27 ต.ค. 2023 เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์

Conflict Avoidant Personality ออกจากความขัดแย้งยังไงให้แย่กว่าเดิม

‘คงไม่มีใครอยากเผชิญหน้ากับปัญหาที่อยู่ตรงหน้าใช่ไหม? หากสมมุติเกิดเหตุการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายไม่ลงรอยจนมีปากเสียงกัน คุณจะแก้ไขสถานการณ์หรือหลีกเลี่ยงมันไปเลย’
เมื่อคุณได้ลองห้วนคิดคำนึงถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมา ต้องเคยผ่านประสบการณ์อึดอัดใจอย่างการทะเลาะวิวาทที่เกิดจากความไม่ลงรอยกัน โดยหลายต่อหลายครั้ง จะเกิดกับบุคคลใกล้ตัวตั้งแต่พ่อและแม่ กลุ่มเพื่อน รวมไปถึงเครือญาติ ซึ่งส่งผลกระทบทางอารมณ์หรือจิตใจคุณไม่น้อย
จึงไม่แปลกที่หลายครั้ง จะเลือกหนีปัญหา เพื่อให้ความสัมพันธ์ยังคงดำเนินต่อไปได้ ถึงแม้การหนีปัญหาจะทำให้สถานการณ์นั้นคลี่คลาย แต่หากปล่อยให้ความไม่สบายใจจากความขัดแย้งอยู่ในใจเราไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นปมที่รอวันปะทุออกมา ถึงตอนนั้นก็ยากเกินจะแก้ไขแล้ว
ซึ่งปมความขัดแย้งในจิตใจ ก็มาจากการเลือกใช้วิธีหลีกเลี่ยงปัญหาอยู่เสมอ จนติดเป็นนิสัยที่เรียกว่า บุคลิกหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
Inside Your Mind จึงอยากจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับบุคลิกหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ถึงลักษณะนิสัย ประเภทของบุคคล และวิธีการเอาชนะมัน เผื่อจะช่วยให้คุณได้ทำความเข้าใจกับบุคลิกและเอาชนะนิสัยนี้ได้
[ บุคลิกหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เป็นอย่างไร ]
บุคลิกหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง หรือที่เรียกกันว่า The Conflict Avoidant หรือ Conflict Avoidance เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิก People Pleaser หรือคนที่พยายามมอบความสุขให้กับผู้อื่น โดยพวกเขามักจะพาคู่กรณีหลีกหนีความขัดแย้ง เพื่อปกป้องไม่ให้เกิดความเจ็บปวดทางกายและความเครียดต่อจิตใจ
โดยลักษณะของบุคลิกนี้ ก็จะมีตั้งแต่การปฏิเสธว่า ตอนนี้กำลังเกิดปัญหา กลัวหรือหลีกเลี่ยงจนต้องเก็บความรู้สึกเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินต่อไป หากเกิดสถานการณ์นั้นขึ้นก็จะหลีกเลี่ยงด้วยการเล่นมุกตลก เปลี่ยนเรื่องคุย หรือปัดความคิดเห็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนไม่รู้เลยว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายความสัมพันธ์ของพวกเขา
แม้การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง จะเป็นเรื่องปกติในการเคลียร์สถานการณ์ให้ราบรื่น แต่หากกระทำบ่อยๆ มันก็กลายเป็นการระงับอารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่เต็มไปด้วยความรู้สึกยุ่งยาก หนักใจ ขุ่นเขือง รวมถึงความไม่พอใจที่ถูกปล่อยเลยตามเลยหรือแก้ไขไม่ตรงจุด ก็จะกลายเป็นชนวนของการทำลายความสัมพันธ์ อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อตนเอง ให้เกิดภาวะความเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้าได้
Credit by Freepik
[ ประเภทของบุคลิกหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ]
1. หลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพื่อปกป้องตัวเอง
คนประเภทนี้จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งด้วยการขุดคุ้ยหรือพูดซ้ำๆ เพื่อเสริมมุมมองของตนเอง ทำให้ฝ่ายที่ถูกกระทำต้องยอมเพิกเฉยต่อทัศนคติของเขาและความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งการหลีกเลี่ยงแบบนี้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับการทะเลาะวิวาทที่ไม่เคารพหรือดูถูกเหยียดหยามซึ่งกันและกันที่จะส่งผลให้ความสัมพันธ์นั้นแย่ลง
ยกตัวอย่าง โอมักจะมั่นใจในตัวเองสูง จนไม่ฟังความเห็นและความรู้สึกของต้อย โดยอ้างว่า ก็เราเก่งง่ะ จะทำไม จนเผลอล้ำเส้นและปัดความคิดเห็นของต้อยอย่างไม่ใยดี ทำให้ต้อยต้องคุยถึงข้อตกลงกับโออย่างใจเย็น หากโอไม่ทำตาม ก็อาจจะลดหรือตัดความสัมพันธ์อย่างเงียบๆ เพื่อปกป้องตัวเอง
2. หลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง
คนประเภทนี้จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งจากการที่ต้องอธิบายพฤติกรรมของตนเอง เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบหรือตั้งใจให้ผู้อื่นมองข้ามการกระทำของตัวเอง โดยมีคำแก้ตัวว่า “ก็เราไม่อยากทำให้คุณเครียด ก็เลยไม่บอกคุณ” หรือ “ขอไม่พูดถึงเรื่องนี้ได้ไหม แค่ทำงานก็เครียดจะตายอยู่แล้ว”
ยกตัวอย่าง สองสามีภรรยา ได้ทำข้อตกลงในการออมเงิน ซึ่งสามีก็ได้ประหยัดค่าใช้จ่ายเท่าที่ทำได้ ส่วนภรรยากลับเลือกใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย พอสามีจับได้ ภรรยาก็เลือกที่จะเลี่ยงและอ้างเรื่องการทำงานหนัก เพื่อเลี่ยงการอธิบายการกระทำของตนเอง
[ วิธีการเอาชนะบุคลิกหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ]
โดยเราได้นำวิธีการเอาชนะบุคลิกนี้จากบาบิตา สปิเนลลี (Babita Spinelli) นักจิตอายุรเวทหรือ CEO ของ Opening the Doors Psychotherapy ดังต่อไปนี้
1. คำนึงถึงคุณค่าของความขัดแย้ง
บาบิตา สปิเนลลี กล่าวว่า ลองปรับมุมมองเกี่ยวกับความขัดแย้งใหม่ แทนที่จะมองความขัดแย้งเป็นความเจ็บปวด ให้มองว่า ความขัดแย้งจะสอนอะไรกับเราบ้าง
อย่างเช่น ความขัดแย้งอาจเป็นโอกาสใกล้ชิดกัน ความขัดแย้งเป็นการปรับปรุงความสัมพันธ์ให้เข้าใจกันมากขึ้น หรือความขัดแย้งทำให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า แม้ความขัดแย้งทำให้เราเป็นทุกข์ซะแค่ไหน แต่ถ้าเราเข้าใจอย่างซาบซึ้ง ผลกระทบเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาตัวเองได้แน่นอน
2. ค่อยๆ ฝึกปฏิเสธ
ลองฝึกจิตใจให้คัดค้านกับสถานการณ์ที่เรารู้สึกไม่พอใจบ้าง โดยเริ่มจากสถานการณ์ขัดแย้งที่จะทำให้เราวิตกกังวลหรือส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์น้อยที่สุด อย่างเช่น พ่อซื้อกับข้าวมาผิดหรือน้องชายไม่ได้ติดต่อคุณเวลาออกไปข้างนอก ซึ่งมันจะฝึกให้คุณมั่นใจในตัวเองและพัฒนาการสื่อสารได้เต็มเปี่ยม
3. เผชิญกับภาวะวิตกกังวล
การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง อาจจะเริ่มจากความวิตกกังวลที่กระตุ้นห้วงความคิดว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า (โดยถ้าเติมสถานการณ์ตรงหน้า)” เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราบอกเขาว่าเราเห็นด้วยกับอีกคนนึงหรือจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไปไม่ทันนัด ซึ่งคล้ายกับสัญญาณเตือนตัวเองเกี่ยวกับปฏิกิริยาของใครบางคนและล้วงรู้ผลกระทบไปก่อนแล้ว
แต่อย่าพึ่งด่วนสรุปไปเลย ขอให้คุณอย่าลืมข้อแรกและเตรียมใจให้พร้อมกับสถานการณ์ด้วยการหาเหตุผลและคำพูดในการรับมือกับมันซะ
4. ลองใช้เทคนิคจัดการอารมณ์ระหว่างความขัดแย้ง
ก่อนที่เราจะเผชิญกับปัญหาตรงหน้านั้น เราต้องค้นหาเทคนิคในการจัดการอารมณ์ตัวเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการหายใจหรือเทคนิคการตั้งสติในแบบต่างๆ เพื่อให้เราหยุดความกดดันและคิดหาทางเลือกอื่นๆ ในการจัดการปัญหา
5. พิจารณาถึงการบำบัด
อาจจะดูเหมือนว่า การบำบัด คือ ทางเลือกสุดท้ายใช่ไหม ทว่าการได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้เราเข้าใจถึงต้นตอของปัญหา ฝึกฝนแก้ไขสถานการณ์และได้รับคำแนะนำดีๆ ตั้งแต่การระบุถึงสิ่งที่คุณกลัว ปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับความขัดแย้ง สร้างทักษะการสื่อสาร ฝึกพูดหรือรับรู้ความรู้สึกของตนเอง และเรียนรู้วิธีรับมือที่ถูกต้อง ฯลฯ
Credit by Canva
ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกหนีมันได้ ถึงจะหลีกเลี่ยงไปสักเท่าไร แต่มันก็เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งโชคยังดีที่ยังมีการสื่อสารเป็นทักษะติดตัวในการช่วยเพิ่มโอกาสฟื้นฟูความสัมพันธ์อีกครั้ง
ฉะนั้นแล้ว จงใช้การสื่อสารของเราไปเผชิญกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้าเถอะ คิดซะว่า นั้นเป็นประสบการณ์เรียนรู้ชีวิตให้เราเข้าใจปัญหา พัฒนาทักษะความสัมพันธ์และการสื่อสาร และการแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้ในอนาคต
'หากต่อจากนี้ความสัมพันธ์หลังความขัดแย้งจะไม่เหมือนเมื่อก่อน แต่อย่างน้อยปัญหาที่เคลียร์ใจกันแล้ว ก็ยังพบปะพูดคุยกันได้อยู่ใช่ไหมละ?'
โฆษณา