21 ก.ย. 2023 เวลา 05:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เกาหลีใต้จับมือสหรัฐฯ ทำแผนที่ขั้วใต้ดวงจันทร์ เตรียมจุดลงจอดอาร์ทีมิส 3

ขั้วใต้ของดวงจันทร์ คือดินแดนที่กำลังเต็มไปด้วยการแข่งขันจากชาติมหาอำนาจอย่างดุเดือดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าในบริเวณนี้มีน้ำแข็งฝังกลบอยู่ในหลุมอุกกาบาตเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์และเริ่มการแสวงหาทรัพยากรสินแร่อื่น ๆ ได้ ไม่ต่างอะไรไปจากน้ำมันอวกาศ
ล่าสุดทางองค์การนาซาได้ริเริ่มนำข้อมูลจากยาน Lunar Reconnaisance Orbiter หรือ LRO ซึ่งดาวเทียมที่ประจำการอยู่บนวงโคจรของดวงจันทร์มาตั้งแต่ปี 2009 มารวมกับ Korea Pathfinder Lunar Orbiter ดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์ลำใหม่ของเกาหลีใต้ มาสร้างเป็นแผนที่ขั้วใต้ดวงจันทร์ที่มีความละเอียดสูง
โดยในแผนที่ฉบับเต็มนั้น เราจะสามารถเห็นแคนดิเดตจุดลงจอดของภารกิจอาร์ทิมิส 3 ของนาซา ที่จะนำพามนุษย์หวนคืนสู่ดวงจันทร์อีกครั้งช่วงปี 2025 ได้อย่างชัดเจน ซึ่งมีการคัดเลือกจุดลงจอดให้อยู่ใกล้กับหลุมอุกกาบาตขนาดราว 1/4 ของกรุงเทพฯ ที่มีชื่อว่า แชคเกิลตัน (Shackleton)
แผนที่ขั้วใต้ดวงจันทร์ฉบับเต็ม ซึ่งเราจะสามารถเห็นหลุมอุกกาบาตแชคเกิลตันทางด้านขวาได้อย่างชัดเจน (คงได้จำชื่อนี้ไปอีกนาน พอ ๆ กับทะเลแห่งความเงียบสงบ)
แต่ถึงแม้แผนที่จะทำมาดีแค่ไหนการลงจอดบนขั้วใต้ดวงจันทร์ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายเหนือคณานับ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยแอ่งหลุมและเนินเขาสูงชันที่สลับไปมา ไม่เหมือนกับจุดลงจอดของภารกิจต่าง ๆ ในโครงการอะพอลโลเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ที่มักเป็นที่ราบเรียบเสียมากกว่า
หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2022 ยานอวกาศจันทรายาน 2 ของอินเดีย ซึ่งเป็นภารกิจแรกที่ได้ประสบความล้มเหลวในการลงจอดบริเวณขั้วใต้
ก่อนที่จะตามมาด้วยความล้มเหลวของ iSpace บริษัทเอกชนสัญญาติญี่ปุ่น ในเดือน เมษายน ปี 2023 และภารกิจ Luna 25 ของรัสเซียในเดือนสิงหาคม
จนกระทั่งอินเดียก็ได้กลายเป็นชาติแรกที่สามารถลงที่ขั้วใต้ดวงจันทร์ได้สำเร็จด้วยภารกิจจันทรายาน 3 ในวันที่ 23 สิงหาคม
ซึ่งใครจะไปคิดว่าในอีกไม่เกิน 2 ปีหลังจากนี้ขั้วใต้ของดวงจันทร์จะไม่ได้มีแค่หุ่นยนต์อีกต่อไป
โฆษณา