อาราธนาศีลแต่รักษาศีลไม่ครบกับการที่เราไม่ได้อาราธนาศีลแต่ถือศีลครบ ​?

โยมถาม : กรณีที่เราอาราธนาศีล แต่รักษาศีลไม่ครบ กับการที่เราไม่ได้อาราธนาศีล แต่ถือศีลครบ แบบใดได้บุญมากกว่ากันครับ
พระอาจารย์ตอบ :
แบบแรก “อาราธนาศีล แต่รักษาศีลไม่ครบ” กรณีนี้ ก่อนอาราธนาศีลเราเกิดมโนกรรมความตั้งใจดี อาราธนาไปแล้ว เอ่ยด้วยเสียงเป็นวจีกรรมอันเป็นกุศลแล้ว แต่พอไปทำผิดศีล ไปฝืนความตั้งใจเดิม ทำให้ผิดศีลและเสียความตั้งใจ
แบบที่สอง “ไม่ได้อาราธนาศีล แต่ศีลครบ” กรณีนี้ เรามีโอกาสจะทำผิดศีล แต่ตัดสินใจไม่ทำ เพราะกลัวว่าจะผิดศีล หรือเผอิญนอนหลับอยู่ จึงไม่ได้มีโอกาสไปทำผิดศีล ไม่ได้ไปฆ่ามดแมลง ไม่ได้ไปชกต่อยทุบตีใคร ไม่ได้ไปลักขโมยใคร ไม่ได้ไปผิดลูกเมียใคร เพราะตนเองนอนอยู่ในบ้าน ไม่ได้ไปไหนกับใครเลย
อย่างนี้ศีลไม่ขาดโดยธรรมชาติธรรมดา แต่ถ้าศีลไม่ขาดโดยการกระทำ หมายถึง เมื่อมีสถานการณ์ที่จะนำพาให้เราทำผิดศีล แต่เราตัดสินใจไม่ทำ เช่น เพื่อนนำสุรามาให้ดื่ม แต่เราไม่ดื่มเพราะกลัวผิดศีล อย่างนี้มีน้ำหนักมากกว่า
ในกรณีที่เรามีโอกาสทำผิดศีล แต่เราตัดสินใจไม่ทำ แม้ว่าเราจะยังไม่ได้อาราธนาศีลก็ตาม แต่เราไม่ยอมทำเพราะกลัวผิดศีล อย่างนี้ได้บุญมากขึ้นไปอีก เพราะถือว่ามีความตั้งใจ แม้เราจะยังไม่ได้เอ่ยด้วยวาจารักษาศีลก็ตาม แต่เรามีมโนกรรม คือ มีความตั้งใจที่จะไม่ทำผิดศีล เพื่อนนำสุรามาให้ดื่ม แต่เราปฏิเสธไม่ดื่ม อย่างนี้แรงกว่าบุญจากการรักษาศีลมาก
ส่วนในกรณีที่เราไม่ได้ผิดศีล เพราะเราไม่ได้มีโอกาสจะไปทำผิดศีล เช่น นอนหลับอยู่บ้าน ไม่ได้ต้องตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ เพียงแต่ศีลเราไม่ได้ขาดเท่านั้นเอง อย่างนี้บุญเกิดขึ้นเบาบาง เพียงแต่ไม่ได้เกิดบาปจากการผิดศีลเท่านั้น สภาพใจเราเป็นกลาง ๆ ยังไม่ได้ตั้งใจจะรักษาศีลจริงจัง เพราะฉะนั้น บุญก็ยังไม่เกิดขึ้นมากมายนัก แต่เราไม่ได้ทำผิดศีล บาปจึงไม่เกิดเท่านั้น
ในกรณีคนที่ตั้งใจรักษาศีล 5 แต่ปฏิบัติจริงได้เพียง 4 ข้อ เผลอทำผิดศีลไป 1 ข้อ ก็ไม่เป็นไร คราวหน้าแก้ตัวให้ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างนี้ก็ได้บุญจากการตั้งใจรักษาศีล 4 ข้อ ถึงจะมีบาปที่เกิดจากการทำผิดศีล 1 ข้อ ก็ต้องดูว่าศีลข้อที่ขาดนั้นแรงเพียงใดด้วย
เช่น ผิดศีลมุสา มีเจตนาดี จะพูดปลอบใจเขา อยากให้เขาสบายใจ แต่เนื้อหาที่พูดนั้นไม่จริง เป็นต้น อย่างนี้บาปเบา หรือผิดศีลปาณาติบาตเพราะใช้มีดตัดคอวัว อย่างนี้บาปแรงกว่า เปรียบเทียบกันไม่ได้
เมื่อเราเข้าใจเงื่อนไขของแต่ละกรณีแล้ว เราก็จะสามารถวินิจฉัยได้ว่า แบบใดได้บุญ แบบใดได้บาป มากน้อยแตกต่างกันไป
เจริญพร.
โฆษณา