินงาน” หรือที่หลายคนบอกว่า การจัดการหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบเอกสาร ค่าเช่าสำนักงาน เงินเดือน ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ เราค่อยปรับให้เป็นแบบออนไลน์ ทั้งการให้พนักงานทำงานที่บ้านแบบ Work from home โดยไม่กระทบกับการทำงาน จะทำให้ลดค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของพนักงาน รวมถึงสวัสดิการบางอย่างที่ไม่จำเป็น ทำให้เราไม่ต้องลดจำนวนพนักงาน เพื่อตัดรายจ่ายส่วนนี้ ซึ่งอาจมีผลเสียมากกว่าผลดี นอกจากนี้ระบบเอกสารและการอนุมัติทั้งหลาย ควรลดขั้นตอนและอัพเกรดระบบให้เป็นออนไลน์ เช่น การใช้ Cloud Document ซึ่งช่วงแรกอาจจะดูยุ่งยาก แต่ถ้าทำเสร็จ เราจะลดได้ทั้งเงินและเวลาในการดำเนินงาน
แน่นอนว่า มีต้นทุนอีกรายการที่ทุกคนยอมจ่ายเพื่อให้ธุรกิจเติบโต นั่นก็คือ “งบการตลาด” ซึ่งกลยุทธ์ที่ควรนำมาปรับใช้เพื่อให้ต้นทุนนี้มีประสิทธิภาพ ควรเริ่มจากการกลับมาทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้ถ่องแท้ วางแผนและตั้งเป้าหมายที่มีการวัดผลอย่างสม่ำเสมอ ก่อนจะใช้งบประมาณในการทำการตลาด
รวมถึงในยุคที่ใครต่างยิงโฆษณาออนไลน์ เราสามารถทดสอบโดยใช้เงินน้อยๆ แต่ทำหลายๆ โพสต์ หลายๆ ช่องทางพร้อมกัน และวัดผลว่าอันไหนทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ดีที่สุด ซึ่งมีข้อคิดอยากเตือนใจก่อนทำการตลาด คือ “อย่าทำตามกระแสคนอื่น เพราะมันดูดี ขายได้ แต่ให้ทำตามที่ลูกค้าต้องการ จะได้ผลมากกว่า และใช้งบน้อยกว่า”
สุดท้าย ถ้าอยากเพิ่มกำไรให้ธุรกิจโดยเหนื่อยน้อยที่สุด อย่ามัวแต่คิดหาทางเพิ่มยอดขาย ให้จัดการความอุ้ยอ้ายจากการที่ธุรกิจที่มีต้นทุนที่ไม่จำเป็นเข้ามาเบียดบังผลกำไรที่ซ่อนอยู่ เมื่อกำจัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไปได้ เราจะเห็นกำไรที่ซ่อนอยู่ และธุรกิจจะอยู่รอดไม่ว่า เศรษฐกิจภายนอกจะรุนแรงแค่ไหนก็ตาม
เรียบเรียงจากหนังสือ “วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน 3 (The Little Book of Business 3)” โดยธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์ สำนักพิมพ์อะไรเอ่ย
บทความโดย: ธนโชค โลเกศกระวี
นักเขียนอิสระและผู้ประกอบการออนไลน์
1 ถูกใจ
3 แชร์
874 รับชม
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
  • 1
    โฆษณา