11 ต.ค. 2023 เวลา 06:27 • ไลฟ์สไตล์

_ต้องสู้แม้จะไม่ชนะ_EP2

วันนี้ขอบันทึกเรื่องการเอาชีวิตรอดเรื่องการเงินของตัวเองละกันนะ ตัวเราในปัจจุบันมีความคิดว่าวิธีทางการเงินแบบที่กำลังจะพิมพ์นี้น่าจะนำพาชีวิตเราให้รอดไปได้ในอนาคต แต่ถ้าอนาคตมันไม่รอด นั้นแสดงว่าวิธีนี้มันไม่รอดนั้นแหละ
จากการที่ได้รับรู้เรื่องการเงินมาบ้างเล็กน้อย แม้จะไม่ได้โดดเด่นอะไรจนสามารถเป็นผู้นำทางความรู้ด้านเศษฐกิจในองค์กรได้ แต่ก็ได้พอศึกษาแบบฉาบฉวยมานิดหน่อย จากโค้ทต่าง ๆ และจากเพลย์ลิสต์ในยูทูปมาอีกนิดหน่อย ซึ่งหลัก ๆ ก็จะมีเรื่องการออม การลงทุน และการวางแผนทางการเงิน ซึ่งวันนี้คงจะเล่าแบบองค์รวมว่าได้ทำอะไรบ้างในช่วงที่พิมพ์นี้ ซึ่งในอนาคตวิธีการนี้อาจะไม่นิยมแล้ว หรืออาจจะเป็นวิธีที่ผิด แต่ในปัจจุบันตัวเราเลือกว่ามันเข้ากับเราที่สุดแล้ว
ขั้นแรกของการจะวางแผนการเงินของตัวเอง เราก็เริ่มจากการรวบรวมหาข้อมูลก่อน ซึ่งก็ได้มาจากหลายแห่ง แต่ก็จะมีการกล่าวรวม ๆ เหมือน ๆ กันคือการวางแผนเรื่อง รายรับและรายจ่ายนั้นแหละ เราต้องรู้ว่ารายรับมีอะไรบ้างและรายจ่ายเรามีอะไรบ้าง ให้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายซักสองสามเดือนก่อนว่ามีรายจ่ายตรงไหนที่เราจะตัดออกได้ ซึ่งจะสังเกตว่ามันจะซ้ำ ๆ กันทุกเดือนเช่น ของตัวเราในตอนนี้เราค่อนข้างจะหนักไปทางกินกาแฟนะ เราต้องลดลงบ้างนะ เพราะกาแฟที่กินแก้วละห้าสิบถึงหกสิบบาทมันก็ยังถือว่าไม่แพงหรอกแต่มันมี "ค่าแฝง"
ค่าแฝงที่เกิดขึ้นบางทีมันก็มหาศาลกว่าค่ากาแฟที่ไปกินด้วยซ้ำ แม้ว่าเราจะไม่ได้กินกาแฟแบรนด์ดังระดับราคาแก้วเกือบสองถึงสามร้อยบาท แต่ไอ่ค่าแฝงนี้หละที่คิดว่าอันตราย ตัวอย่างเช่น ค่าน้ำมันในการเดินทางไปกินกาแฟที่ร้าน หรือค่าของที่พลั้งเผลอใจหยิบจับจนต้องซื้อ หรืออื่น ๆ ที่มักเกิดขึ้นในการเดินทางไปและกลับนั้นเอง ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถเลี่ยงได้และเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าจะเลี่ยงก็คือการไม่ต้องออกไปกิน ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างดิบเถื่อนต่อจิตใจ แต่ก็เด็ดขาดและได้ผลแรงเช่นกัน
เมื่อเรารู้ค่าใช้จ่ายที่สามารถตัดลดได้แล้ว เราก็เริ่มมาดูองค์รวมของหนี้สินและสินทรัพย์ พร้อมกับการวางเป้าหมายที่จะเดินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเพื่อให้ง่ายในการจัดทำรายรับรายจ่ายตรงนี้เราก็ต้องมีผู้ช่วยในการบันทึกข้อมูลเหล่านี้ โดยหลักเกณฑ์ในการหาผู้ช่วยก็คือ ต้องไปกับเราได้ทุกที่ และต้องสะดวกในการทำรายการ ซึ่งก็คงไม่พ้นแอพพลิเคชัน ในโทรศัพท์ ซึ่งมันก็มีมากมายหลากหลายแอพ แต่ที่เลือกใช้คือแอพของ SET ทีชื่อ Happy Money ซึ่งเป็นแอพที่ค่อนข้างน่าสนใจ แต่ก็มีความซับซ้อนในการใช้งานอยู่
แอพช่วยวางแผนการเงินของ SET ที่ชื่อ Happy Money
สำหรับแอพนี้ ก็ต้องบอกว่าดีนะ เพราะมีอินเตอร์เฟซที่ค่อนข้างสะอาดตา และดูน่ารัก แต่สิ่งที่ทำให้ใช้งานได้ไม่บ่อยคงเพราะมันยุ่งยาก ซึ่งความยุ่งยากในที่นี้ก็คงไม่พ้นการกดบ่อย ๆ ในการจะบันทึกค่าใช้จ่ายใดใด เพราะมันต้องตั้งค่า กดหลายรอบ และค่อนข้างจะซับซ้อนในการเข้าไปหาบางไอคอนที่เราต้องการ แม้จะมีการมอบฟังชั่น "ใช้ประจำ" ที่จะบันทึก รายการที่เรามักจะใช้อยู่บ่อย ๆ แยกออกมาไว้ให้เรียกกดได้ง่าย แต่มันก็ยังต้องกดซับซ้อนหลายรอบอยู่ดี
แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันใช้ได้ดีที่สุดเท่าที่ได้เคยใช้มาแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับแอพพลิเคชันอื่น ๆ ที่มีให้โหลด แอพพิเคชั่นนี้คงเป็นตัวที่ดูสมดุลที่สุดแล้วเท่าทีมี ไม่จืดชืดเกินไป มีลูกเล่น แต่ก็มีความครบครันและซับซ้อนนิดหน่อย ซึ่งอาจจะยุ่งยากในการกดหลายรอบไปบ้าง แต่ก็ดีกว่าอีกหลายตัวที่ได้ลอง ๆ มา
ตอนนี้เมื่อเรารู้ความเคลื่อนไหวของเงินเราแล้วขั้นต่อไปก็คือการจัดการเงินทั้งหมดว่ามันมาทางไหน และมันต้องไปทางไหน ค่าใช้จ่ายส่วนไหนต้องจ่ายประจำและค่าใช้จ่ายส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่สามารถลดหรือตัดได้ก็ค่อยตัดออกไป ซึ่งตอนนี้ เมื่อเราได้ข้อมูลทั้งหมด ก็เอาเงินในส่วนที่เหลือจากการบริหารหนี้สินมาคิดเอาเป็นเงินใช้จ่ายรายวัน ซึ่งจากที่ดูคลิปมา เขาให้คิดเงินรายวันด้วยวิธีหารสี่สิบห้าวัน คือสามารถใช้เงินเดือนก้อนนี้ได้สี่สิบห้าวันไม่ใช่หมดในสามสิบวัน
โดยตอนนี้เราจะเหลือเงินใช้แค่วันละหนึ่งร้อยสิบเอ็ดบาทเท่านั้น ซึ่งถ้าลองคิดดูว่าพอไหม สำหรับคนอื่นอาจจะไม่พอแน่ ๆ แต่ถ้าสำหรับคนที่กินข้าวแค่วันละ หนึ่งมื้อแบบเราก็ถือว่ายังสามารถเอาชีวิตรอดได้อยู่ โดยในหนึ่งวันก็แค่หมดค่าข้าวไป ห้าสิบ ถึง หกสิบบาทเท่านั้น แล้วก็เหลือเงินจากนั้นไว้ออมต่อไป แต่หากมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินอื่นเกิดขึ้นก็จะดึงเอาเงินเก็บอีกก้อนออกมาใช้ก่อน ซึ่งเรียกว่าเป็นเงินสำรองที่เหลือมาจากเงินรายวัน กับเงินหนี้สิน แล้วเหลือก้อนนี้อยู่
การจัดการเงินรายวัน โดยใช้วันละหนึ่งร้อยบาท ส่วนต่างสิบเอ็ดบาท หักไปสี่สิบห้าวันก็แยกไว้เป็นกองทุนสำรองฉุกเฉิน (ถ้าทบหลายเดือนก็หลายบาทนะ)
หลังจากผ่านเดือนแรกไปก็ขอยอมรับว่าเครียสมากเพราะการสร้างวินัยการเงินที่ค่อนข้างตึงแบบนี้ แม้ในระยะยาวเราจะรู้ว่ามันจะค่อย ๆ เบาลงจากการพยายามออมเพื่อช่วยโปะเงินค่าบัตรกดเงินสดให้ลดลงจากอัตราดอกเบี้ย แต่ระหว่างเดินไปสู่จุดหมายการปลดหนี้ มันไม่อาจคลายกังวลได้เลย ยิ่งหนี้ก้อนโต กับเงินรายรับที่น้อย และการพยายามกระเบียดกระเสียรเงินให้ต้องมีออมมากขึ้นให้ได้มันส่งผลให้เราไม่อาจเอาเงินไปซื้อความสุขได้เลย เป็นอันว่าเราแลกการซื้อความสุขเล็ก ๆ กับการมีเงินออมไปปิดหนี้มากขึ้น
ปริมาณความสุขระยะสั้นลดลง แต่ระยะทางไปเจอความสุขก้อนใหญ่ใกล้ขึ้น
ฉันกล่าวปลอบใจตัวเอง
หลังจากผ่านเดือนแรกมาได้ก็เข้าสู่เดือนที่สอง สิ่งที่ได้มาคือมียอดจ่ายโปะบัตรกดเงินสดเพิ่มขึ้นและมีเงินเหลือพอจะลงทุนในหุ้น แต่เป็นการลงทุนในลักษณะซื้อ ETF ที่มีลักษณะเป็นเหมือน กองทุนรวมผสมหุ้น ซึ่งตอนนี้มีอยู่ สิบสาม ตัว โดยในเดือนที่ผ่านมามีเงินเก็บได้ หนึ่งพันสี่ร้อยบาท เลยมีทั้งเงินในการโปะบัตรกดเงินสดและมีเงินลงทุนในหุ้นบ้าง มาถึงจุดนี้คิดว่า ถ้าหากทำแบบนี้ไปอีกเรื่อย ๆ ก็คงจะหมดหนี้บัตรในประมาณ ห้าถึงหกปีได้ แต่ก็คงด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ไม่อาจทำให้เราโปะปิดบัตรได้ในไม่กี่เดือน
เริ่มต้นเดือนที่สอง ผ่านมาสองสัปดาห์หลังเงินเดือนข้าราชการออก
แม้ว่าในทุกคืนวันที่ผ่านไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการกระเบียดกระเสียรเงินเพื่อให้ตัวเองพ้นทุกข์ให้ไวที่สุด แต่ในใจลึก ๆ ก็รู้สึกเสียดายดอกเบี้ยทุกบาททุกสตางค์ที่สูญเสียไปในแต่ละเดือน เพราะถ้ามานั่งคิดให้ดีจริง ๆ จะเห็นว่าหนี้ที่เกิดจากบัตรกดเงินสดทั้งหมดนี้ จะสิ้นสุดลง เงินดอกเบี้ยที่จ่ายไปทุกเดือนก็คงเติบโตเป็นเงินอีกก้อนที่ใหญ่กว่าเงินต้นที่เคยกดยืมมา
หากในอนาคตตัวฉันกลับมาอ่านอีกรอบ ขอให้จงรับรู้เอาไว้ว่าทุกวินาทีของการเป็นคนมีความรับผิดชอบต่อหนี้ที่เกิดมาช่างยาวนานและเจ็บปวดเสมอ ฉะนั้น อย่าเป็นหนี้อีกเลยนะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา