26 ต.ค. 2023 เวลา 08:08 • ไลฟ์สไตล์

ชวนส่องขนมปังรอบโลก ! 🥖🥐🍞 - (ตอนที่ 1)

“ขนมปัง” ถือว่าเป็นหนึ่งใน “อาหารให้ชีวิต” ตามคัมภีร์ไบเบิล
ว่ากันว่าขนมปังอาจเป็นจุดเริ่มต้นในเส้นทางอาหารของมนุษย์ ที่มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ 14,000 ปีที่ผ่านมาในบริเวณชายแดนของประเทศจอร์แดน
ส่วนขนมปังชิ้นแรกนะเหรอ… ว่ากันว่าเป็นขนมปัง “Sourdough” ที่คิดค้นขึ้นโดยชาวอียิปต์โบราณเมื่อ 4,000 ปีที่ผ่านมา
ส่วนประกอบของขนมปังนั้น แรกเริ่มเดิมทีก็ง่ายแสนง่าย แป้งสาลี น้ำเปล่า ยีสต์ และความร้อน
🫓ขนมปังซาวโดว์ (Sourdough) ก้อนแรกที่ชาวอียิปต์ค้นพบขึ้น ก็เกิดมาจากความบังเอิญของการหมักวัตถุดิบดังกล่าวทิ้งเอาไว้ด้วยกัน แล้วก็…เผลอลืมทิ้งไว้และโดนความร้อนจากอากาศ จนทุกอย่างมันแข็งตัว จึงได้เกิดเป็น ขนมปังหมัก หรือ ขนมปังซาวโดว์ (Sourdough) โดยบังเอิญ (อีกแล้ว ตามสูตร..🥲)
🛫 จากนวัตกรรมขนมปังของชาวอียิปต์ แพร่ขยายไปสู่ 2 เส้นทางหลัก ๆ ทั่วโลก
1. อียิปต์ >> เมดิเตอร์เรเนียน (กรีซ โรมัน) >> ยุโรป (อิตาลี,ฝรั่งเศส) >> ทวีปอเมริกา
2. อียิปต์ >> ตะวันออกกลาง >> ทวีปเอเชีย (อินเดียและจีน)
เมื่อขนมปังเดินทางไปถึง 2 ทวีปยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาและเอเชีย นั่นก็หมายถึงว่ามันได้เดินทางไปรอบโลกแล้วนั่นเอง
เรื่องราวของอาหารเนี่ย เจอแต่เรื่องบังเอิญมาก็เยอะ
แต่เรื่องราวของขนมปังที่ไม่บังเอิญก็พอมีอยู่บ้างนะ
บ้างก็เกิดจากความตั้งใจสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่าง หรือ บางชนิดก็ได้แรงบันดาลใจมาจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือ บางก้อนก็เกิดมาจากวิถีการกินและความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศนั้น ๆ
งั้นวันนี้พวกเรา InfoStory ขอพาเพื่อน ๆ ทุกท่านไปรับชมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเรื่องราวของขนมปังรอบโลกกันดีกว่า
โดยเราจะทำออกมาให้รับชมกัน 3 ตอนนะคร้าบ 😍🙏
[ เมื่อฝรั่งเศสไม่ได้มีแค่ "บาแกตต์ (Baguette)" 🇫🇷🥖]
สำหรับขนมปังฝรั่งเศส พวกเราจะมาเล่าเกร็ดเล็กเรื่องสั้น และคำอ่านของชื่อขนมปังให้เพื่อน ๆ อ่านกันเพลิน ๆ
ชื่อคำอ่านขนมปังฝรั่งเศสที่หยิบยกมาในภาพนะคร้าบ
Baguette = บาแกตต์
Croissant = ครัวซองต์
Brioche = บริยอช
Ficelle = ฟรีเซล
Pain de Campagne = ปาง เดอ กอมปาญ(เยีย)
Boule de Pain = บูล เดอ ปาง
Pain Brié = ปาง บรีเอ
Pain Couronne = ปาง คูฆรอง
Fougasse = ฟูกาส(เซ่อะ)
ปล.ตรงวงเล็บ เราเข้าใจว่ามันเป็นการออกเสียง เสียงกระซิบ ไม่ได้ออกเสียงเต็มๆ อันนี้อธิบายไม่ถูกเหมือนกันคร้าบ ต้องขออภัยนะครับ แห่ะ ๆ
ปล. อีกอัน. ต้องขออนุญาตแจ้งไว้ล่วงหน้า เนื่องจากพวกเราเองไม่ได้มีความรู้เรื่องการอ่านภาษาดังกล่าว แต่เป็นการรวบรวมการออกเสียงจากแหล่งอ้างอิง และพยายามฟังจากยูทูป หากผิดพลาดจากคำอ่านที่ถูกต้องประการใด ต้องรบกวนเพื่อน ๆ ชี้แนะมาให้พวกเราแก้ไขด้วยนะคร้าบ 🙏
.
[ “บาแกตต์ (Baguette)” สัญลักษณ์แห่งขนมปังฝรั่งเศส 🥖🇫🇷 ]
หากเรียกขนมปังบาแกตต์เลย บางคนอาจไม่คุ้นชื่อ แต่ถ้าเรียกขนมปังที่ตีหัวแตก ก็น่าจะพอคุ้นๆกันอยู่ (แซวๆนะคร้าบ😚)
แต่เพื่อน ๆ คนไหนที่เคยไปเที่ยวฝรั่งเศส ก็จะพบเห็นผู้คนถือขนมปังบาแกตต์แท่งยาวกลับบ้านยามเย็นกันเป็นเรื่องปกติ
ที่เราเห็นเค้าถือบาแกตกลับบ้านกันหลังเลิกงานช่วงเย็น ก็เพราะคนฝรั่งเศสนิยมนำมากินเป็นมื้อเช้านั่นเองคร้าบ (อาจไม่ใช่ครัวซองต์แบบที่เราคิดนะ)
.
ขนมปังชิ้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นขนมปังประจำชาติของฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้ ขนาดที่ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสผลักดันให้ บาแกตต์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมยูเนสโกเมื่อปี 2021 อีกด้วยนะ !
คำว่า บาแกตต์ (baquette) แปลตรงตัวหมายถึง ท่อนไม้, แท่งไม้ (ก็ตรงกับลักษณะของขนมปังเนอะ)
ขนมปังชิ้นนี้ว่ากันว่าถูกคิดค้นในปี ค.ศ. 1920 โดยเริ่มแรกสูตรการผลิตจะค่อนข้างเป้ะอยู่พอสมควร กล่าวคือ มีแค่ แป้งสาลี เกลือ น้ำตาล และยีสต์ เพียงเท่านั้น ที่สำคัญคือ จะต้องมีความยาว 65 เซนติเมตร เป็นต้นไป โดยบาแกตต์ จะต้องอบภายในวันและบริเวณที่จะขายเท่านั้น
แต่หากให้ย้อนกลับไปไกลกว่านี้อีก ก็ว่ากันว่าจอมทัพนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) เป็นผู้คิดค้นขนมปังบาแกตต์ โดยในสมัยนั้น นโปเลียน เพียงแค่ต้องการขนมปังรูปทรงยาวและแข็ง เพื่อให้ทหารพกพาติดตัวได้สะดวก เอามีดหั่นทานได้ง่าย
.
[ แท้จริงแล้ว “ครัวซองต์ (Croissant)” ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากฝรั่งเศส 😱🥐 ]
หากว่า มันมีต้นกำเนิดมาจากประเทศออสเตรียตะหากละ ! 🇦🇹
โดยดั้งเดิมจะมีชื่อว่าขนมคิปเฟล (Kipferl) ซึ่งเป็นขนมที่สื่อถึงชัยชนะจากสงคราม…
อะ เรื่องมันเป็นยังไงนะ ?
คิปเฟล (Kipferl) มีความหมายตรงตัวในภาษาเยอรมัน “พระจันทร์เสี้ยว” ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในช่วงปี ค.ศ. 1683 เนื่องจากเวียนนาชนะสงครามจากจักรวรรดิออตโตมัน
ชาวออสเตรียจึงได้ทำขนมอบเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว (เจ้าคิปเฟลนี่ละ) ขึ้นมาเพื่อล้อเลียนเชิงสัญลักษณ์ถึงชัยชนะต่อชาวเติร์กที่มีธงเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว
ซึ่งเจ้าขนมคิปเฟล (Kipferl) อันนี้เอง ก็ยังถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีการอบขนมสไตล์เวียนนา (Viennoiseries) อีกด้วยนะ
Kipferl
.
🧐🤔 เอ แล้ว…. เจ้าคิปเฟลมันกลายมาเป็นครัวซองต์ของฝรั่งเศสที่โด่งดังไปทั่วโลกได้ยังไงนะ ?
- ในช่วงปี 1770 พระนางมารี อ็องตัวแน็ต เจ้าหญิงออสเตรียจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์คได้อภิเษกสมรสและกลายเป็นราชินีแห่งราชวงศ์ฝรั่งเศส ได้คิดถึงขนมปังจากบ้านเกิดของตัวเอง
- พระนางเลยสั่งให้พ่อครัวทำขนมคิปเฟลขึ้นมา ขนมคิปเฟลสูตรของพระนางก็ได้โด่งดังอย่างมากในกรุงปารีส
- ในปี 1839 นักอบขนมชาวออสเตรียนามว่า “ออกัส แซง (August Zang)” ได้ทำการดัดแปลงขนมคิปเฟลเพื่อให้ถูกปากชาวฝรั่งเศสมากขึ้น
- จนกระทั่งกลายเป็นขนมครัวซองต์ (Croissant) หอมเนย กรอบนอก นุ่มฟูด้านใน (ที่อาจคงเหลือเค้าเดิมของขนมคิปเฟลอยู่นิดหน่อย)
.
อันที่จริงแล้วเนี่ย… เราไปหามาอีกเรื่อย ๆ ก็พบว่า บาแกตต์ ขนมปังแห่งชาติฝรั่งเศสเอง… อาจไม่ได้ถูกคิดค้นโดยชาวฝรั่งเศส งั้นเราขอเพิ่มเติมเรื่องของบาแกตต์อีกนิด
ว่ากันว่าบาแกตต์ดั้งเดิมถูกคิดค้นโดยชาวออสเตรียเจ้าเดิม คุณออกัส แซง (August Zang) (อีกแล้ว) ที่อาศัยอยู่ในปารีส โดยเป็นศิลปะการอบแบบ Viennoiseries (อ้าว..อีกแล้ว) 😅
[ เมื่อความอร่อยแบบขนมปังบาแกตต์ ไม่ได้มีดีแค่ที่ฝรั่งเศส 🇮🇹🍞]
ชื่อคำอ่านขนมปังอิตาลีที่หยิบยกมาในภาพนะคร้าบ
Ciabatta = ชาบัตตา
Focaccia = โฟคัชชา
Pane Toscano = ปาเน ทอสคาโน
Crescentina = เครสเซนตีนา
Panettone = ปาเน็ตโทนี่
Grissini = กรีซซินี่
Pane Carasau = ปาเน คาราเซา
Ciriola =ชิริโอลา
Rosetta = โรเซ็ทตา
ปล. ต้องขออนุญาตแจ้งไว้ล่วงหน้า เนื่องจากพวกเราเองไม่ได้มีความรู้เรื่องการอ่านภาษาดังกล่าว แต่เป็นการรวบรวมการออกเสียงจากแหล่งอ้างอิง และพยายามฟังจากยูทูป หากผิดพลาดจากคำอ่านที่ถูกต้องประการใด ต้องรบกวนเพื่อน ๆ ชี้แนะมาให้พวกเราแก้ไขด้วยนะคร้าบ 🙏
.
[ “Ciabatta” ขนมปังสุดโด่งดังของชาวอิตาลี ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก…”รองเท้าแตะ” 🩴🇮🇹]
สำหรับเพื่อน ๆ ที่ทราบความหมายของคำศัพท์อิตาลี “Ciabatta” ก็คงจะไม่แปลกใจ
Ciabatta หรือ ขนมปังชาบัตตา มีความหมายว่า "รองเท้าแตะ"
กำเนิดในช่วงปีค.ศ. 1982 โดยคุณ Arnaldo Cavallari เจ้าของโรงอบขนมปังเล็ก ๆ ใกล้กับเมืองเวนิซ โดยคุณ Arnaldo เริ่มผลิตขนมปังโดยใช้สูตรที่สุดแสนจะเรียบง่าย นั่นคือ “แป้งสาลี น้ำ ยีสต์ และเกลือ”
หรือจริง ๆ แล้ว มันก็คือสูตรเดียวกับบาแกตต์และต้นกำเนิดของขนมปัง เค้าว่ากันว่าคุณ Arnaldo เลียนแบบขนมปังบาแกตต์ของฝรั่งเศสที่ได้รับความนิยมมาก ๆ ในอิตาลี
เพิ่มเติมด้วยการสร้างเอกลักษณ์เพื่อทำการตลาดสักหน่อย โดยทำรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อที่จะได้หั่นทานแบบแซนวิชได้ง่าย ๆ แต่อบจนเสร็จแล้ว ดันมีรูปร่างคล้ายรองเท้าแตะ เลยกลายเป็นกิมมิกไปได้เลย
จากนั้นคุณ Arnaldo ก็ปรับสูตรให้ถูกปากชาวอิตาลีมากขึ้นโดยเพิ่มน้ำมันมะกอก และปรับใช้แป้งขนมปังขาว
จนกระทั่งปี ค.ศ. 1999 ขนมปังรองเท้าแตะสูตรของคุณ Arnaldo จะกลายเป็นที่นิยมไปทั่วอิตาลี (เพราะได้แรงสนับสนุนจากโรงอบขนมปังเจ้าใหญ่ ๆ) และขยายออกไปทั่วยุโรปโดยการจับมือร่วมกับบริษัทชื่อดังต่าง ๆ อย่างเช่น Marks & Spencer หรือ ข้ามไปฮอตฮิตในฝรั่งอเมริกาผ่านบริษัท Orlando Bakery
เรียกได้ว่า ในระยะเวลาอันสั้นเนี่ย ชาบัตตา กลายเป็นหนึ่งในขนมปังคู่แฝด คู่แข่งกับบาแกตต์ ไปเรียบร้อย 🤩
1
.
[ “ปาเนตโตเน (PANETTONE)” ขนมปังที่เราชื่นชอบแบบส่วนตัว 🥰💓]
ที่เราชื่นชอบก็เพราะว่าเวลาที่ได้กินขนมปังปาเนตโตเน ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาส (แต่จริง ๆ มันหากินได้เรื่อย ๆ นะ) อะไรที่เราชื่นชอบเนี่ย ก็จะต้องไปหาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่ากันสักนิดนึง
Pane (ปา-เน) แปลตรงตัวว่า “ขนมปัง”
Panetto แปลว่า ขนมปังก้อนใหญ่
ส่วนคำว่า Tone (โทนี่) จริง ๆ แล้วในบริบทนี้ก็มาจากชื่อของผู้คิดค้นขนมปังชิ้นนี้
คุณโทนี่ เป็นนักอบขนมปังชาวอิตาลีที่มีฐานะยากจน แต่ว่าลูกสาวของเค้าดันได้ไปแต่งงานกับชายหนุ่มสูงศักดิ์
ในวันแต่งงานของลูกสาว คุณโทนี่เลยทุ่มสุดตัว อบขนมปังสูตรพิเศษที่สรรหาแต่วัตถุดิบคุณภาพสูง จึงได้ออกมาเป็นขนมปังเค้ก นั่นเอง
ที่นี้ มันก็มีอีกเรื่องราวหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากกว่าเรื่องราวของคุณพ่อโทนี่
ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 15 ที่กรุงมิลาน ดยุค Ludovico Il Moro ต้องการฉลองเทศกาลคริสต์มาสสุดหรูหราให้แขกผู้สูงศักดิ์ ด้วยขนมปังอบสูตรนุ่ม ซึ่งเป็นสูตรพิเศษของพ่อครัวของเขา
อบไปอบมา…อ้าว พ่อครัวเจ้ากรรมดันเผลอหลับคาตู้อบขนมปังไปซะงั้น….😱😱
ผู้ช่วยพ่อครัวชื่อว่า "Toni" จึงต้องรีบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการนำเศษขนมปังที่ไหม้ แต่ไม่เกรียม มาประกอบกัน ตกแต่งด้วยการยัดลูกเกดกะผิวมะนาวลงไป เพิ่มน้ำตาลอีกนิด เติมไข่อีกหน่อย แล้วนำไปอบอีกครั้งนึง แต่คราวนี้ไม่หลับแล้วจ้า
สุดท้ายสูตรขนมปังสุดจะงง ๆ นี้ ก็กลายเป็นขนมปังเค้กยอดนิยมของเหล่าชนชั้นสูง และได้กลายเป็นหนึ่งในขนมอบยอดนิยมประจำเทศกาลคริสต์มาส (ก็เพราะมันถูกเปิดตัวในเทศกาลคริสต์มาสนี่เนอะ)
และถ้าจะให้ตั้งชื่อเนี่ย มันก็คงไม่พ้นชื่อของเด็กหนุ่มผู้ช่วย(ชีวิต)พ่อครัว เลยกลายเป็นชื่อ “Pan de Toni” หรือ ขนมปังของโทนี่ นั่นเองคร้าบ 🤟🥰
[ "สเปน & โปรตุเกส" ดินแดนแห่งความหลากหลายของขนมปังยุโรป 🇵🇹🇪🇸 ]
ชื่อคำอ่าน
🇪🇸 Pan de barra = ปัน เด บาร์รา
🇪🇸 Mollette = โมเล็ต(ทื่อ)
🇪🇸 Coca = โคก้า
🇪🇸 Tortas De Aceite = ตอร์ตัส เด อาเซเต
🇪🇸 Chapata =ชาปาตา
🇵🇹 Broa de Milho = บรออา เด มีโล
🇵🇹 Bolo lêvedo = โบโล เลวฟเอโด
🇵🇹 Bolo do Caco = โบโล ดู คาโก
🇵🇹 Torrada = โตฆาดา
ตรงวงเล็บ เราเข้าใจว่ามันเป็นการออกเสียง เสียงกระซิบ ไม่ได้ออกเสียงเต็มๆ อันนี้อธิบายไม่ถูกเหมือนกันคร้าบ ต้องขออภัยนะครับ แห่ะ ๆ
ปล. ต้องขออนุญาตแจ้งไว้ล่วงหน้า เนื่องจากพวกเราเองไม่ได้มีความรู้เรื่องการอ่านภาษาดังกล่าว แต่เป็นการรวบรวมการออกเสียงจากแหล่งอ้างอิง และพยายามฟังจากยูทูป หากผิดพลาดจากคำอ่านที่ถูกต้องประการใด ต้องรบกวนเพื่อน ๆ ชี้แนะมาให้พวกเราแก้ไขด้วยนะคร้าบ 🙏
.
[ “Pan de barra” บาแกตต์ (Baguette) แห่งประเทศสเปน 🥖🇪🇸]
หนึ่งในขนมปังยอดนิยมของชาวสเปน ไม่ต่างไปจากชาวฝรั่งเศสเลย
ถึงแม้รูปร่างหน้าตา รวมไปถึงแรงบันดาลใจจะมาจากขนมปังบาแกตต์ของฝรั่งเศสก็จริง
แต่ก็ไม่ได้เหมือนต้นฉบับบาแกตต์ ของฝรั่งเศสไปซะทีเดียว เพราะว่าเนื้อสัมผัสภายในค่อนข้างแข็งและแห้งกว่าเล็กน้อย เพราะชาวสเปนจะชอบนำไปทำเป็นแซนวิชหรือสอดไส้ด้วยเนื้อสัตว์กินกัน
แต่ว่าสำหรับ “Pan de barra” จากกรุงมาดริดเนี่ย จะมีเนื้อสัมผัสที่นุ่มและขนาดที่บางกว่าสูตรทั่วไป
.
[ “Chapata” เมื่อชาบัตตา (Ciabatta) ไม่ได้มีแค่ในอิตาลี 🫓🇵🇹 ]
Chapata แบบแซนวิช
เช่นเดียวกับ Pan de barra
Chapata ก็คือ ขนมปังชาบัตตาแบบฉบับของชาวสเปน ที่ได้แรงบันดาลใจจากชาบัตตาสูตรของคุณ Arnaldo ที่เราได้เล่าไปในภาพที่แล้ว
เอ่อ…สั้น ๆ แค่นี้เลย ไม่รู้ว่าจะแถเล่าอะไรดี ฮ่า ๆ
(เพื่อน ๆ อาจตกใจกัน เปิดหัวข้อมาซะใหญ่เหมือนจะมีอะไรมาเล่า 😂🥲 หวังว่าเพื่อน ๆ ได้มีรอยยิ้มกันบ้าง เราก็ดีใจนะคร้าบ 555)
.
[ เมื่อขนมปังปิ้งทาเนยน้ำตาลสุดคุ้นตา ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย 🥪🇵🇹 ]
ขนมปังปิ้งโปรตุเกส หรือ Torrada (หรือ Toast) ซึ่งเป็นมาจากคำกริยาภาษาโปรตุเกส "torrar" ซึ่งหมายถึงการปิ้งหรือทำให้กรอบ​ นั่นเอง
ในแบบฉบับของโปรตุเกส จะเป็นการปิ้งขนมปังจนกรอบ เน้นไปที่กลิ่นที่หอม
โดยชาวโปรตุเกสจะนิยมกินเจ้าขนมปังปิ้งกันในมื้อเช้า
เค้าก็กินแบบสิคเลยคือ เมนู Torrada com manteiga ขนมปังปิ้งทาเนยนี้ละ
ในความธรรมด๊าธรรมดา ก็มีเกร็ดประวัติเล็กน้อย
ว่ากันว่าการปิ้งขนมปังในรูปแบบนี้ของโปรตุเกส ถือว่าเป็นนวัตกรรมการปิ้งขนมปังแบบใหม่ (โอโห..อะไรจะขนาดนั้น)
จากที่เราพยายามค้นหามา คือ ขนมปังยอดฮิตมันก็ไม่พ้น Chapata Pan de barra หรือ ขนมปังแนวซาวโดว์
ทีนี้ ขนมปังที่แหวกแนวออกไป เห็นทีก็จะมีแต่ขนมปังปิ้งแผ่นบาง
ในช่วงปี ค.ศ.1903, คุณ Charles Heudebert (น่าจะเป็นชาวฝรั่งเศสที่อาศัยในโปรตุเกสนะ) ได้เกิดไอเดียเด็ดๆ ขึ้นมา เขาจึงเริ่มนำขนมปังขาวนุ่มมาปิ้ง จนมันเริ่มแข็งตัวมีกลิ่นหอมฟุ้ง
อย่างไรก็ดี การที่เค้านำขนมปังแผ่นที่ใหญ่เกินไปมาปิ้ง มันก็กินไม่ค่อยอร่อย จะไปขายใครเค้าก็ไม่เอากัน
คุณ Charles เลยตัดสินใจลองหั่นหลายส่วนให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อที่จะทำให้กินง่ายขึ้น ปาดด้วยเนย
อร่อยแบบง่าย ๆ แค่นี้เลย กลายเป็นขนมปังยอดฮิตติดคาเฟ่ประจำโรงเรียนในโปรตุเกสได้ทันที (คงไม่ต่างจากบ้านเราเนอะ 🥰)
แล้วเพื่อน ๆ ทราบไหมว่า เจ้าขนมปังปิ้งแบบนี้ไม่ได้ฮอตฮิตแค่ในโปรตุเกสนะ แต่ว่าที่ประเทศบราซิลเค้าก็นิยมเช่นกัน 🇧🇷
ทั้งนี้ต้นกำเนิดของเจ้าขนมปังปิ้งโปรตุเกสเนี่ย เป็นเพียงแค่เรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมานะคร้าบ ด้วยความง่ายและธรรมดา มันจึงทำให้แอบเชื่อยากว่าใครเป็นคนคิดค้นขึ้นมา แต่เอาเป็นว่าเราสามารถนำไอเดียของเค้ามาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของเราได้เช่นกันเนอะ 😉
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือ Bread of Life : Savoring the All-Satisfying Goodness of Jesus through the Art of Bread Making เขียนโดย Dodds, Abigail
- หนังสือ The Breads of France: And How to Bake Them in Your Own Kitchen
เขียนโดย Bernard Clayton
- หนังสือ The Italian Baker, Revised: The Classic Tastes of the Italian Countryside เขียนโดย Carol Field
- บทความ The history of panettone จากเว็บ bottegadicalabria
โฆษณา