23 ต.ค. 2023 เวลา 17:21 • ประวัติศาสตร์

อูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติคนแรกที่เป็นชาวเอเชีย

องค์การสหประชาชาติ (United Nations) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดองค์การสันนิบาตชาติ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 1945 มีหน้าที่ในการรักษาสันติภาพและสร้างความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาต่างๆ ของแต่ละประเทศ
นับตั้งแต่กฎบัตรสหประชาชาติ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 1945 เป็นการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นอย่างเป็นทางการ มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติทั้งสิ้น 9 คน คนปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งอยู่คือ อันโตนิโอ กุเตอเรส เป็นชาวโปรตุเกส ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง ต่อเนื่องจากสมัยแรกที่ดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2017
และมีชาวเอเชียที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติทั้งสิ้น 2 คน คือ อูถั่น เป็นชาวพม่า ประเทศใกล้เคียงของไทยเรา เป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้และเป็นคนแรกที่ดำรงตำแหน่งถึงสองสมัยรวมกัน (1961-1971) และ บันคีมูน จากเกาหลีใต้ (2007-2016)
อูถั่น เกิดวันที่ 22 มกราคม 1909 เป็นชาวเมืองป้านทะนอ บริติชพม่า (พม่าภายใต้อาณานิคมอังกฤษ) เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ในช่วงที่เกิดความตึงเครียดทางการเมืองของพม่า เขามีแนวคิดที่เป็นกลางระหว่างขบวนการชาตินิยมและผู้สนับสนุนอังกฤษ
อูถั่นเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายอูนุ ก่อนเดินทางไปปฏิบัติหน้าผู้แทนเมียนมาร์ในการประชุมเอเชีย-แอฟริกาซัมมิต ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 1948 ก่อนรวมตัวเป็นกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือ Non-Aligned Movement ซึ่งเขาได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก่อนที่ต่อมาจะได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการสหประชาชาติ ในปี 1961
อูถั่นเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ของสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีนิกิตา ครุสชอฟ ของสหภาพโซเวียต ในช่วงวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 เป็นการยุติการเกิดวิกฤติครั้งสำคัญของโลก ต่อมาในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน อูถั่นได้ออกปฏิบัติการแกรนด์สแลม เพื่อยุติการก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนในคองโก
เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1966 ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ในช่วงสมัยที่สอง อู่ถั่นเป็นที่รู้จักกันดีจากการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนามอย่างเปิดเผย เขาดูแลการเข้ามาของรัฐแอฟริกันและเอเชียที่เพิ่งเป็นอิสระหลายแห่งเข้าสู่สหประชาชาติ เขาปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 และหมดวาระจากตำแหน่งในปี 1971
อูถั่น ยังมีส่วนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตอื่นๆ อีกตลอดการดำรงตำแหน่ง 2 วาระ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งที่แคชเมียร์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน สงครามหกวันระหว่างอิสราเอลและประเทศอาหรับอื่นๆ
ภายหลังการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลนายอูนุ โดยนายพลเนวิน ในปี 1962 ถือเป็นการปิดฉากบทบาทนักการทูตของอูถั่น แม้ในช่วงนั้น เขายังอยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติก็ตาม โดยเขาไม่ได้รับตำแหน่งใดๆ อีกเลยภายหลังหมดวาระในปี 1971 และเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งในปี 1974 โดยไม่ขอรับเกียรติยศใดๆจากรัฐบาลพม่าเลย
อูถั่น เป็นบุคคลที่เกือบสูญหายไปในประวัติศาสตร์พม่าสมัยใหม่ เนื่องจากรัฐบาลทหารมักโยนข้อหาต่างๆ ให้กับเขา เช่น การสนับสนุนขบวนการนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย ในช่วงหลังรัฐประหารปี 1962 ก่อนจบลงด้วยเหตุการณ์ 8888 ในอีก 20 ปีให้หลัง (1988) ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลได้บรรจุเนื้อหาชีวประวัติและผลงานของอูถั่นเข้าไปในบทเรียนอีกครั้ง
บ้านของนายอูถั่น ปัจจุบันได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนเข้าชมชีวประวัติ และผลงานของเขา ได้รับรู้เรื่องราวจากปากลูกหลานที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น หลังจากที่อูถั่นได้หายสาบสูญไปในประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลา 50 ปี ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้
โฆษณา