27 ก.ย. 2023 เวลา 11:51 • ประวัติศาสตร์

เผ่า ศรียานนท์ ผู้เปลี่ยนประเทศไทยให้เป็น "รัฐตำรวจ"

ช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับ "วงการตำรวจ" ในบ้านเรา กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงอย่างมาก
วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับนายตำรวจท่านหนึ่ง ที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2490 และเป็นผู้ปฏิรูปตำรวจไทยให้มีแสนยานุภาพเทียบเท่าทหาร จนได้รับขนานนามยุคนั้นว่าเป็น "รัฐตำรวจ" ท่านผู้นี้คือ "พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์"
พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2453 ที่ย่านบางขุนพรหม เผ่าจบการศึกษาในระดับมัธยมจากโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ต่อมาได้จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก (โรงเรียนนายร้อย จปร.)
เผ่าเข้ารับราชการทหารครั้งแรกในปี พ.ศ.2474 เผ่ามีความสนใจในการปฏิวัติสยามของคณะราษฎรเป็นอย่างมาก ถึงตัวเผ่าจะไม่ได้เข้าร่วมก่อการก็ตาม แต่เผ่าก็ได้มีโอกาสได้พบกับ "ปรีดี พนมยงค์" ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน
ต่อมาในปี พ.ศ.2481 เผ่าได้เป็นนายทหารคนสนิทของ "จอมพล ป.พิบูลสงคราม" เรียกได้ว่าเผ่าเป็นลูกน้องที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อตัวจอมพล ป. เป็นอย่างมาก
พลตำรวจเอก เผ่า สมัยรับราชการทหาร
เมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปีพ.ศ.2482 มีการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองครั้งใหญ่ และตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีกบฎ เผ่าก็ได้เป็นพยานในช่วงที่มีการลอบสังหารจอมพล ป. ถึงสามครั้ง (พ.ศ.2477-พ.ศ.2481) ทำให้จำเลยต้องถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าถึง 18 ราย จำเลยที่เหลือถูกจำคุกตลอดชีวิต ต่อมาจำเลยที่ถูกจำคุกได้รับการนิรโทษกรรมในภายหลัง
จอมพล ป. ปกครองประเทศด้วยนโยบายชาตินิยมที่สุดโต่ง มีการประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย พร้อมออกประกาศรัฐนิยมหลายฉบับ ต่อมาเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน และสงครามมหาเอเชียบูรพาซึ่งไทยเข้าร่วมฝ่ายอักษะ ในขณะเดียวกันเผ่าก็ยังมียศมีตำแหน่งขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เจ้ากรมเสมียนตรา เจ้ากรมเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหม เมื่อจอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2487 เผ่าก็ได้ลาออกจากราชการทหารด้วยเช่นกัน
8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เกิดรัฐประหารโดยคณะของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ เผ่าก็เป็นหนึ่งในผู้ก่อการรัฐประหารด้วย ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ส่วนเผ่าก็ได้กลับเข้ามารับราชการพร้อมโอนย้ายเข้าสังกัดกรมตำรวจ
ช่วงทศวรรษนี้ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ มีอิทธิพลทางการเมืองและตำรวจเป็นอย่างมาก ซึ่งได้รับการขนานนามยุคนั้นว่าเป็น "รัฐตำรวจ" หรือ "อัศวินผยอง" เพราะพลตำรวจเอกเผ่าได้ปฏิรูปกรมตำรวจให้มีแสนยานุภาพอันเกรียงไกรเทียบเท่ากับทหาร
ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง
พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์
อีกทั้ง พล.ต.อ. เผ่า มักจะบำเหน็จรางวัลแก่นายตำรวจคนสนิทที่ทำความดีความชอบด้วยการมอบ "แหวนอัศวิน"
พล.ต.อ. เผ่า มีนโยบายในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่เด็ดขาด จนได้รับการยกย่องจากสื่อต่างชาติว่าเป็น "บุรุษแห่งเอเชีย"
หลังจากการรัฐประหารที่ไม่สำเร็จแล้วกลายเป็นกบฎที่เรียกว่า "กบฎวังหลวง" ในปี พ.ศ.2492 เกิดการกวาดล้างกลุ่มนักการเมืองของสายปรีดี พนมยงค์ ทั้งกรณีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี การสูญหายของเตียง ศิริขันธ์และพรรคพวก การสูญหายของหะยีสุหลง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของตำรวจภายใต้บังคับบัญชาของเผ่า อีกทั้งเผ่ายังได้ชุบเลี้ยงพวกนักเลงอันธพาลไว้ในสังกัดของตนเอง ยุคนั้นก็ยังเป็นยุคของ "อันธพาลครองเมือง" ด้วยเช่นกัน
ว่ากันว่า พล.ต.อ. เผ่า อยู่เบื้องหลังเรื่องของการค้าฝิ่น และธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ จากการเล่นข่าวโจมตีของสื่อในสมัยนั้น
ในช่วงทศวรรษ 2490 นี้เอง ยังเป็นยุคที่เกิดการชิงดีชิงเด่นกันของทั้งสามผู้นำทางการเมืองอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรียกได้ว่าเป็น "ยุคการเมืองสามเส้า"
พ.ศ.2498 มีการจัดตั้ง"พรรคเสรีมนังคศิลา" ขึ้น ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาพรรค
พรรคเสรีมนังคศิลา ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 จนเรียกได้ว่าเป็น "การเลือกตั้งสกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์" มีการใช้กลโกง ใช้การข่มขู่หลากสารพัดวิธี ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงโดยกลุ่มนักศึกษาและประชาชน รัฐบาลมีการเตรียมการเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุม ต่อมาจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้าไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างสันติ โดยไม่มีการปราบปรามเกิดขึ้น
จากการประท้วงเลือกตั้งสกปรก ค่อยๆ บานปลายเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างจอมพลสฤษดิ์กับจอมพล ป. และพล.ต.อ. เผ่า สุดท้ายแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของจอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่าได้สำเร็จในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ปิดฉากเส้นทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อย่างสิ้นเชิง
พร้อมทั้งปิดฉากยุคอัศวินผยอง และยุคการเมืองสามเส้าไปพร้อมๆ กัน
พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตราบจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 ด้วยวัยเพียง 50 ปี ว่ากันว่า พล.ต.อ. เผ่า นั้นมีทรัพย์สินมากมาย และมีคฤหาสน์สุดหรูหราอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ชื่อของเผ่าติดอันดับมหาเศรษฐีในนิตยสารต่างประเทศฉบับหนึ่งในขณะนั้น
พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ระหว่างไปราชการที่จังหวัดน่าน
โฆษณา