29 ต.ค. 2023 เวลา 17:16 • ประวัติศาสตร์

เมื่อเด็กสุรินทร์ถิ่นเซราะกราว เขียนจดหมายเชิญชวนนักบินอวกาศชื่อดังก้องโลกมาเยือนไทย

นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศสัญชาติอเมริกัน ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1969 (พ.ศ.2512) โดยเดินทางไปปฏิบัติภารกิจพร้อมยานอวกาศอะพอลโล 11 ร่วมกับเพื่อนนักบินอีก 2 คน ได้แก่ เอ็ดวิน บัซ อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์
"นี่คือก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ" คำกล่าวอันลือลั่นของ นีล อาร์มสตรอง ผู้บัญชาการแห่งยานอะพอลโล 11 ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านข่าวโทรทัศน์ และตีพิมพ์บนหนังสือพิมพ์ทั่วโลก หลังจากเขาประทับรอยเท้าลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการบุกเบิกด้านสำรวจอวกาศครั้งสำคัญที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก
ยานอวกาศอะพอลโล 11 เดินทางกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยในวันที่ 24 กรกฎาคม 1969 (พ.ศ.2512) นีล อาร์มสตรอง ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของโลก และส่งผลให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้นำด้านการแข่งขันอวกาศ ท่ามกลางบรรยากาศอันคุกรุ่นของสงครามเย็น เรื่องราวภารกิจพิชิตดวงจันทร์ของเหล่านักบินอวกาศ กลายเป็นข่าวโด่งดังที่สร้างความตื่นเต้นให้ผู้คนทั่วโลกในแทบทุกวงการ
ไม่เว้นแม้แต่ในวงการดนตรี เมื่อ David Bowie (เดวิด โบวี) ศิลปินระดับตำนานชาวอังกฤษ ปล่อยเพลงที่มีชื่อว่า "Space Oddity" ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2512 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ยานอะพอลโล 11 จะเดินทางไปดวงจันทร์ ทว่ากลับถูกสถานีวิทยุ BBC สั่งห้ามเปิดเพลงดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่า จะเผยแพร่ได้ก็ต่อเมื่อนักบินอวกาศทั้งหมดจะกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย สาเหตุมาจากเนื้อหาในเพลงกล่าวถึง 'ผู้พันทอม' นักบินอวกาศที่เดินทางไปปฏิบัติภารกิจด้านอวกาศ แต่ระหว่างนั้นสัญญาณสูญหายและขาดการติดต่อกับภาคพื้นดิน
แน่นอนว่าหลังจากทีมของ นีล อาร์มสตรอง กลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัย เพลงดังกล่าวก็ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุ สะท้อนให้เห็นถึงกระแสความโด่งดังของภารกิจพิชิตดวงจันทร์ของสหรัฐอเมริกาในครั้งนั้น ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและจับตามองอย่างใกล้ชิด แต่ทั้งนี้ก็มีการตีความว่า "Space Oddity" เป็นบทเพลงแฝงนัยวิจารณ์ความล้มเหลวด้านอวกาศของอังกฤษ ที่ไม่สามารถแข่งขันทัดเทียมสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นได้
โดยในปีนั้นเอง กลุ่มนักเรียนชมรมภาษาอังกฤษจากจังหวัดสุรินทร์ นำโดย อรนุช ภาชื่น และ พรเพ็ญ เพียรชอบ กับเพื่อนรวม 6 คน ได้ลองเขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษส่งไปยัง นีล อาร์มสตรอง
โดยผู้ที่ให้ความช่วยเหลือในการเรียบเรียงภาษาและทำหน้าที่ช่วยนำส่งจดหมายของเด็กๆ ในตอนนั้นคือ ‘มิสมาร์กาเร็ต’ อดีตครูสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียน ที่ได้ประสานงานไปยังสำนักงานข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย (USIS) และอาสาสมัครอเมริกันประจำประเทศไทย (Peace Corps Volunteers) ให้ช่วยดำเนินการติดต่อนักบินอวกาศจากยานอะพอลโล 11 เพื่อหวังให้เดินทางมาเยือนประเทศไทยสักครั้งหลังจากกลับสู่พื้นโลก โดยเนื้อความในจดหมายระบุไว้ว่า
“พวกเราได้อ่านข่าวของท่านเกี่ยวกับการเดินทางไปดวงจันทร์และพวกเรามีความยินดีที่จะเชิญท่านทุกคนมาที่โรงเรียนของเราที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้ท่านได้เล่าถึงการเดินทางของพวกท่าน พวกเราต้องการรู้เรื่องราวเกี่ยวกับยานอะพอลโล 11 และคิดว่านักบินอวกาศจะเป็นผู้ที่สามารถเล่าให้เราฟังได้ดีที่สุด ถ้านักบินอวกาศได้เดินทางมาเยือนสัปดาห์อวกาศสิรินธร โรงเรียนพวกเราจะมีจัดฉายภาพยนตร์และจัดนิทรรศการการสร้างยานอวกาศ จัดทำชุดมนุษย์อวกาศจำลอง หวังว่าท่านจะช่วยพวกเราในเรื่องนี้ได้ และขอบคุณที่พวกท่านช่างกล้าหาญ”
เควิน เดลานี ผู้อำนวยการอาสาสมัครอเมริกันประจำประเทศไทย ได้นำจดหมายของนักเรียนโรงเรียนสิรินธรไปมอบให้กับ จี.เลวิส สมิตต์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย (USIS) มีใจความว่า
“ข้าพเจ้าได้ส่งจดหมายที่นักเรียนโรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 6 คน เขียนมา เพื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่นักบินอวกาศคนใดคนหนึ่งของยานอะพอลโล 11 จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งเราก็ยังไม่สามารถทราบได้ว่านักบินอวกาศจะมีกำหนดการเดินทางอย่างไร เราจึงส่งคำเชิญของนักเรียนไปยังวอชิงตัน และจัดให้การมาเยือนประเทศไทยของนักบินอวกาศอยู่ในรายการของการเดินทางมาเยือนทวีปเอเชีย”
โดยจดหมายเล็กๆ ฉบับนั้นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ นีล อาร์มสตรอง ตัดสินใจเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2512 โดยมีคณะรัฐบาลของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ให้การต้อนรับ
และทีมนักบินอวกาศได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เพื่อรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตริตาภรณ์ช้างเผือก ซึ่งมีนักเรียนชมรมภาษาอังกฤษจากโรงเรียนสิรินธร รวมถึง อรนุช ภาชื่น และ พรเพ็ญ เพียรชอบ กลุ่มนักเรียนที่เขียนจดหมายฉบับดังกล่าว ได้รับเชิญให้เดินทางไปต้อนรับทีมนักบินอวกาศในครั้งนั้นด้วย
จากนั้นในปีเดียวกัน วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2512 นีล อาร์มสตรอง ก็ได้เดินทางมายังจังหวัดสุรินทร์ตามคำเชิญในจดหมายฉบับดังกล่าวอีกครั้ง เล่าว่ามีผู้คนไปรอต้อนรับอย่างล้นหลามที่ศาลากลางจังหวัด เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีมนุษย์สามารถเดินทางไปยังดวงจันทร์ได้
โดยคำบอกเล่าของ อรนุช ภาชื่น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รศ.ดร.อรนุช ภาชื่น อดีตอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) นีล อาร์มสตรอง ได้ลื่นระหว่างที่กำลังเดินลงจากเวทีหลังจากที่กล่าวทักทายประชาชนชาวสุรินทร์ที่มาต้อนรับ และได้พูดติดตลกว่า “ตอนผมเดินบนดวงจันทร์ไม่เคยลื่นแบบนี้เลยนะ” นับเป็นอารมณ์ขันของ นีล อาร์มสตรอง ไม่น้อย
บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้มจากคณะครู นักเรียน และชาวสุรินทร์ ที่ต่างมายลโฉม นีล อาร์มสตรอง ผู้แห่นำพวงมาลัยมาคล้องคอให้กำลังใจอาร์มสตรองอย่างล้นหลาม จนเขานำความประทับใจเหล่านี้ไปเขียนในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนสิรินธรว่า “ข้าพเจ้าอยากที่จะมีคอให้ยาวเหมือนคอยีราฟ เพื่อจะได้สวมใส่พวงมาลัยเหล่านี้ให้หมด” จนกลายเป็นบันทึกแห่งความทรงจำของโรงเรียนสิรินธรจนถึงทุกวันนี้
บางทีข้อพิสูจน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับชีวิตของ นีล อาร์มสตรอง อาจเป็นเรื่องราวของเขาที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนจากอีกฟากหนึ่งของโลกที่เขียนความฝันของตัวเองลงบนจดหมายฉบับหนึ่งจนกลายเป็นความจริงได้ และคงเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวของ “That’s one small step for a man, one giant leap for mankind.” อันหมายถึง ก้าวเล็กๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ดังที่ นีล อาร์มสตรอง เคยกล่าวไว้จริงๆ
ก่อนหน้านั้น นีล อาร์มสตรอง เดินทางมาจังหวัดบุรีรัมย์ ในตอนเช้าของวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2512 ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจาก นายกานต์ คูนซ์ ชาวอเมริกันจากรัฐวอชิงตัน เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาดังนี้
" ผมมาอยู่บุรีรัมย์ในฐานะ "อาสาสมัครหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา หรือ Peace Corps" ทำงานอยู่ที่ "สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์" มีหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ให้กับราษฏรชาวบุรีรัมย์
ผมเพิ่งบินมาจากสหรัฐก่อนหน้าที่ นีล อาร์มสตรอง จะลงดวงจันทร์ในเดือนกรกฏาคม (ปีเดียวกัน) ไม่กี่เดือน และหลังจากนั้นนีลก็เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาของสำนักงานใหญ่ของ หน่วยสันติภาพอเมริกา การมาบุรีรัมย์และสุรินทร์ครั้งนี้ นีลมาตามคำเชื้อเชิญของ เด็กนักเรียนที่จังหวัดสุรินทร์ นีลจึงถูกจัดให้มาดูงานส่งเสริมการเกษตรที่ผมดูแลอยู่ในภาคเช้า ก่อนที่จะบินไปสุรินทร์ในภาคบ่าย "
นายกานต์ คูนซ์ เล่าถึงเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ที่ นีล อาร์มสตรอง นั่งมาจากกรุงเทพฯ จอดที่สนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ แล้วนีลก็ถูกพาขึ้นยืนบนรถยนต์แห่รอบเมือง 1 รอบ ก่อนที่มาให้สัมภาษณ์บนศาลากลางจังหวัดฯ โดยมีชาวบุรีรัมย์จำนวนไม่น้อยที่มาดูโฉมหน้า และมาฟังนักบินอวกาศเล่าเรื่องการผจญภัยในอวกาศ
นายกานต์ที่ทำหน้าที่ล่ามประจำตัวนีลในวันนั้น เล่าเพิ่มเติมว่า พอลงจากศาลากลางฯ ตนก็พานีลไปดูงานการเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ที่ตำบลหนองเต็ง อ.กระสัง ในฐานะที่นีลเป็นที่ปรึกษาองค์กรอาสาสันติภาพของอเมริกาอยู่ด้วย เสร็จจากภารกิจที่ อ.กระสังแล้ว นีลก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปสุรินทร์ตามคำเชิญของนักเรียนของโรงเรียนสิรินธร
โฆษณา