25 ต.ค. 2023 เวลา 04:27 • ไลฟ์สไตล์

สี่มัสยิดศิลป์สวย บนเส้นทางสายแพรไหม

เรื่องและภาพโดย ปริวัฒน์ จันทร
เส้นทางสายแพรไหม – ซือโฉวจือลู่ (丝绸之路) หรือ Silk Road จากจุดเริ่มต้นในนครฉางอาน (ซีอาน) ทอดยาวไกลไปทางเบื้องประจิมทิศ เส้นทางสายประวัติศาสตร์ของโลกนี้มิได้นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนเฉพาะสินค้า หากแต่ยังได้นำเอาศาสนา วัฒนธรรม ค่านิยมความเชื่อ ตลอดจนถึงวิถีชีวิต พืชพันธุ์ ธัญญาหาร ฯลฯ ของคนทั้งสองซีกโลกให้มาบรรจบพบกัน
และเช่นกันที่ศาสนาอิสลามได้เผยแผ่เข้ามาสู่แผ่นดินใหญ่จีนตามเส้นทางสายนี้ และก่อให้เกิดศาสนสถานอันงดงามอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของอิสลามิกชนตามเมืองสำคัญบนเส้นทางสายนี้เป็นจำนวนมาก อันได้แก่
  • มัสยิดใหญ่แห่งซีอาน งามในรูปทรงสถาปัตยกรรมจีน
หออะซานมัสยิดซีอานในศิลปะแบบจีน เป็นรูปเก๋งแปดเหลี่ยน สูง ๓ ชั้น
หนึ่งในมัสยิดเก่าแก่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นและมีขนาดใหญ่ที่สุดคือ ซีอานต้าชิงเจินซื่อ (西安大清真寺 The Great Mosque of Xi’an) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหอกลองในซอยฮว่าเจวี๋ย
บางครั้งจึงเรียกว่ามัสยิดฮว่าเจวี๋ยเซี่ยง (化觉巷清真大寺) มีประวัติการสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลจักรพรรดิถังเสวียนจง (ค.ศ.๗๔๒) มีขนาดเนื้อที่ ๑๓,๐๐๐ ตร.ม. พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง ๖,๐๐๐ ตร.ม. สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมรูปแบบจีนสมัยราชวงศ์หมิง รัชกาลจักรพรรดิหมิงไท่จู่ บูรณะต่อเติมในสมัยราชวงศ์ชิง วางแผนผังในแนวเส้นตรง ผสมผสานกับความเชื่อตามหลักการของทางศาสนาอิสลามอันงดงามและหาชมได้ยาก
มัสยิดแห่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นนครนานาชาติของซีอาน ที่มีชนต่างศาสนาคือชาวมุสลิม (หุย) เดินทางเข้ามาค้าขายตามเส้นทางสายแพรไหมจนถึงมหานครอันไพบูลย์แห่งนี้
ภายในมัสยิดมีห้าลาน ร่มรื่นอยู่ในท่ามกลางแมกไม้และหมู่ศาลาโบราณ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของนครเมกกะ พื้นที่ภายในแบ่งเป็น ๔ ส่วน ทางเข้ามี ๓ ซุ้มประตูสามชั้น ช่องทางเข้า-ออกตามฐานันดรศักดิ์ เหนือซุ้มประตูทั้ง ๓ ช่อง ประดับทับหลังและเครื่องบนมีจารึกอักขระอาราบิกเขียนแบบจีน
รวมทั้งคำสอนของศาสนาอิสลามในภาษาจีน หอกลางคือ เซิ่งซินโหลว (省心楼) (หอสงบจิตใจ) ใช้เป็นหออะซาน ด้านข้างมีอาคารตั้งแผ่นศิลาจารึกสมัยราชวงศ์หมิงและชิง บอกเล่าถึงการก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์มัสยิดใหญ่ตามพระบรมราชโองการของจักรพรรดิสมัยหมิงและชิง
  • มัสยิดเอ๋อหมิ่น อนุสรณ์สถานแห่งความสัมพันธ์แมนจู-เหวยหวูเอ่อร์
มัสยิดเอ๋อหมิ่น สัญลักษณ์อันโดดเด่นของเมืองถูหลู่ฟาน
ศาสนสถานในเมืองถูหลู่ฟาน เขตปกครองตนเองซินเจียงเหวยหวูเอ่อร์ ที่ตั้งโดดเด่นและสะดุดตามากที่สุดคือ หออะซานรูปทรงเจดีย์ก่ออิฐที่ภายนอกจัดเรียงอิฐอย่างมีศิลปะงดงาม เป็นลวดลายหลากหลายกว่า ๑๐ ลาย มียอดสอบเข้า แลคล้ายฝักข้าวโพด มีชื่อในภาษาเหวยหวูเอ่อร์ว่า เอ๋อหมิ่นมิเนเรต (Emin Mineret) หรือหมายถึง หออะซานแห่งการรำลึกถึงเอ๋อหมิ่นโฮจา (Emin Hoja)
และมีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า ซูกงถ่า (苏公塔 หรือเอ๋อหมิ่นถ่า 额敏塔) สร้างขึ้นในค.ศ.๑๗๗๘ รัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ผู้สร้างคือ สุไลมานผู้บัญชาการเขตถูหลู่ฟาน เพื่อเป็นอนุสรณ์สดุดีแก่ผู้เป็นบิดา คือ เอ๋อหมิ่นโฮจา อดีตผู้นำชาวเหวยหวูเอ่อร์ช่วยราชสำนักชิงในการปราบกบฏ และได้รับการสนองคุณงามความดีนี้จากจักรพรรดิเฉียนหลง มอบตำแหน่งให้เป็นฝู่กว๋อกง (辅国公) หรือหมายถึง เจ้าผู้คุ้มครองแผ่นดิน
หออะซานเอ๋อหมินก่อสร้างขึ้นด้วยการเรียงอิฐอย่างงดงามโดดเด่นสะดุดตายิ่ง โดยส่วนฐานจะเรียงอิฐแบบเรียบ ๆ ส่วนตอนกลางและตอนบนจะสอบเข้านั้น แสดงศิลปะการจัดเรียงอิฐแบบอินโด-อิหร่าน (คือศิลปะจากโลกมุสลิมเปอร์เซียที่แพร่ขยายมาสู่ซีกโลกตะวันออก) เป็นลวดลายทรงเรขาคณิต ลายภูเขา ลายกระแสคลื่น และลายดอกไม้ นับรวมแล้วมากกว่า ๑๐ ลายด้วยกัน แสดงให้ถึงความสุนทรียะของผู้ออกแบบและผู้สร้างให้คงอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้
  • มัสยิดใหญ่แห่งคูชา
คู่เชอต้าซื่อ หรือมัสยิดแห่งเมืองคู่เชออันโอ่อ่าสง่างาม
คู่เชอต้าซื่อ (库车大寺 The Great Mosque of Kuqa) เป็นมัสยิดใหญ่อันดับสองของซินเจียง (รองจากที่เมืองคาชการ์) ตั้งอยู่ในเขตเมืองคู่เชอ (คูชา) เมืองโบราณสำคัญบนเส้นทางสายแพรไหมในเขตหนานเจียงหรือซินเจียงภาคใต้
อาคารเดิมมีประวัติการสร้างมาตั้งแต่เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ต่อมาได้เกิดอัคคีภัยในค.ศ.๑๙๓๑ จากนั้นจึงได้มีการสร้างขึ้นใหม่บนขนาดพื้นที่ ๑๔,๔๐๐ ตารางเมตร ด้านหน้าเป็นอาคารเป็นหออะซานรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสอันโอ่อ่าสง่างาม มีความสูงตระหง่านถึง ๒๐ เมตร ตรงกลางเป็นซุ้มประตูรูปทรงโค้งกลีบบัว ด้านในมีห้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอันกว้างขวาง รวมทั้งมีห้องโต๊ะฎีกา (ศาลอิสลาม) ซึ่งทุกวันนี้แม้จะไม่ได้ใช้ว่าความแล้ว แต่ยังคงเก็บรักษาเครื่องใช้ในห้องพิจารณาคดีความไว้อย่างสมบูรณ์
ศิลปะสีสันลวดลายบนประตูไม้บานเฟี้ยมหน้ามัสยิดใหญ่แห่งคู่เชอ
มัสยิดใหญ่แห่งคู่เชอ ใหญ่เป็นอันดับสองของซินเจียง
  • มัสยิดอิดคาห์ ศูนย์รวมจิตใจชาวมุสลิมซินเจียง
ลานหน้ามัสยิดอิคคาห์ ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของแดนมังกร
บนลานจัตุรัสโล่งอันกว้างใหญ่ใจกลางเมืองคาสือ (คาชการ์) เมืองสำคัญทางภาคตะวันตกสุดของเขต ซินเจียงและประเทศจีน จะเห็นมัสยิดอิดคาห์ (Id Kah Mosque 艾提尕尔清真寺 ไอ้ถีก่าเอ่อร์ชิงเจินซื่อ) ตั้งตระหง่านอยู่อย่างโอ่อ่าอยู่หน้าจตุรัสลานกว้างกลางเมือง มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในค.ศ.๑๔๔๒ ภายหลังได้มีการบูรณะและขยายพื้นที่มาหลายครั้ง จนในค.ศ.๑๘๗๒ จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ ได้รับการยกย่องให้เป็น ๑ ใน ๔ มัสยิดใหญ่สำคัญของจีน*
(*สี่มัสยิดใหญ่สำคัญของจีนคือ มัสยิดตงกวน นครซีหนิง มัสยิดหนานกวน นครหยินชวน มัสยิดใหญ่แห่งซีอาน นครซีอาน และมัสยิดอิดคาห์ เขตซินเจียง)
คำว่า อิดคาห์ นั้นหมายถึง สถานที่ชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมสักการะและรื่นเริงเฉลิมฉลอง ด้านหน้ามัสยิดสร้างด้วยอิฐสีเหลือง ประตูทางเข้าเป็นรูปทรงโค้งกลีบบัวสูง ๑๒ เมตร สองข้างมีหออะซานสูง ๑๘ เมตร ประดับกระเบื้องโมเสกหลากสีสันเป็นลวดลายเรขาคณิต ผสมกับลวดลายปูนปั้นเป็นพรรณพฤกษาต่าง ๆ นานา
ลวดลายประดับกระเบื้องเคลือบและงานฝีมือปูนปั้นอันงดงาม
ดูภายนอกมัสยิดอิคคาห์ไม่ได้หรูหราใหญ่โต ทว่าภายในกลับกว้างขวางยิ่ง ปลูกนานาพันธุ์ไม้ยืนต้น มีพื้นที่ถึง ๑๖,๘๐๐ ตารางเมตร นับเป็นมัสยิดที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของจีน สามารถรองรับอิสลามิกชนได้ถึง ๔,๐๐๐ คน ที่มาประกอบพิธีละหมาดในวันธรรมดา ส่วนในวันศุกร์ผู้คนจะมากันมากถึง ๑๐,๐๐๐ คน จึงล้นหลามออกมาลานจตุรัสภายนอก และยิ่งในวันประกอบศาสนพิธีสำคัญ จะมีผู้ศรัทธามาประกอบพิธีหลายหมื่นคน มัสยิดอิดคาห์จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเหวยหวูเอ่อร์ในคาสือและซินเจียงโดยแท้จริง
อ่านรายละเอียดและชมภาพประกอบสวยงามเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “Silkroad เส้นทางสายแพรไหมในจีน : จากซีอานสู่คาราโครัม” โดยผู้เขียน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี ตุลาคม ๒๕๖๖.
โฆษณา