14 ต.ค. 2023 เวลา 04:31

อินทรธนูข้าราชการ ใส่กันถูกหรือไม่

/// เคยเห็นอินทรนูข้าราชการกันไหมครับ เคยสงสัยไหม หากต้องใส่ จะใส่ถูกด้านไหมครับ ผมเคยเห็นคนที่เพิ่งบรรจุข้าราชการครั้งแรกลงคลิปใน Tiktok แล้วใส่ผิดด้าน ใส่สลับด้านซ้ายขวากัน บทความนี้เลยจะมาเล่าความรู้เกี่ยวกับอินทรธนูและการใส่ให้ถูกกันครับ
/// อินทรธนู อ่านว่า (อิน-ทะ-นู) มาจากคำว่า อินทร (อ่านว่า อิน-ทะ-ระ) สมาสกับคำว่า ธนู แปลตรงตัวคือ ธนูของพระอินทร์ หรือ แถบสีรุ้ง  ใช้เรียกเครื่องประดับบ่าของตัวละครตัวพระและตัวยักษ์ ซึ่งเป็นรูปโค้งงอขึ้นไป โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้ใช้คำว่า อินทรธนู สำหรับเรียกเครื่องประดับบ่าเพื่อแสดงยศของทหาร ตำรวจ เสือป่า ลูกเสือ เป็นต้น  เครื่องประดับบ่าอย่างนี้เดิมเรียกกันต่าง ๆ เช่น บ่า บ่ายศ หรือกำมะหยี่ติดบ่า   ปัจจุบันเรียกว่า อินทรธนู หรือ บ่า [*1]
/// แม่ผมเคยเล่าให้ฟังว่า บางคนเรียกอินทรธนูข้าราชการ ว่า หู
กระทะ เพราะมีลักษณะขมวดเป็นวงคล้ายหูกระทะ
/// อินทรธนูข้าราชการพลเรือนปกติแล้วมีรูปแบบพื้นฐานคือ แถบตรง และแถบขมวด ซึ่งแถบตรงแยกเป็น 2 แบบ คือแถบใหญ่และแถบเล็ก ขึ้นอยู่กับระดับของข้าราชการนั้นว่าจะมีจำนวนแถบกี่แถบ เช่น 1 แถบเล็ก (ถ้ามีเพียง 1 แถบจะใช้แถบขมวด) หรือ 2 แถบ หรือ 3 แถบ หรือ 1 แถบใหญ่ประกอบ 1 แถบเล็ก (1 แถบเล็กกรณีนี้จะใช้แถบขมวด) โดยไม่ว่าจะมีกี่แถบ แถบด้านบนสุดที่อยู่ติดด้านศีรษะจะเป็นแถบขมวด แถบที่เหลือไปทางด้านไหล่จะเป็นแถบตรง
/// สันนิษฐานว่าน่าจะรับแถบขมวดมาจากอังกฤษ เพราะอังกฤษใช้แถบขมวดในกองทัพเรือมานานแสนนานแล้ว รวมทั้งที่ไทยรับชุดสีกากีมาจากอังกฤษด้วย นอกจากนี้ทหารเรือไทยก็ใช้แถบขมวดเหมือนกองทัพเรืออังกฤษ ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาจะใช้แถบตรงทั้งหมดแล้วใส่เครื่องหมายอื่นประกอบแทนการขมวด เช่น ดาว นกอินทรี ใบโอ๊ค ซึ่งทหารอากาศไทยใช้แบบสหรัฐอเมริกา โดยใช้ดาวประกอบแถบแทนการใช้แถบขมวด
/// แถบขมวดนี้แหละที่เป็นปัญหา ว่าจะใส่อย่างไร ใส่ด้านไหนจึงจะถูก ด้านไหนอยู่ซ้าย ด้านไหนอยู่ขวา สังเกต อย่างไร ขอให้ดูตามรูป ต้องใส่ให้ปลายเส้นของแถบขมวดที่ทับอยู่ด้านบนสุดชี้ไปทางด้านหลัง ซึ่งก็เหมือนผู้หญิงที่ห่มสไบ ต้องเอาชายสไบที่ทับอยู่ด้านบนเหวี่ยงอ้อมไปพาดทางด้านหลังนั่นเอง
/// ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ต้องใส่ให้แถบตรงอยู่ติดกับด้านไหล่ให้มากที่สุด บางคนใส่ผิดไปเอาด้านแถบขมวดไปอยู่ติดด้านคอ
/// เมื่อมีการเชื่อมโยงให้ผูกติดสัมพันธ์กับอีกเรื่องหนึ่ง ก็จะพอจำได้แม่นและนาน และทีนี้คุณก็จะใส่อินทรธนูได้ถูกด้านแล้วครับ
—-----------------
เชิงอรรถ
[*1] บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. สืบค้นจากเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา
โฆษณา