19 ก.ย. 2023 เวลา 08:14 • อาหาร

ตำราอาหารเลิศรส โดย ม.ล.มานิตย์ มัทวพันธุ์

สวัสดีค่ะแฟนเพจทุกท่าน วันนี้จะมาแนะนำตำราอาหารดีๆอีกเช่นเคย ตำราเล่มนี้นอกจากจะมีสูตรอาหารชาววังที่น่าสนใจหลายเมนูแล้ว เมื่อได้อ่านประวัติเจ้าของหนังสือก็รู้สึกชอบมากค่ะ เลยคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับแฟนเพจทุกท่านที่ชอบสะสมตำราเก่าๆและเรื่องราวในอดีต
แอดมินเคยอ่านหนังสือชีวิตในวัง ของหม่อมหลวงเนื่องนิลรัตน์มาก่อน เมื่อได้อ่านประวัติของหม่อมหลวงมานิตย์ก็คิดว่า ท่านทั้งสองน่าจะเป็นข้าหลวงรุ่นเดียวกัน ในสำนักพระวิมาดาเธอฯ
(ขออนุญาติคัดลอกเนื้อหาบางตอน ของประวัติมาจากหนังสือมานะคะ)
หม่อมหลวงมานิตย์ มัทวพันธุ์ เป็นราชนิกูลในสายราชกุล “ ลดาวัลย์ ” เธอเป็นปนัดดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 3 พระองค์เจ้าลัดดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดีผู้ทรงเป็นต้นราชกุล เป็นธิดาคนที่ 2 ในจำนวนบุตรธิดา 7 คน ของหม่อมาราชวงศ์ ลดาวัลย์ มารดาชื่อเฟือง เกิดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พุทธศักราช 2460 ที่บ้านคุณพ่อ ณ ตำบลบางขุนพรหม
ในสมัยนั้นทั้งพระราชวงศ์และขุนนางที่มีธิดา หวังที่จะให้ธิดาของตนเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติแห่งกุลสตรี มักจะส่งธิดาเข้าไปถวายตัวเป็นข้าหลวงอยู่ในสำนักของเจ้านายชั้นสูง
เช่น ชั้นพระมเหสี หรือชั้นเจ้าฟ้าราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสำนักที่นิยมกันมากก็คือ "สำนักพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดดา" พระมเหสีชั้นพระอัครราชาเธอ ฯ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เพราะในสำนักนี้ท่านเลี้ยงข้าหลวง ไม่หมายแต่เพียงให้เป็นข้าช่วงใช้ท่าน
ท่านยังอบรมให้มีกริยามารยาทอ่อนช้อยงดงาม อบรมเกี่ยวกับการฝีมือนานาชนิด เช่น การเย็บปักถักร้อย การประดิษฐ์ดอกไม้สด ในรูปแบบต่างๆ เรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้สดนี้ พระวิมาดาเธอฯ ท่านทรงให้ข้าหลวงของท่านและสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงราชธิดาฝึกให้ทำได้ทุกคน
ทั้งนี้เพราะได้ทรงรับสนองพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตริย์ จัดทำดอกไม้ตกแต่งพระที่นั่งในการราชพิธี ตลอดจนตกแต่งสถานที่ตั้งพระศพเจ้านายชั้นสูงมาทำ โดยให้ข้าหลวงที่ทรงชุบเลี้ยงไว้ทุกคนช่วยกันทำนี้เอง จึงอาจจะกล่าวได้เต็มปากว่า ข้าหลวงในสำนักพระวิมาดาเธอ ฯ นั้นมีส่วนฉลองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยแทบทุกคน
หม่อมราชวงศ์มานพได้นำหม่อมหลวงมานิตย์ขึ้นมาถวายตัวเป็นข้าหลวง ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติแต่พระวิมาดาเธอฯ ท่านประทับตำหนักเดียวกัน
"ดังนั้นการเป็นข้าหลวงสมเด็จหญิง หรือข้าหลวงพระวิมาดาเธอ ก็ถือกันทั้งภายในและภายนอกวังว่าเป็นข้าหลวงสำนักเดียวกัน"
โดยเหตุที่พระวิมาดาเธอฯ ท่านเป็นธิดาในกรมหมื่นภูมินทร ภักดี ต้นราชสกุล “ลดาวัลย์” สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล ท่านจึงทรงกรุณาแก่หม่อมหลวงมานิตย์มาก ไม่ทรงถือว่าเป็นข้าหลวงสำหรับที่ท่านจะใช้สอยเพียงประการเดียว ได้ทรงชุบเลี้ยงไว้ในฐานะกึ่งญาติกึ่งข้าหลวง โปรดให้หม่อมหลวงเฉลียว ลดาวัลย์ ซึ่งมีฐานะเป็นพี่ร่วมสกลุ ซึ่งได้เป็นข้าหลวงในวังมาก่อนนานแล้ว เป็นพี่เลี้ยงดูแลสั่งสอนและอบรมกิริยามารยาทแก่หม่อมหลวงมานิตย์อีกต่างหาก
ดังได้กล่าวตอนต้นว่า ในสำนักพระวิมาดาเธอฯนั้น ท่านอบรมผู้เป็นข้าหลวงให้เป็นกุลสตรีมีฝีมือเย็บปักถักร้อย และประดิษฐ์ดอกไม้สดได้ด้วย แต่หม่อมมานิตย์มีความสนใจในการทำอาหารคาวหวานด้วย จึงฝึกปรือจนมีฝีมือในการทำอาหารคาวหวาน ซึ่งเป็นคุณประโยชน์การครองเรือนในกาลต่อมาเป็นอย่างมาก
เหตุที่หม่อมหลวงมานิตย์สนใจในเรื่องอาหารคาวหวาน ก็เพราะเมื่อเธอเข้าไปอยู่ในสำนักพระวิมาดาเธอฯนั้น เธอมีญาติผู้ใหญ่ซึ่งมีชื่อว่า มีฝีมือในการทำอาหารอยู่ในสำนักนั้นอยู่ก่อนแล้วคือ "ท่านเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ และหม่อมราชวงศ์บุญเอื้อ ลดาวัลย์ "ผู้เป็นอาของเธอเป็นผู้ควบคุมฝ่ายห้องเครื่อง เครื่องคาวหวานในสำนักพระวิมาดาเธอฯ อยู่ ท่านทั้งสองได้ให้คำแนะนำวิธีการประกอบอาหารคาวหวานแก่หม่อมหลวงมานิตย์ จนสามารถประกอบอาหารคาวหวานได้ดีมีฝีมือในระดับแม่ศรีครัวคนหนึ่ง
เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่หม่อมหลวงมานิตย์ได้อยู่ในสำนักพระวิมาดาเธอฯได้ไม่เท่าไหร่ สถานการณ์บ้านเมืองของเมืองไทยก็เปลี่ยนไป
หนังสือเล่มนี้เป็นอนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพของ หม่อมหลวงมานิตย์ (ลดาวัลย์) มัทวพันธุ์
ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันพุธที่ 28 มิถุนายน 2532
โฆษณา