15 ต.ค. 2023 เวลา 17:18 • ประวัติศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระบิดาแห่งชาติเขมร

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เสด็จพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2465 เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต ประสูติแต่สมเด็จพระมหากษัตริยานีสีสุวัตถิ์ กุสุมะ นารีรัตน์ สิริวัฒนา อีกทั้งพระองค์ยังมีเชื้อสายไทยโดยสืบเชื้อสายจากเจ้าจอมเอี่ยมบุษบา และเจ้าจอมมารดานวล แห่งสกุลอภัยวงศ์ พระญาติในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6
พระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2484 ด้วยพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ขณะนั้นกัมพูชายังอยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส ท่ามกลางความผันผวนทั้งในและรอบนอกประเทศระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นไทยบุกยึดครองดินแดนส่วนหนึ่งของกัมพูชา เช่น พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ญี่ปุ่นแผ่ขยายอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกระแสชาตินิยมต่อต้านฝรั่งเศสในประเทศ
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงเป็นผู้นำการเรียกร้องเอกราชคืนจากฝรั่งเศส โดยพระองค์ได้ทำการเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อขอเอกราชคืนให้แก่กัมพูชาอยู่หลายครั้ง และพระองค์ยังได้ตรัสอีกว่าจะไม่เสด็จกลับกัมพูชาจนกว่าจะได้รับเอกราชที่สมบูรณ์
ในที่สุด กัมพูชาได้รับเอกราชคืนจากฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2496 เมื่อได้รับเอกราชแล้วก็ก่อตั้งประเทศเป็น "ราชอาณาจักรกัมพูชา" โดยพระองค์ทรงเป็นทั้งพระมหากษัตริย์ และทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองการปกครองอย่างเต็มที่ อีกทั้งพระองค์ยังทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งเอกราช ที่เรียกว่า "สมเด็จเอิง" หรือ "สมเด็จพ่อ" ของชาวกัมพูชา
ปี พ.ศ.2498 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงสละราชสมบัติถวายแด่พระราชบิดา โดยพระองค์หันไปเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว พระองค์ได้ก่อตั้งพรรคสังคมราษฎรนิยม สามารถชนะการเลือกตั้งและได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2503 มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีสมเด็จกรมพระสีสุวัตถิ์ มุนีเรศเป็นประธาน ต่อมานโรดม สีหนุ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐ มีอำนาจเทียบเท่าพระมหากษัตริย์
ในช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นยุคทองของกัมพูชา จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น "ไข่มุกแห่งเอเชีย" ยุคเดียวกันนี้ยังเป็นยุคที่มีศิลปินแจ้งเกิดจนโด่งดังเป็นพลุแตกอย่าง สิน ศรีสมุทร รส เสรีสุทธา แปน รอน เป็นต้น ซึ่งศิลปินเหล่านี้ล้วนแล้วเคยร่วมงานกับพระองค์
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงมีพระราชอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีสากลเช่นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ของไทย พระองค์ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงอย่าง พนมเปญ ราตรีนี้ได้พบพักตร์ บุปผาเวียงจันทน์ เปียงยาง คิดถึงเมืองจีน ฯลฯ อีกทั้งพระองค์ทรงมีพระราชอัจฉริยภาพในด้านภาพยนตร์ โดยพระองค์ทรงสร้างภาพยนตร์ไว้หลายเรื่อง เช่น เงามืดอังกอร์ เจ้าชายน้อย ฯลฯ และพระองค์ยังเป็นผู้ผลักดันการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของกัมพูชาอีกด้วย
ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงมีนโยบายที่เป็นศัตรูกับไทย พระองค์ทรงเป็นผู้ยื่นฟ้องศาลโลกเพื่ออ้างสิทธิพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ในที่สุดกัมพูชาชนะคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2505 ต่อมาพระองค์ได้เสด็จขึ้นบวงสรวงปราสาทพระวิหารเพื่อเป็นการฉลองชัยชนะอีกด้วย อีกทั้งพระองค์ได้ออกนโยบายกวาดล้างชาวไทยในเกาะกง ทำให้มีชาวไทยเกาะกงอพยพไปอยู่ฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก
เดือนมีนาคม พ.ศ.2513 นายพลลอนนอล และนักองค์ราชวงศ์สีสุวัตถิ์ สิริมตะ ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของพระนโรดม สีหนุ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐเขมร ต่อมาศาลทหารตัดสินให้สำเร็จโทษ (ประหารชีวิต) พระนโรดม สีหนุและพระญาติ ทั้งๆ ที่พระองค์ได้เสด็จลี้ภัยพร้อมกับตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในจีน
วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2518 เขมรแดงบุกยึดกรุงพนมเปญ เมื่อเขมรแดงได้ปกครองกัมพูชาแล้วก็มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชน และเกณฑ์ประชาชนมาใช้แรงงานเยี่ยงทาสในเขตชนบท พระนโรดม สีหนุได้รับเชิญจากเขมรแดงให้มาเป็นประมุขแห่งรัฐอีกครั้งแต่ก็กลายเป็นเพียงแค่หุ่นเชิด พระองค์จึงลาออกจากตำแหน่งแล้วหาทางลี้ภัยด้วยการไปร่วมประชุมกับสหประชาชาติ สุดท้ายก็ได้ลี้ภัยกลับไปจีนอีกครั้ง
สี่ปีต่อมา 7 มกราคม พ.ศ.2522 กองทัพเวียดนามและแนวร่วมปลดปล่อยของ เฮง สัมริน ยึดอำนาจรัฐบาลจากเขมรแดงพร้อมกับก่อตั้งสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา ส่วนพระนโรดมสีหนุได้จัดตั้งพรรคฟุนซินเปกขึ้นเพื่อต่อต้านเวียดนาม ต่อมาพระองค์จัดตั้งรัฐบาลผสมกับเขมรแดงเพื่อหาทางเจรจายุติสงครามกลางเมืองและการแทรกแซงจากเวียดนามโดยมีไทยเป็นหนึ่งในตัวกลางด้วย นำไปสู่การลงนามข้อตกลงสันติภาพปารีส เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2534
ทั้งนี้ ก็เพื่อเปิดทางให้สหประชาชาติเข้ามาจัดการความสงบเรียบร้อยในประเทศ และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปี พ.ศ.2536 พร้อมกับเปิดทางให้มีการพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กับผู้นำเขมรแดงอีกด้วย วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2536 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาฉบับใหม่ทำให้พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นครั้งที่สอง ในครั้งนี้การเมืองกัมพูชาค่อยๆ นิ่งลงไปบ้าง ถึงแม้ว่าพระองค์จะไม่ได้ทรงมีอำนาจทางการเมืองเหมือนในอดีตแล้วก็ตาม จนกระทั่งพระองค์สละราชสมบัติในเดือนตุลาคม พ.ศ.2547
กรมปรึกษาราชบัลลังก์ มีมติให้อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ประสูติแต่ปอล โมนิก อิซซี (พระนโรดม มุนีนาถ สีหนุ) เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ได้เสด็จไปประทับรักษาพระพลานามัยที่ประเทศจีน โดยปรากฎพระองค์ครั้งสุดท้ายในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 89 พรรษา และครบรอบ 20 ปี ข้อตกลงสันติภาพปารีส พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2555 สิริพระชนมพรรษา 89 พรรษา 349 วัน
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังได้รับเอกราชในปี พ.ศ.2497 ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ครั้งแรกตามธรรมเนียม
ซึ่งก่อนที่กัมพูชาได้รับเอกราช พระองค์ก็เคยเสด็จมายังประเทศไทยมาก่อนแล้ว แต่ก็ด้วยการต้อนรับที่ไม่อบอุ่นเท่าไหร่ ต่อมาพระองค์ได้เสด็จเยือนไทยในช่วงสงครามต่อต้านเวียดนามกับรัฐบาลหุ่นเชิด เพื่อเยี่ยมเยือนชาวกัมพูชาที่อพยพอยู่ตามชายแดนไทยอีกด้วย
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (ขวา) พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์กัมพูชาองค์ปัจจุบัน
โฆษณา