5 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Monster (2023) – ใครเล่าที่เป็นอสูรกาย

เรียกได้ว่าเป็นขาประจำของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เลยก็ว่าได้ สำหรับผู้กำกับ ฯ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ที่ยังคงเข็นผลงานออกมาต่อเนื่องไม่เว้นว่าง หลังเคยนำพาตัวเองไปยังประเทศเกาหลีใต้ พร้อมส่ง Broker ไปให้ผู้คนในเทศกาลเชยชม ครั้งนี้เขากลับไปยังดินแดนญี่ปุ่น ด้วยเรื่องราวดราม่าที่ว่าด้วยเด็กชายสองคน อย่าง Monster พร้อมคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและ Queer Palm Awards กลับมาด้วย
Monster เล่าเรื่องราวของ ซาโอริ มุงิโนะ ที่พบว่าลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเธอ มินาโตะ ทำตัวแปลก ๆ และรู้สึกว่ามีอะไรสักอย่างผิดปกติ ซาโอริ จึงพบว่าคุณครูประจำชั้นของเขาอย่าง มิชิโตชิ โฮริ มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องราวนี้ เธอจึงดาหน้าเดินทางไปยังโรงเรียน เพื่อเรียกร้องตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียน แต่แล้ว เรื่องราวทั้งหมดก็ค่อย ๆ ถูกคลี่คลายผ่านสายตาของผู้ปกครอง, คุณครู และเด็กทั้งสอง ก่อนที่ความจริงก็พลางปรากฎขึ้น
หลังเคยผ่าน Broker มาแล้ว เราก็พอจะทราบถึงแนวทางหรือรสมือของโคเรเอดะ ที่มักจะเล่าถึงแง่มุมความเป็นมนุษย์ผ่านเรื่องราวดราม่า ด้วยท่าทีที่ไม่ได้ใหญ่โตมากล้น หรือฟูมฟายชวนกระชากน้ำตาเลยด้วยซ้ำ แต่มันกลับสร้างบาดแผลทางอารมณ์ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ซึ่งสำหรับ Monster เปิดมาอย่างเรียบง่าย ผ่านเมืองเล็ก ๆ ริมทะเลสาบ จากคืนวันที่มีเหตุไฟไหม้กลางเมือง และเริ่มต้นด้วยมุมมองของซาโอริ ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เธอรู้สึกถึงความผิดแปลกไปของมินาโตะ ลูกชายของเธอ เรื่องราวซึ่งดำเนินเป็นเส้นตรง พลอยสร้างความสงสัยระหว่างดู ราวกับได้ดูภาพใหญ่ภาพนึง ที่กลับเต็มไปด้วยช่องว่างที่ขาดหายมากมาย ก่อนที่เรื่องราว จะพาเราไปยังอีกมุมมองใหม่จากในเส้นเรื่องเดียวกัน เหมือนค่อย ๆ มอบจิ๊กซอว์ ที่มาต่อเติมช่องว่างเหล่านั้นให้เต็มยิ่งขึ้น
ความน่าสนใจของเนื้อหาดราม่า ของการเปลี่ยนแปลงทางช่วงวัยของเด็กประถมอย่าง มินาโตะ มุกิโนะ คือจังหวะการเล่าของเรื่องราว ที่แม้จะเป็นเรื่องราวดราม่าก็ตาม แต่มันถูกนำเสนอ ภายใต้ให้กลิ่นอายจาง ๆ ของแนวทางหนังสืบสวน ที่ชวนให้เรา เฝ้าดูและพินิจถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ก่อนที่เรื่องราวจะค่อย ๆ คลี่คลายออกมา จากการสลับมุมมองเส้นเรื่อง
ลำดับเรื่องราวทั้งหมด ถูกแบ่งออกเป็นองก์ชัดเจน ตามมุมมองของตัวละครในเรื่อง อันได้แก่ คุณแม่, คุณครู และ เด็ก ๆ ภายใต้เส้นเรื่องที่แม้จะครบถ้วนสมบูรณ์ในแต่ละมุมมอง หากแต่มันซ้อนทับและเหลื่อมกัน พลันทำให้เราเห็นช่องว่างที่ไม่เชื่อมโยงกันของแต่ละเส้นเรื่อง การจัดวางเหตุการณ์รวมถึงเหตุการณ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไม่ต่างจากจิ๊กซอว์นี้เองของ ยูจิ ซากาโมโตะ เหมือนช่วยเปิดมุมมองต่อโลกของคนดูให้กว้างขึ้นไปอีก
แต่ด้วยจังหวะเรื่องราวที่ค่อยเป็นค่อยไป คลอด้วยจังหวะดนตรีเล็กน้อย แต่ช่วยเพิ่มพูนอารมณ์ร่วม และมุมมองอันชดช้อยของเรื่อง จากบทประพันธ์โดย ริวอิจิ ซากะโมโตะ พาเราดำเนินไปยังสายธารความแปลกประหลาด และบางแง่มุมก็พิลึกพิลั่น ของเส้นเรื่องหลักเส้นเดียว เพียงแต่การสลับไปเล่าในอีกมุมมองหลังจากนั้น กลับเพิ่มมุมมองใหม่ ที่ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวและตัวละครมากขึ้น ซึ่งจังหวะการเล่าที่เล่าในแต่ละเส้นเรื่อง มันฉายภาพความเข้าใจในเชิงคอนเซปต์การเล่าเรื่องที่เฉียบขาด
ซึ่งจากทุกมุมมอง มันทำให้เราได้เห็นถึงการล่อเลี้ยงและเลี้ยงดูตัวตน ผ่านทางสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา ที่ฟูมฟักและกลายเป็นตัวตนของคน ๆ นึง ซึ่งสุดท้ายมันว่าด้วยแก่นเนื้อหา ต่อแก่นเนื้อหาของเรื่องราวอันลึกซึ้งและเข้มข้นทางอารมณ์ ที่มันว่าด้วยการค้นหามิติตัวตนของตนเอง ที่เริ่มตื่นรู้ในช่วงวัยเด็กนั่นเอง ทั้งจากความแตกต่างของสองครอบครัวอย่างครอบครัว มินาโตะ มุกิโนะ กับ โฮชิคาวะ โยริ
การนิยามหนังเรื่องนี้ว่า “Monster” (รวมถึง ผ่านการละเล่นของเด็กสองคนที่ตามหาว่ารูปบนหัวตัวเองนั้นคืออะไร) ช่วยให้เราได้เข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้หมดจดยิ่งขึ้น ว่าเรื่องทั้งหมดมันพูดถึง “การทำความเข้าใจ” นี่เอง ซึ่งความเข้าใจที่ว่า คือการทำความเข้าใจในสิ่งที่ไม่รู้ ผ่านมุมมองเรื่องราวทั้งสามมุม ที่แต่ละตัวละครก็ต่างมีความไม่เข้าใจบางอย่างต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการที่บางครั้ง เราก็ไม่เข้าใจในความรู้สึกหรือการกระทำของตนเอง
นี่เอง มันจึงมาถึงบทสรุปที่ชวนแตกสลาย แต่ไม่ได้อยู่ในน้ำเสียงฟูมฟายแต่อย่างใด หากแต่มันชวนบาดลึก ถึงครรลองสังคมญี่ปุ่น ที่ถูกวาดหวังไว้ถึงขนบสังคม “ปกติ” ที่ล่อเลี้ยงอยู่ในพื้นฐานของสถาบันครอบครัว และสถาบันระบบโรงเรียน ว่ามันกำลังทำร้ายตัวตนของคน ๆ นึงอย่างไร ซึ่งที่คนนั้นต้องการ ไม่ใช่การยกยอปอปั้นถึงตัวตนของคน ๆ นั้น หากแต่เป็นสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด นั้นคือ “การทำความเข้าใจ” เท่านั้นเอง
เพราะท้ายที่สุด หากไม่มีที่ทางที่ผู้คนจะยอมรับในตัวตนที่พวกเขาเป็น สุดท้ายพวกเขาก็จะไปยังในพื้นที่ ๆ จะมีแต่พวกเขาเข้าใจ และไม่อาจมีใคร มาตั้งกรอบแบบที่สังคม “ปกติ” มาขีดพวกเขาไว้อีก
สรุปแล้ว Monster คือหนังดราม่าของผู้กำกับ ฯ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ที่พาเราส่องผ่านเรื่องราวในแต่ละมุมมองสายตาสามมุมมอง ด้วยจังหวะการเล่าที่เหมือนค่อย ๆ มอบเศษจิ๊กซอว์ส่วนสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจภาพกว้างมากขึ้น ที่ว่าด้วยการตื่นรู้ในวัยเด็กอันแสนละเอียดอ่อน และชวนวิพากษ์ครรลองสังคมประเทศญี่ปุ่น ที่ถูกครอบด้วยกรอบอันปกติ และล่อเลี้ยงอยู่ในพื้นฐานของสถาบันครอบครัวและโรงเรียน ไปสู่บทสรุปทางอารมณ์ที่ซับซ้อนไม่ฟูมฟาย แต่ด้วยดนตรีประกอบของ ริวอิจิ ซากะโมโตะ ก็ชวนบาดลึกขึ้นไปอีก
สู่ดินแดนที่ไม่มีใครไปถึง...
4 / 5
Monster - 怪物 (2023)
Directed by Hirokazu Kore-eda
Written by Yuji Sakamoto

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา