เวลาตักบาตรผมมักจะถวายเงินด้วย โดยใส่ลงไปในย่ามของพระสงฆ์ อย่างนี้จะบาปไหมครับ

หลายคนสับสนกันมากว่า การถวายปัจจัยแด่พระภิกษุสงฆ์ตอนตักบาตร หรือในงานพิธีต่าง ๆ ได้บุญหรือบาป ในทางพระวินัยนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติเมื่อมีเหตุเกิดว่า หากมีพระภิกษุกระทำสิ่งใดให้คนติฉินนินทา พระองค์จะทรงเรียกประชุมสงฆ์ แล้วบัญญัติพระวินัยขึ้น หากสถานการณ์เปลี่ยน บางครั้งก็ยกเลิกข้อห้ามเดิม เกิดอนุบัญญัติต่าง ๆ ขึ้นใหม่ได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยตามความจำเป็น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสภาพสังคม ซึ่งพระพุทธองค์รู้ว่า สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งด้าเทคโนโลยี ชีวิต ความเป็นอยู่ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารก็เปลี่ยนไปโดยตลอด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานนท์เมื่อตถาคตล่วงไปแล้ว หากสงฆ์หวังอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้” เพราะพระองค์รู้ว่าระเบียบ กติกา และกฎที่วางไว้เมื่อ 2,500 ปีก่อน ใช้ไปตลอดกาลไม่ได้ เพราะสังคมมีการเปลี่ยนแปลงโดยตลอด
1
กฎหมายถูกร่างขึ้นตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง จะให้ใช้ทุกข้อมาจนถึงปัจจุบันนั้นไม่ได้ ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ในสังคมเมื่อครั้งพุทธกาลไม่ได้ซับซ้อนอย่างในปัจจุบัน พระสงฆ์ไม่มีเงินทองก็สามารถอยู่ได้ เช่น ถ้าต้องการไม้ ก็ไปบอกโยมขอบิณฑบาตรไม้ เป็นต้น ที่สำคัญพระสงฆ์ในอดีตไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา
แต่ในยุคปัจจุบัน หากจะสร้างกุฏิ ศาลา วิหาร หรือโบสถ์ พระสงฆ์ไม่สามารถไปร้านวัสดุก่อสร้าง แล้วขอบิณฑบาตญาติโยมได้ หรือถ้าพระสงฆ์มีกิจสำคัญต้องเดินทางไปต่างประเทศ ก็ไม่สามารถขอบิณฑบาตรตั๋วโดยสารเครื่องบินกับสายการบินได้
ดังนั้น สภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีเหตุให้ความจำเป็นเกิดขึ้น ถ้าเราเข้าใจที่มาของพระวินัยและเจตนารมณ์ของพระวินัยแล้ว ก็จะสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
ยกตัวอย่าง วินัยสงฆ์ข้อย่อยเรื่องอภิสมาจาร พระสงฆ์เวลาเดิน ตาจะต้องทอดลงต่ำ สูงขึ้นมาไม่เกิน 3 เมตร แล้วให้เราลองคิดภาพตามว่า ถ้าเราต้องเดินข้ามถนนตามเมืองใหญ่ ๆ มองต่ำอย่างนี้อันตรายหรือไม่ จะมองซ้ายขวา ทันเห็นรถที่วิ่งมาด้วยความเร็วในระยะ 100 เมตร ทันหรือไม่
เมื่อครั้งพุทธกาลไม่มีรถยนต์ มีแต่เกวียน มองต่ำในระยะเพียง 3 เมตร นั้นไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน แต่ในปัจจุบัน รถวิ่งกันเร็วมากบนถนนหลวง เพราะฉะนั้น ต้องดูให้เหมาะสมกับสภาวะสังคมในขณะนั้นด้วย
เนื่องจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์ 500 รูป จึงมาประชุมกันเพื่อสังคายนาพระวินัย และพระธรรม ซึ่งเป็นที่มาของพระไตรปิฎกที่เราใช้กันในปัจจุบัน
ในครั้งนั้น เมื่อพระอานนท์แจ้งต่อพระอรหันต์ทั้ง 500 รูป ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตแล้ว ถ้าสังคมเปลี่ยน พระสงฆ์สิกขาบทเล็กน้อยแก้ไขได้ ไม่ได้เป็นการแก้ไขเรื่องหลัก ๆ อย่างอนุญาติให้พระสงฆ์แต่งงานได้ หรืออนุญาติให้พระสงฆ์ฆ่าคนได้ อย่างนี้ถือว่าเป็นปาราชิก เป็นสิกขาบทหนัก
3
ถึงคราวถามว่า ข้อใดถือเป็นสิกขาบทเพียงเล็กน้อย พระอรหันต์ทั้งหลาย 500 รูป ก็มีความเห็นไม่ตรงกัน พระอรหันต์กลุ่มแรกคิดเห็นว่า เว้นแต่สิกขาบทปาราชิก ที่เหลือถือเป็นสิกขาบทเล็กน้อยทั้งหมด สามารถแก้ได้ แต่พระอรหันต์กลุ่มที่สองไม่เห็นด้วย บอกว่าเว้นจากปาราชิกแล้ว ต้องยกเว้นสังฆาทิเสสที่เป็นอาบัติหนักรองลงมาด้วย ที่เหลือจึงถึงว่าเล็กน้อย พระอรหันต์กลุ่มที่สามบอกว่าต้องเว้นอนิยต 2 ข้อ ด้วย ส่วนพระอรหันต์กลุ่มที่สี่บอกว่า ต้องเว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 ข้อ ด้วย
พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อครั้นพุทธกาลมีมากเป็นแสนล้านรูป ในปีแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม มีพระอรหันต์มาประชุมกันมากถึง 1,250 รูป ในวันมาฆบูชา ผ่านไปอีก 45 ปี พระอรหันต์ก็ปรากฎขึ้นเป็นแสนล้านรูป แล้วคัดเลือกพระอรหันต์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดมา 500 รูป เพื่อร่วมกันสังคายนาพระไตรปิกฎ ท่านทั้งหลายก็ยังเห็นไม่ตรงกันเลย ทั้งหมดนี้ถูกการบันทึกอยู่ในพระวินัยปิกฎด้วย
สุดท้ายพระมหากัสสปะสรุปว่า เมื่อเห็นไม่ตรงกันอย่างนี้ พวกเราไม่แก้เลยจะดีกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างไร เราก็รักษาไว้อย่างนั้น ไม่ยกเลิกของเก่า ไม่สร้างของใหม่ พระอรหันต์ทั้งหมดก็รับรองเป็นเอกฉันท์ จึงเป็นแนวปฏิบัติที่เรายึดมาจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น พระวินัยไม่ได้ถูกแก้ แต่ในสภาวะสังคมที่เปลี่ยนไป คณะสงฆ์รู้หลักนี้อยู่แล้ว ถือพระวินัยเป็นหลัก คงไว้หมดทั้ง 227 ข้อ แต่สร้างความยืดหยุ่นในเชิงปฏิบัติได้ เช่น มองเกิน 3 เมตร ได้ถ้ามีความจำเป็น เป็นต้น เหล่านี้คือหลักปฏิบัติในชีวิตจริง และเป็นสิ่งที่คณะสงฆ์ยึดถือมานานกว่าสองพันกว่าปี ทำให้คณะสงฆ์มั่นคงจนถึงปัจจุบัน
หากย้อนกลับมาตอบคำถามว่า ทำไมพระอรหันต์ถึงเห็นไม่ตรงกัน ความจริงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งอยู่ในพระสูตร พระสุตตันตปิกฎ เป็นโลกุตรธรรมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอริยสัจมี 4 ข้อ สัปปุริสธรรมมี 7 ข้อ มงคลชีวิต มงคลสูตรมี 38 ข้อ สังคหวัตถุ 4 มี 4 ข้อ มรรคก็มีองค์ 8 ก็ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น พระอรหันต์ทุกรูปเห็นตรงกันหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์สอนเหมือนกันหมดเพราะเป็นโลกุตรธรรม
แต่เนื้อหาในพระวินัยปิกฎที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้เป็นโลกียสัตว์ บัญญัติขึ้นเพื่อให้หมู่สงฆ์อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุขงดงาม เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั้งหลายนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์บัญญัติพระวินัยไม่เท่ากัน บางยุคพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบางพระองค์ ไม่บัญญัติพระวินัยเลยแม้แต่ข้อเดียวก็มี เพราะคนในยุคนั้นกิเลสน้อย ไม่มีพระสงฆ์ไปทำเรื่องผิดพลาด จึงไม่ต้องบัญญัติพระวินัยเลยก็มี
หรือบางยุคก็มีพระวินัยบัญญัติไว้เพียง 4 ข้อ เท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในยุคนี้ บัญญัติวินัยสงฆ์มากถึง 227 ข้อ ก็ยังไม่มีการแก้ไขใด ๆ เลย พอเกิดเหตุจำเป็น ก็เรียกประชุมสงฆ์ใหม่ แล้วแก้ข้อบัญญัติเดิมให้เป็นอนุบัญญัติ
เหตุที่ว่าวินัยสงฆ์เป็นโลกียสัตว์ จึงต้องมีการแก้ไขเป็นระยะ ๆ ให้เหมาะสมกับสภาวะสังคมและความจำเป็น เพื่อให้ทั้งหมดอยู่ร่วมกันได้ วินัยสงฆ์จะเป็นตัวร้อยคณะสงฆ์ให้อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ไม่ได้มีไว้เพื่อให้เกิดความทุกข์ แต่มีไว้ให้อยู่ร่วมกันด้วยดี ความเอื้อเฟื้อต่อการฝึกตนให้มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน
พระวินัยปิฎกคือแหล่งคำสอน แหล่งความรู้อันทรงคุณค่ามหาศาล แต่ถ้าใครต้องการศึกษาให้เข้าใจว่า การดูแลหมู่คณะในสังคมต้องใช้วิธีการอย่างไรนั้น ให้ไปศึกษาวินัยปิฎก วิธีการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติคำสอนเพื่อแก้ปัญหาสังคม แม้จะเป็นในหมู่สังคมสงฆ์ก็ตาม ก็จะได้ข้อคิดรวมทั้งแนวทางเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นคำสอนที่มีคุณค่าต่อโลกอย่างมหาศาล
ถ้าเราเข้าใจความจริงว่า ธรรมชาติคำสอน คำบัญญัติในพระวินัยแตกต่างจากในพระสุตตันตปิกฎแล้ว ถามว่า เราถวายปัจจัยพระสงฆ์ผิดไหม ก็จะเห็นควรว่าท่านมีเหตุจำเป็นในยุคปัจจุบัน พอถวายไปแล้วเราก็ได้บุญ เพราะเราปฏิบัติด้วยความเข้าใจ และเกิดความสบายใจ
เจริญพร.
โฆษณา