2 ต.ค. 2023 เวลา 16:14 • ประวัติศาสตร์

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กษัตริย์อยุธยาที่สวรรคตเพราะ "ดาวหางฮัลเลย์"

ดาวหางฮัลเลย์ เป็นปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ที่มักจะเกิดขึ้นทุกๆ 75 ปี ว่ากันว่าดาวหางฮัลเลย์มักจะสื่อถึงความรักที่ซื่อสัตย์ การรอคอย เหมือนเพลงฮิตล้านวิว หรือสื่อถึงลางร้ายหายนะที่กำลังจะเข้ามา และดาวหางฮัลเลย์ก็มีความเชื่อมโยงกับการสูญเสียบุคคลสำคัญ อย่างเช่น สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น
ในวันนี้เราจะเล่าถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งหากใครได้ดูหนังเรื่อง "สุริโยไท" จะค่อนข้างคุ้นชื่อกันดี อีกทั้งในยุคนี้เป็นยุคที่มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตกเป็นครั้งแรกด้วย
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิของกรุงศรีอยุธยา พระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ.2015 มีพระนามเดิมว่า "พระเชษฐา" เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประสูติแต่เจ้านายสตรีในราชวงศ์พระร่วงของสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ผู้เป็นพระเชษฐาธิราช (พี่ชาย) สวรรคต พระองค์เสด็จลงมาจากเมืองพิษณุโลกมารับราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2"
ใน "คำให้การชาวกรุงเก่า" เรียกอีกพระนามว่า "สมเด็จพระพันวษา" ซึ่งน่าจะเป็นเค้าโครงของวรรณคดีไทยยอดนิยมอย่าง "ขุนช้างขุนแผน" ที่แต่งขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 2)
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสีและพระสนมถึงสามพระองค์ จากที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานไว้ดังนี้
  • 1.
    สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร)
  • 2.
    สมเด็จพระไชยราชาธิราช (คำให้การชาวกรุงเก่าเรียก พระปรเมศวร)
  • 3.
    สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระเฑียรราชา)
วัดพระศรีสรรเพชญ์
วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดประจำพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา สร้างโดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชบิดาของพระองค์ เพื่อใช้สำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ โดยที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา หลังจากกรุงศรีอยุธยาล่มสลายในปี พ.ศ.2310 ได้ยึดคติการสร้างวัดในพระราชวังหลวง มาเป็นต้นแบบของพระราชวังหลวงในกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมภายในวัด เช่นพระเจดีย์องค์ใหญ่สององค์ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระเชษฐาของพระองค์ พระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดา และในสมัยสมเด็จฯ หน่อพุทธางกูร ได้สร้างเจดีย์องค์ที่สามสำหรับรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ด้วย
อีกทั้งพระองค์ยังได้สร้างพระวิหารหลวงพร้อมกับพระประธานภายในพระวิหาร มีนามว่า "พระศรีสรรเพชญดาญาณ" และมีการฉลองสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ ปัจจุบันชิ้นส่วนพระศรีสรรเพชญดาญาณที่ถูกทำลายเมื่อคราวพม่าตีกรุงศรีอยุธยา ถูกอัญเชิญลงมาที่กรุงเทพฯ พร้อมกับสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้ที่วัดโพธิ์ ชิ้นส่วนพระเศียรจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวถึงการสร้างพระศรีสรรเพชญดาญาณ ความว่า
ศักราช ๘๖๒ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๔๓) สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า แรกให้หล่อพระพุทธเจ้าศรีสรรเพชญ์ แลแรกหล่อในวัน ๑๘๖ ค่ำ ครั้นเถิงศักราช ๘๖๕ กุนศก (พ.ศ. ๒๐๔๖) วัน ๖๑๑๘ คํ่าฉลองพระพุทธเจ้าพระศรีสรรเพชญ์ คณนาพระพุทธเจ้านั้น แต่พระบาทเถิงยอดพระรัศมีนั้น สูงได้ ๘ วา พระพักตร์นั้นยาวได้ ๔ ศอก กว้างพระพักตร์นั้น ๓ ศอก แลพระอุระนั้นกว้าง ๑๑ ศอก แลทองหล่อพระพุทธเจ้านั้นหนัก ๕ หมึ่น ๓ พันชั่ง ทองคำหุ้มนั้นหนักสองร้อยแปดสิบหกชั่ง ข้างหน้านั้นทองเนื้อ ๗ น้ำสองขา ข้างหลังนั้นทองเนื้อ ๖ น้ำสองขา
หลังจากที่ อัลฟอนโซ ดาลบูเคิร์ก แม่ทัพใหญ่ของโปรตุเกส ยกทัพตีมะละกาได้ในปี พ.ศ.2054 ได้มีการส่งทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปกครองโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ต่อมาทั้งโปรตุเกสและไทยได้มีการส่งทูตติดต่อกันมาโดยตลอด ทำให้มีชาวโปรตุเกสเริ่มเข้ามารกรากตั้งถิ่นฐาน ทำค้าขาย รับราชการในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่บัดนั้นมา โปรตุเกสจึงเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่มาเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย
ด้านการทหาร ได้มีการทำสงครามกับมะละกา สงครามกับล้านนา ในขณะนั้นล้านนาปกครองโดย "พญาแก้ว" อีกทั้งยังได้มีการแต่งตำราพิชัยสงคราม การจัดระเบียบกองทัพ จัดตั้ง "กรมพระสุรัสวดี" เพื่อดูแลรับผิดชอบด้านการเกณฑ์ไพร่พลเข้ารับราชการทหาร และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สงคราม
พ.ศ.2072 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เสด็จเข้าหอพระ ในคืนนั้นเกิดปรากฎการณ์ "ดาวหางฮัลเลย์" พุ่งชนโลกด้วยพอดี พระองค์จึงเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวไว้ว่า
ศักราช ๘๙๑ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๐๗๒) เห็นอากาศนิมิตรเป็นอินท์ธนูแต่ทิศหรดี ผ่านอากาศมาทิศพายัพมีพรรณขาว วันนั้น ๑๘๑๒ คํ่า สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า เสด็จพระที่นั่งหอพระ ครั้นคํ่าลงวันนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระอาทิตยเจ้าเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต (เยเรเมียส ฟาน ฟลีต) สรุปเรื่องราวในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ความตอนหนึ่งว่า
" พระองค์ทรงกล้าที่จะเสด็จเข้าไปในหมู่ศัตรูโดยที่ไม่มีอาวุธ พระเจ้าแผ่นดินและเจ้าชายหลายพระองค์จากปัตตานี รัฐเคดาห์ รัฐเปรัคและอื่นๆ ได้เสด็จมาเยี่ยมเยือนพระองค์และถวายตนภายใต้เบื้องยุคลบาทด้วยความเต็มพระทัย
พระองค์ทรงเป็นนักรบโดยกำเนิด ทรงมีพระปรีชาสามารถและเห็นการณ์ไกล ทรงไว้ซึ่งพระเมตตา ทรงห่วงใยทหาร พสกนิกรและส่งเสริมศาสนา พระองค์ทรงปฏิบัติอย่างดีต่อพวกพราหมณ์ ทรงสร้างและปรับปรุงเมืองหลายเมือง วัดแลอาราม รวมทั้งที่อยู่ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและคนยากจน โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทรงไม่ได้ขอเงินอุดหนุนจากผู้อื่นเลย
พระองค์ทรงรักที่จะมีไมตรีกับชาวต่างประเทศ ได้ส่งคณะทูตหลายคณะออกไปเจริญสัมพันธไมตรีเชื้อเชิญประเทศต่างๆ ให้เข้ามาติดต่อกับแผ่นดินของพระองค์ พระองค์ทรงชอบชาวต่างประเทศและได้ทรงแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพและความนิยมต่อพวกเขาเป็นพิเศษ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้บุคคลใดได้รับความเดือดร้อนจากการถูกรังแกจากการที่จะต้องเสียเงินเกินกว่าเหตุและจากการถูกโกง
พระองค์ได้ออกพระราชบัญญัติต่างๆ และไม่ทรงต้องการให้ใครฝ่าฝืน เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอย่างระมัดระวัง ดังนั้นชาวต่างประเทศจึงเดินทางออกจากเมืองสยามด้วยความพึงพอใจ "
ดาวหางฮัลเลย์
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
โฆษณา