24 ต.ค. 2023 เวลา 14:19 • ประวัติศาสตร์

พระแม่อุมาเทวี เทพีผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวาล และที่มาของเทศกาลนวราตรี

พระแม่อุมาเทวี (เจ้าแม่อุมาเทวี) หรือ ปารวตี คือพระนามแห่งพระแม่ผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล เป็นเทวีแห่งอำนาจวาสนาและบารมีอันสูงสุด พระองค์ทรงประทานยศถาบรรดาศักดิ์ และความเป็นใหญ่แก่ผู้หมั่นบูชาต่อพระองค์อย่างสม่ำเสมอ
อำนาจแห่งพระแม่อุมานั้นยิ่งใหญ่หาสิ่งใดเทียบได้ พระองค์ทรงประทานชัยชนะเหนือศัตรู ประทานกำลังวังชาแห่งอิสตรี ทำลายสิ่งชั่วช้า ตลอดจนประทานบริวารและอำนาจในการปกครอง พระองค์ยังทรงประทานพรด้านความสมบูรณ์ ความอิ่มเอม ความผาสุขในการครองเรือน ครอบครัวที่เปี่ยมสุข ตลอดจนการคุ้มครองผู้ศรัทธาให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง
พระแม่อุมาเทวี ทรงเป็นมารดาแห่งพระคเณศ เป็นชายาแห่งพระศิวะ มหาเทพผู้ทำลายโลก 1 ใน 3 แห่งพระตรีมูรติ พระแม่อุมาจึงเป็น 1 ใน 3 แห่งพระตรีศักติ ด้วย (ตรีศักติ หมายถึง พระแม่ทั้งสาม ได้แก่ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวตี) พระองค์มีวิมานสถิต ณ เขาไกรลาส เช่นเดียวกับพระศิวะเทพ มีสัญลักษณ์ประจำพระองค์คือ โยนี (ฐานรองศิวลึงก์) มีทิพยรูปเป็นหญิงที่งดงาม เปี่ยมไปด้วยความเมตตา เป็นมารดาแห่งสรรพชีวิตทั้งปวง ฉลองพระองค์ด้วยอาภรณ์หลากสีสัน ประดับด้วยทองคำอย่างวิจิตร
พาหนะแห่งพระแม่อุมาเทวี คือ เสือ อันหมายถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ และความสง่างาม
ศาสตราวุธ แห่งพระแม่อุมาเทวีคือ
- ตรีศูล เป็นสัญลักษณ์แห่งการปราบปรามสิ่งชั่วร้าย และ
- ดาบ คือสัญลักษณ์แห่งความเฉียบขาด เป็นผู้ตัดสิน และอยู่เหนือผู้อื่น
พระแม่อุมาเทวี (เจ้าแม่อุมา) มีอวตารอยู่หลายปาง ปางที่สำคัญที่สุดอีก 2 ปางจากพระแม่อุมา คือ ปางพระแม่ทุรคา (ทุรกา) และ ปางพระแม่กาลี (เจ้าแม่กาลี)
อีกปางหนึ่งของพระแม่อุมาเทวีที่ไม่ค่อยมีคนไทยรู้จัก นั่นคือ ปางพระแม่อุมาตากี คือการอวตารของพระแม่อุมาเทวี ที่รวมเอาพระแม่อีก 2 พระองค์เข้าไว้ด้วย คือ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวดี ได้อวตารรวมเป็นร่างเดียวกัน เหมือนกับพระตรีมูรติ นิยมนับถือกันในหมู่ผู้นับถือนิกายศักติ หรือนิกายที่นับถือเฉพาะเทพสตรีทั้ง 3 พระองค์ว่ายิ่งใหญ่เหนือกว่า พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ อันเป็นเทพบุรุษสูงสุดแห่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ตำนานโบราณกล่าวถึงต้นกำเนิดของ “พระแม่อุมาเทวี” ว่าเกิดมาจากการที่พระศิวะใช้พระหัตถ์ข้างขวาลูบกลางพระอุระเบา ๆ พระแม่อุมาเทวีก็มาจุติขึ้นที่กลางทรวงอกของพระศิวะ แต่บ้างก็กล่าวไว้ว่าก่อนจะกำเนิดเป็นพระแม่อุมาเทวี นางคือธิดาของพระทักษะประชาบดี มีพระนามว่า “พระสตี” ส่วนพระศิวะทรงอวตารลงมาในภาคของ “พระมุนีภพ” ซึ่งแปลงร่างลงมาในชุดนุ่งห่มมอซอ มีสังวาลสวมคอเป็นประคำกระดูก ไว้ผมหนวดเครารุงรัง ร่างกายมีกลิ่นตัวเหม็นสาบ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างบารมีด้วยการบำเพ็ญตน
พระนางสตีมองเห็นรูปกายที่แท้จริงว่าพระมุนีภพองค์นี้ก็คือภาคหนึ่งแห่งพระศิวะ ผู้เป็นใหญ่ในสามโลก นางจึงตกลงใจอยู่คอยรับใช้ดูแลในฐานะชายา ซึ่งฝ่ายพระบิดาไม่พอใจในตัวพระมุนีภพนัก ครั้งหนึ่งในพิธียัญกรรม พระทักษะประชาบดีได้กล่าววาจาดูหมิ่น รังเกียจอย่างรุนแรง พระนางสตีจึงปกปัองศักดิ์ศรีแห่งพระศิวะเทพ ผู้เป็นสวามี ด้วยการใช้ไฟเผาไหม้ร่างกายจนสิ้นชีพ
ต่อมาพระศิวะได้เข้าสู่การบำเพ็ญสมาธิ โดยมิได้ติดต่อผู้ใดเป็นระยะเวลานาน จนบรรดาทวยเทพทั้งหลายพากันเป็นห่วงถึงจักรวาล จึงได้รวมกันไปเข้าเฝ้าพระวิษณุเพื่อขอให้หาหนทางแก้ไข ชึ่งพระองค์ก็ได้กล่าวว่าคงต้องช่วยกันนั่งสมาธิส่งจิตถึงพระแม่ศักดิ-ศิวา ขอให้พระองค์ทรงอวตารแบ่งภาคมาเกิดบนโลกมนุษย์อีกครั้ง เพื่อให้พระศิวะทรงออกจากสมาธิกลับมาปกครองจักรวาลแห่งนี้
พระแม่อุมาเทวีจึงถือกำเนิดใหม่ในคืนที่ 9 เดือนมธุ (มีนาคม-เมษายน) เป็นธิดาของท้าวหิมวัตและพระนางเมนกา นามว่า พระปารวตี เมื่อเติบใหญ่ก็มีความตั้งมั่นที่จะออกบำเพ็ญพรต ด้วยวาสนาของการเป็นคู่ครองกันในอดีตชาติ
ในช่วงเวลาที่พระศิวะทรงเสด็จไปยังดินแดนอิษชิปรัสกะเพื่อทำสมาธิ ท้าวหิมวัตจึงพาพระอุมาเทวีให้นำผลไม้ถวายต่อพระศิวะ พร้อมทั้งกล่าวว่าขอให้พระองค์ทรงรับนางเป็นข้ารับใช้ โดยพระแม่อุมาเทวีพิสูจน์ตัวเองด้วยการบำเพ็ญตนที่คงคาวัตวัณเป็นเวลาสามพันปีเทพ และทรงยึดมั่นต่อพระศิวะ ในที่สุดพระศิวะก็รับนางและได้เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรส กลายเป็นเทพคู่ครองกันแต่นั้นเป็นต้นมา
  • ที่มาของเทศกาลนวราตรี
ในวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ตรงกับช่วงเทศกาลงานบุญสำคัญของผู้ที่นับถือพราหมณ์-ฮินดูทั่วโลก คือ เทศกาลนวราตรี หรือบางแห่งอาจเรียก เทศกาลดูเซร่า ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง โดยแต่ละพื้นถิ่นในอินเดียจะมีการจัดงานหลายรูปแบบมีความเชื่อถึงที่มาของงานดังกล่าวแตกต่างกันไป เช่น ทางอินเดียภาคเหนือส่วนใหญ่มักเชื่อว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของพระรามที่มีต่อทศกัณฐ์
แต่บางพื้นที่โดยเฉพาะทางภาคใต้ถือเป็นเวลาแห่งการเฉลิมฉลองการปราบมหิษาสูรของ “พระแม่ทุรคา” ปางหนึ่งของ พระแม่อุมาเทวี และในไทยก็ตกทอดความเชื่อนี้มา โดยจะมีการจัดงานตามศาสนสถานของชาวฮินดูเช่นที่ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขกสีลม ซึ่งจัดเป็นงานใหญ่และมีขบวนแห่เทพเจ้าเคลื่อนไปตามท้องถนน อีกแห่งหนึ่งคือที่วัดวิษณุ สมาคมฮินดูธรรมสภา เขตยานนาวา
เทศกาลนวราตรี ถือว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่พระแม่อุมาเทวีจะเสด็จลงมาประทานพรแก่มวลมนุษย์โดยเฉพาะวันที่ 9 ซึ่งเป็นคืนสุดท้ายของการจัดงานที่เรียกกันว่า วันวิชัยทัสมิ อันเป็นวันที่ “เจ้าแม่ทุรคา” ปางหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี ทรงปราบมหิษาสูร (อสูรที่มีหัวเป็นกระบือ) ได้สำเร็จและเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่า “ใครบูชาพระแม่ในวันนี้จะได้รับชัยชนะตลอดปี”
ประวัติความเป็นมาของพระแม่อุมาเทวีปางนี้เล่ากันว่า อสูรตนหนึ่งนามว่า “มหิษาสูร” มีฤทธิ์มากจนไม่มีเทพยดาองค์ใดปราบได้ พระวิษณุจึงขอให้เทพทั้งหลายเปล่งแสงจากความโกรธ จนเกิดร่างนางกาตยานี มี 3 ตา 18 กร และมีพลังมหาศาล อีกทั้งบรรดาเทพทั้งปวงต่างมอบศัสตราวุธให้เพื่อปราบมหิษาสูรได้สำเร็จ ในเทศกาลนี้ชาวฮินดูทั้งหลายจะรักษาศีลทำกายใจให้บริสุทธิ์โดยไม่กินเนื้อสัตว์และเกลือ กินเพียงผลไม้และนมเท่านั้น รวมถึงสวดมนต์และปฏิบัติธรรมด้วย
วันแรกของงาน เทศกาลนวราตรี เริ่มด้วยพิธีบูชาพระคเณศซึ่งชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นเทพที่จะอำนวยพรให้งานทุกอย่างประสบผลสำเร็จและผ่านไปด้วยดี ดังนั้นในทุกงานพิธีกรรมของฮินดูจึงมักเห็นการบูชาขออำนาจศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระคเณศก่อนเสมอ พร้อมกับอัญเชิญเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ มาร่วมพิธี ส่วนวันต่อ ๆ มาจะบูชาพระแม่อุมาเทวีในปางต่าง ๆ และภาคค่ำมีการสวดและร้องเพลงสรรเสริญพระแม่
สำหรับวัดแขกสีลมนั้น มีประวัติศาสตร์มาพร้อมกับการอพยพย้ายถิ่นของชาวฮินดูจากแคว้นทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของอินเดียและทางตอนเหนือของศรีลังกา แถบคาบสมุทรจาฟนาร์ มายังกรุงเทพฯ ราวรัชกาลที่ 3-4 ส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ พนักงานบริษัทต่างประเทศ และค้าขาย โดยกลุ่มทมิฬนาฑูนี้นิยมบูชาพระศิวะและพระอุมา โดยมีวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และยังคงเป็นศูนย์กลางความศรัทธาถึงปัจจุบัน
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) (ภาพจาก Mthai)
โฆษณา