18 ต.ค. 2023 เวลา 17:20 • ประวัติศาสตร์

กำเนิดพุทธเถรวาทสยามวงศ์ในลังกาทวีป

รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นยุคสมัยที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทองอีกยุคหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา และเป็นยุคทองสุดท้ายก่อนการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2310
อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นั่นก็คือการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในดินแดนลังกาทวีป หรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน
ต้องเท้าความไปถึงการกำเนิดพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทลังกาวงศ์ ในช่วงที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งคณะสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ รวมถึงในดินแดนลังกาทวีป
ต่อมาในสมัยของพระเจ้าปรักกรมพาหุ กษัตริย์ของลังกาทวีป ได้ทำสงครามขับไล่พวกทมิฬ และฟื้นฟูพระพุทธศาสนาพร้อมกับการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งที่ 7 นับตั้งแต่หลังพุทธกาล ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของนิกายเถรวาทลังกาวงศ์ เป็นช่วงเดียวกันกับที่พระพุทธศาสนาในอินเดียค่อยๆ ล่มสลายลง
นิกายเถรวาทลังกาวงศ์ ได้รับความนิยมมากทั้งในลังกาและดินแดนใกล้เคียง เช่นอาณาจักรพุกามของพม่า และเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกที่นครศรีธรรมราช ต่อมาก็ได้เข้าสู่กรุงสุโขทัย มาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองของคณะสงฆ์ กำหนดชื่อเรียกนิกายเถรวาทลังกาวงศ์ว่า "มหานิกาย" ดังนั้นนิกายเถรวาทลังกาวงศ์จึงเป็นนิกายหลักของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เช่นเดียวกันกับธรรมยุติกนิกายของรัชกาลที่ 4 และนิกายมหายานของจีนและญวน
กลับมาที่เรื่องของเถรวาทสยามวงศ์ เมื่อโปรตุเกสและดัตช์เข้ามาล่าอาณานิคมในลังกาทวีป ส่งผลให้พระพุทธศาสนาของลังกาเสื่อมโทรมลง
จนกระทั่งในสมัยของพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงห์ แนวคิดการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกาก็ได้เกิดขึ้น เมื่อทรงทราบว่าพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทลังกาวงศ์ในกรุงศรีอยุธยากำลังเจริญเฟื่องฟูมาก ซึ่งตรงกับช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระองค์ได้ส่งคณะราชทูตเพื่อขอนิมนต์พระสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยามาทำการฟื้นฟู แต่ทว่าเกิดเหตุติดขัดอยู่ถึงสองครั้ง คณะราชทูตเหล่านี้จึงมิได้มาถึงกรุงศรีอยุธยา
ต่อมาในสมัยของพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ ก็ได้ส่งคณะราชทูตไปที่กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ครั้งนี้คณะราชทูตก็เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาอย่างราบรื่น โดยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เพื่อทูลขอพระสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและไปทำอุปสมบทให้แก่ชาวลังกา อีกทั้งยังได้นำคณะราชทูตลังกาไปนมัสการปูชนียสถานสำคัญในกรุงศรีอยุธยา เช่น รอยพระพุทธบาท พระพุทธไสยาศน์ วัดคังคาราม วิหารพระมงคลบพิตร และพระราชทานของบำเหน็จ หีบเงิน หีบทอง ของมีค่าต่างๆ อีกมาก
เมื่อคณะราชทูตลังกาได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมีพระราชดำริจะส่งสมณทูตไปศรีลังกา จดหมายเหตุของวิละภาเดทะระ เรื่อง คณะทูตลังกาเข้ามาประเทศสยาม กล่าวว่า
" พระเจ้าแผ่นดิน (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ทรงมีปฏิสันถาน ๓ นัด ถามราชทูตว่าสุขสำราญไร้ทุกข์โศกทั้งใจและกายหรืออย่างไร แล้วพระองค์ตรัสอย่างทรงพระเมตตาว่า พระองค์ผู้เป็นพระมหากษัตริย์เจ้าแห่งราชธานีศรีอยุธยาจะทรงส่งผู้แทนคณะสงฆ์อันยิ่งใหญ่ไปประเทศลังกา เพื่อสนองพระราชประสงค์ ในอันที่จะส่งเสริมสืบต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ของพระเจ้าแผ่นดินแห่งเมืองมิ่งในโลก ผู้ทรงเจริญด้วยพระบาทบงกชอันประเสริฐ "
คำให้การชาวกรุงเก่า บันทึกไว้ดังนี้
" ...คราวนั้นกระษัตริย์ซึ่งเปนพระเจ้ากรุงลังกาให้ราชทูตเชิญพระราชสาสน์กับเครื่องราชบรรณาการเข้ามากรุงศรีอยุทธยา ข้าราชการจึงกราบทูลพระมหาธรรมราชาให้ทรงทราบ พระมหาธรรมราชาจึงรับสั่งให้เกณฑ์พลเมืองตกแต่งถนนหนทางให้เรียบร้อยสอาด ให้พวกพ่อค้าออกตลาดตามฟากถนน แลให้แต่งช้างบุบผาทนต์ประดับเครื่องคชาภรณ์ พร้อมด้วยพลช้างพลม้าพลรถพลเดินเท้าทุกหมวดทุกกอง ซึ่งแต่งตัวเต็มยศสรรพด้วยเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ ยืนประจำตามระยะทางซ้ายขวาบ่าติดๆ กัน ให้ปลูกปรำเปนระยะทั้ง ๑ ฟากถนน
มีมโหรศพเต้นรำประจำอยู่ตามปรำทั้งมีเครื่องดนตรีพิณพาทย์ระนาดฆ้องตลอดระยะ​ทาง ราชบัลลังก์ที่จะเสด็จออกรับแขกเมืองนั้น ก็ให้ตกแต่งให้งดงาม ตั้งเสวตรฉัตรรายรอบด้วยเครื่องอภิรมย์ตามขัติยยศ ให้พระราชวงษานุวงษ เจ้าประเทศราช แลข้าราชการทั้งปวงแต่งตัวเต็มยศเข้าเฝ้าอยู่ตามถานานุศักดิ์ พระมหาธรรมราชาจึงรับสั่งให้เบิกทูตลังกาเข้ามาในพระนครตามระยะทางที่ตกแต่งไว้ เมื่อทูตลังกาไปถึงขบวนใด ๆ เช่นขบวนจตุรงคเสนาขบวนเหล่านั้นก็ทำความเคารพตามธรรมเนียม
ไปถึงพวกดนตรี ๆ ก็ประโคมขับร้อง ไปถึงข้าราชการ เจ้ากระทรวง เจ้าน่าที่ต่าง ๆ ก็ทำปฏิสัณฐารต้อนรับแสดงความปราไสยต่อกัน จนกระทั่งถึงที่ประทับพระที่นั่งมหาปราสาทข้างหน้า ทูตลังกาจึงถวายพระราชสาสนแลเครื่องราชบรรณาการ ในพระราชสาสนมีใจความว่า
ข้าพระองค์ผู้เปนพระอนุชาผ่านพิภพสิงหฬทวีป ขอโอนเศียรเกล้าถวายบังคม มายังพระเชษฐาธิราชพระเจ้ามหาธรรมราชาผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา ด้วยข้าพระองค์ได้ทราบพระเกียรติยศเกียรติคุณของพระเชษฐาธิราช ว่าทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนัตตยาธิคุณ แผ่เผื่อเกื้อหนุนแก่สมณะชีพราหมณาจารย์ถ้วนหน้า บำรุงพระพุทธสาสนาเปนสาสนูปถัมภก โปรดให้หมู่สงฆ์เล่าเรียนพระไตรปิฎกเปนนิตยกาล แลคัดลอกจดจารแบบแผนพระไตรปิฎกไว้
พระคุณเหล่านี้เปนเครื่องจูงใจข้าพระองค์ซึ่งอยู่ห่างต่างประเทศ ให้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายบังคมชมพระบารมี อนึ่งข้าพระองค์ก็มีจิตรยินดีเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา แตในลังกาทวีปมีแบบแผนพระปริยัติธรรมขาดบกพร่องเคลื่อนคลาศ ทั้งภิกษุสงฆ์ที่เฉลียวฉลาดอาจจะรอบรู้ใน​พระไตรปิฎกก็ไม่มี โดยเหตุนี้ข้าพระองค์ขอพระบารมีพระเชษฐาธิราชเจ้า โปรดพระราชทานซึ่งภิกษุสงฆ์ที่รอบรู้พระปริยัติสาสนา เพื่อได้สั่งสอนชาวลังกาที่เลื่อมใส เปนอายุพระพุทธสาสนาสืบไปสิ้นกาลนานเทอญ
เมื่อพระมหาธรรมราชาทรงทราบพระราชสาสนแล้ว จึงมีพระราชปฏิสันถารถามถึงพระเจ้ากรุงลังกา แลพระมเหษี พระราชโอรส เสนามาตย์ข้าราชการ เข้าปลาอาหาร บ้านเมืองชนบท ว่าเรียบร้อยเปนศุขสำราญอยู่หรืออย่างไร ราชทูตก็กราบทูลว่าเจริญศุขอยู่ทุกประการ ครั้นสมควรเวลาแล้วเสด็จขึ้น ราชทูตก็ออกไปพักอยู่ที่สถานทูต...."
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงส่งคณะสมณทูตนำโดยพระอุบาลีมหาเถระ พร้อมกับพระสงฆ์ 24 รูป เดินทางไปลังกา แต่ทว่าเรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นที่นครศรีธรรมราช แต่โชคดีที่คณะสมณทูตปลอดภัย ต่อมาได้ทรงส่งคณะสมณทูตไปลังกาอีกครั้ง โดยพระอุบาลีมหาเถระเป็นหัวหน้าคณะร่วมกับพระอริยมุนี เดินทางด้วยเรือกำปั่นของชาวดัตช์ ในที่สุดคณะสมณทูตของกรุงศรีอยุธยาก็เดินทางถึงลังกาทวีปได้สำเร็จ
เมื่อคณะสมณทูตกรุงศรีอยุธยาถึงลังกาทวีปแล้ว ก็มาจำพรรษากันที่วัดบุปผาราม (วัดมัลวัตตะ) เมืองแคนดี พระอุบาลีมหาเถระได้ทำพิธีอุปสมบทแก่ชาวลังกากว่า 3,000 คน (คำให้การชาวกรุงเก่าระบุราว 500 เศษ) เป็นจุดกำเนิดของ "เถรวาทสยามวงศ์นิกาย" ในลังกาทวีป
สามเณรสรณังกร ซึ่งเป็นหนึ่งในพระสงฆ์ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระอุบาลีมหาเถระ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์แรกและพระองค์เดียวของศรีลังกา
สยามวงศ์ เป็นพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ใหญ่ที่สุดของศรีลังกาเป็นลำดับแรก ต่อมาก็ได้มีการสถาปนาเถรวาทอมรปุระนิกายจากพม่า และเถรวาทรามัญนิกายจากมอญขึ้นในศรีลังกา นิกายเถรวาทจากพม่าและมอญจึงเป็นนิกายเถรวาทที่ใหญ่สุดในศรีลังกาเป็นลำดับที่ 2-3 เช่นกัน
วัดบุปผาราม (วัดมัลวัตตะ) จุดกำเนิดของนิกายเถรวาทสยามวงศ์ในศรีลังกา
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
จดหมายเหตุการเดินทางของราล์ฟ ฟิตช และจดหมายเหตุของวิละภาเดทะระ เรื่อง คณะทูตลังกาเข้ามาประเทศสยาม. แปลโดย นันทา สุตกุล. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางทองอยู่ วีระเวศน์เลขา (สามสูตร) ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาศ ๒๑ มีนาคม ๒๕๐๘. พระนคร: อักษรสัมพันธ์, 2508. 121 หน้า.
โฆษณา