4 พ.ย. 2023 เวลา 17:44 • ประวัติศาสตร์

โขนไทย สืบสาน รักษา ต่อยอด จากอยุธยาสู่รัตนโกสินทร์

โขน การแสดงนาฏยกรรมชั้นสูงที่มีมาแต่โบราณกาล ต่อยอดมาจากมหากาพย์ "รามายณะ" เกี่ยวกับการอวตารของพระนารายณ์มาเป็น "พระราม" กษัตริย์กรุงอโยธยาเพื่อปราบยักษาอสูรนาม "ทศกัณฐ์" ที่เป็นกษัตริย์ของกรุงลงกา มหากาพย์เรื่องนี้แพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ต้นกำเนิดของโขนจริงๆ ยังไม่มีใครทราบได้ สำหรับโขนของไทย ปรากฎหลักฐานอยู่หลายชิ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา จวบจนกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับสืบสาน รักษา ต่อยอด เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินต้นๆ ปรากฏการแสดงหรือการละเล่นอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “เล่นดึกดำบรรพ์” หรือ “ชักนาคดึกดำบรรพ์” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สันนิษฐานว่าการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์อาจเป็นการเล่นแบบ “โขนโรงใหญ่” ครั้งแรกก็เป็นได้ เนื่องจากมีองค์ประกอบเข้าข่ายลักษณะชักนาคดึกดำบรรพ์ อันเป็นการแสดงตำนานตอนที่พระนารายณ์กวนเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนมในคติแบบฮินดู) เพื่อทำน้ำอมฤต
เป็นการแสดงที่มีฝ่ายยักษ์และเทวดา ฉากใหญ่โต (เป็นเขาพระสุเมรุ) และบทร้องเดินเรื่องโดยที่นักร้องไม่ได้ร่วมแสดง โดยรวมถือเป็นการแสดงละครหรือตำนาน เพื่อถวายพระพรพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงมีพระชนมายุยืนนาน
ด้วยลักษณะข้างต้น ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ สันนิษฐานเพิ่มเติมไว้ว่า การแสดงนี้อาจทำได้ไม่บ่อยนัก และอาจปรากฏไม่กี่ครั้งในแต่ละรัชกาล ไม่นานนักก็เริ่มเลือนหาย คงเหลือไว้แต่แสดงเรื่องรามเกียรติ์
สำหรับการแสดงโขน (ที่แน่นอนว่าต้องเล่นเรื่องรามเกียรติ์) เป็นที่ทราบกันดีว่า มีองค์ประกอบเกี่ยวข้องกับคติทางฮินดูเรื่องพระนารายณ์อวตาร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางฮินดู ดังนั้น ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา จึงมีการแสดงโขนเป็นมหรสพหลวง เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หลักฐานชิ้นสำคัญที่เรามักจะหยิบยกกันบ่อยๆ คือบันทึกของ ซีมอง เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับสยามในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึง "มหรสพที่เล่นในโรงมี ๓ อย่าง" ปรากฎว่ามีโขนเป็นหนึ่งในนั้นด้วย
ชาวสยามเรียกว่าโขน เปนรูปคนเต้นรำตามเสียงจังหวะพิณพาทย์ ตัวผู้เต้นรำนั้นสรวมหน้าโขนแลถือศาสตราวุธ (ทำเทียม) เปนตัวแทนทหารออกต่อยุทธ์มากกว่าเปนตัวลคร แลมาตระว่าตัวโขนทุกๆ ตัวโลดเต้นเผ่นโผนอย่างแข็งแรง แลออกท่าทางพิลึกพิลั่นเกินจริง ก็ต้องเปนใบ้จะพูดอไรไม่ได้ ด้วยหน้าโขนปิดปากปกเสีย (บทจะพูดต้องมีผู้อื่นคนพากย์พูดแทน) แลตัวโขนเหล่านั้นสมมตเปนตัวสัตว์ร้ายบ้าง ภูตผีบ้าง (คือลิงแลยักษ์)
ลาลูแบร์ยังกล่าวอีกว่า “ตัวโขนแลลคร มีชฎาปิดทองสูงปลายแหลมคล้ายตะลอมพอกขุนนาง เวลางารพระราชพิธี แต่มีจรห้อยลงมาสองข้างจนได้หู ประดับพลอยเทียม (เห็นจะประดับกระจก) ทัดดอกไม้ปิดทอง โขนแลรบำนั้นมักหากันไปเล่น ณ งานปรงศพ แลบางทีก็หาไปเล่นในงารอื่นๆ บ้าง”
รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีออกสนาม (คเชนทรัศวสนาน) และมีมหรสพต่างๆ สมโภช และกล่าวถึงโขนเป็นการแสดงอย่างหนึ่งในนั้น โขนมีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานละครอิเหนา ว่า
การเล่นแสดงตำนานเป็นส่วนหนึ่งในการพิธี เกิดเพิ่มเติมขึ้นโดยลำดับมาจนการเล่นแสดงตำนานกลายเป็นการที่มีเนืองๆ จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงขึ้นไว้สำหรับเล่นในการพระราชพิธี และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผนซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก เพราะเป็นลูกผู้ดี ฉลาดเฉลียว ฝึกหัดเข้าใจง่าย ใครได้เลือกก็ยินดีเสมอได้รับความยกย่องอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงได้เป็นประเพณีสืบมาจนชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้
นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขนในงานพระราชพิธีต่างๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่นพระราชพิธีสมโภชพระบรมธาตุชัยนาท ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระราชพิธีสมโภชพระพุทธบาทสระบุรี ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นต้น
เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายลงในปี พ.ศ.2310 พม่าได้กวาดต้อนผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาไปเป็นเชลย คนเหล่านี้มีทั้งเจ้านาย ช่างฝีมือ นักแสดง และนักดนตรีรวมอยู่ด้วย หลังจากนั้นเป็นต้นมา รามายณะฉบับพม่า (ยามะซ่ะต่อ) จึงได้รับอิทธิพลจากรามเกียรติ์ของกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างสูงผ่านเหล่าเชลยสงครามเหล่านี้ เหล่าเชลยได้ก่อตั้งคณะละครที่ยังแต่งกายตามประเพณี และการร่ายรำแบบอยุธยาดั้งเดิม เกิดโขนรามเกียรติ์ภาษาพม่าในราชสำนักอังวะจนได้รับความนิยม
มาถึงสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) รูปแบบของโขนเช่นเดียวกันกับสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการแสดงโขนในงานพระราชพิธีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี เช่นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพกรมพระเทพามาตย์ (พระชนนีในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) งานพระราชพิธีสมโภชพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ไว้เพียง 4 ตอน มีฉบับเขียนไว้ในสมุดไทยดำ แต่ลำดับเล่มไว้ไม่ตรงกับลำดับเรื่อง เข้าใจว่าลำดับเล่มตามเวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์ก่อนและหลัง มี 4 เล่มสมุดไทย คือ
เล่ม 1 ตอนพระมงกุฎ
เล่ม 2 ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินทนท้าวมาลีวราชมา
เล่ม 3 ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษาความจนทศกัณฐ์เข้าเมือง
เล่ม 4 ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัสตร์ จนผูกผมนางมณโฑกับทศกัณฐ์
เมื่อผลัดแผ่นดินเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงมีพระราชภารกิจมากหลาย โดยเฉพาะการศึกสงครามที่ติดพันมา แต่ยังทรงสร้างสรรค์เรื่องรามเกียรติ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ แต่งขึ้นใหม่ในรูปบทละครที่ครบสมบูรณ์ อีกทั้งยังฟื้นฟูการแสดงละครในอย่างจริงจัง มีละครผู้หญิงทั้งวังหลวงและวังหน้า
แต่ด้วยการเล่น “โขน” เป็นนาฏกรรมแห่งราชสำนัก ถือเป็นประเพณีตั้งแต่กรุงเก่า ไม่อนุญาตให้ฝึกฝนทั่วไป ผู้ที่จะเล่นได้ต้องเป็นบุคคล อาทิ มหาดเล็กที่โปรดให้มาฝึก มาจากตระกูลผู้ดี ฉลาด แต่เมื่อชายหนุ่มฝึกหัดแล้วได้ความคล่องแคล่ว อาจด้วยว่าเป็นประโยชน์ต่อทักษะการต่อสู้ เวลาต่อมาจึงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย ขุนนางผู้ใหญ่ ผู้ว่าราชการเมืองหัดโขนของตัวเองได้
ในรัชกาลนี้มีการแสดงโขนในการพระราชพิธีฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โขนชุดหนุมานลักท้าวมหาชมพู ครั้งงานฉลองวัดพระเชตุพนฯ การแสดงโขนในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก (ทองดี) พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวว่า
อนึ่งในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลวง และวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกรรฐ์ ยกทัพกับ๑๐ขุน ๑๐ รถ โขนวังหลวงเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกรรฐ์ ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป
เมื่อมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มผ่อนคลาย การศึกสงครามไม่มากเทียบเท่าก่อน พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในศิลปะหลายแขนงตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ในรัชสมัยของพระองค์จึงถือว่าเป็นอีกช่วงที่ศิลปะหลายแขนงเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็น นาฏกรรม วรรณกรรม ฯลฯ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทพากย์รามเกียรติ์หลายตอนด้วย เช่น นางลอย พรหมาสตร์ และยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ใหม่สำหรับเฉพาะตอนที่ใช้แสดง
เรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนงานอภิเษกบุษบากับจรกา กล่าวว่ามีการแสดงโขนในมหรสพสมโภช ดังนี้
พวกโขนเบิกโรงแล้วจับเรื่อง
สื่อเมืององคตพดหาง
ตลกเล่นเจรจาเป็นท่าทาง
ทั้งสองข้างอ้างอวดฤทธี
ในเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงโขนเป็นหนึ่งในมหรสพสมโภชตอนพระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ช่วงเวลานี้เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า การเมืองการปกครองมั่นคง ในเอกสารเรื่อง “นาฏศิลป์และละครไทย” โดยม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรยายไว้ว่า
ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดการมหรสพต่างๆ ทรงเห็นว่า เป็นการบำรุงบำเรอที่ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและผิดหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นการบำรุงบำเรอตนเองเกินกว่าเหตุ โขนหลวงจึงร่วงโรยไปพักหนึ่งตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ลงมา…
เป็นที่ปรากฏในบันทึกเอกสารว่า เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงเสวยราชย์ โปรดเกล้าฯ ให้เลิกละครหลวง ไม่ทรงเล่นละครตลอดรัชกาล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายไว้ใน “ตำนานละครอิเหนา” ตอน ตำนานละครครั้งรัชกาลที่ 3 ว่า “…ถึงโขนข้าหลวงเดิม ซึ่งโปรดให้ฝึกหัดไว้เมื่อครั้งยังเป็นกรม เมื่อเสด็จผ่านพิภพแล้วก็โปรดให้เลิกเสียด้วย แต่การเลิกละครหลวงครั้งนั้น กลับเป็นเหตุให้เล่นละครกันขึ้นแพร่หลายกว่าแต่ก่อน”
สำหรับนาฏกรรมเฉพาะเจาะจงในราชสำนักอย่างโขน ในสมัยที่เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว รัชกาลที่ 3 พระราชทาน “โขนกรมเจษฎ” หรือโขนของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (สมัยนั้น เจ้านายมีนาฏกรรมสำหรับพระเกียรติยศ มีหัดโขนในสำนักของตัวเอง) ซึ่งเป็นโขนของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ไปยังพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ
โขนสำรับนี้มีครูโขนคือ ครูเกษ พระราม ซึ่งถือกันว่าเป็นครูโขนคนสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นประธานไหว้ครูโขนและละครหลวง อีกทั้งยังมีเอกสารตำราใช้เป็นแบบแผนการไหว้ครูสืบทอดกันต่อมา อย่างไรก็ตาม โขนในราชการและมหรสพสมโภชก็ยังปรากฏให้เห็นทั่วไป บันทึกของจีนกั๊กยังกล่าวถึงลักษณะรูปแบบโขนในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่าใช้นักแสดงทั้งชายและหญิงรวมกันกว่าร้อยคน แต่งกายด้วยผ้าปักทองและสวมเครื่องประดับกันมากมาย
นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังเป็นช่วงเวลาที่นาฏกรรมเผยแพร่ออกมาภายนอกวัง มีละครหลวงต่างออกมาภายนอก ศิลปะชั้นสูงแบบหลวงแพร่กระจายได้รับความนิยมกันอย่างหลากหลายอีกด้วย
เมื่อมีผู้สืบข้อมูลเกี่ยวกับนาฏกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว แม้ว่าอาจมีกระแสลดลงไปบ้างเมื่อพิจารณาจากหลักฐานว่า ไม่มีการเล่นโขนละครแบบเอิกเกริก อันเป็นผลเนื่องมาจากความเป็นเปลี่ยนแปลงตามสภาพในสังคมด้วย และเนื่องจากโปรดฯ ให้เลิกละครหลวง โขนหลวงอาจไม่ได้เฟื่องฟูในยุคนี้ แต่ในแง่นาฏกรรมในสังคมโดยรวมแล้วก็มีพลวัตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งไม่ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะกริ้วกราดหรือทรงห้ามปรามอย่างใด ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
“พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรังเกียจการเล่นละครเป็นส่วนพระองค์จึงทรงเลิกละครหลวงเสีย เมื่อทรงทราบว่าใครหัดละครขึ้น ก็ย่อมจะทรงติเตียนเป็นธรรมดา แต่มิได้มีพระราชประสงค์จะให้เลิกละครเสียทั้งนั้นทีเดียว เพราะละครเป็นการเล่นสำหรับบ้านเมืองมาแต่โบราณ แม้มีงานมหรสพของหลวงก็ยังต้องเล่นละครอยู่ตามประเพณี
ข้อที่ทรงรังเกียจเฉพาะแต่การที่ผู้มีบรรดาศักดิ์หัดละคร แต่ฝ่ายข้างผู้ที่หัดเล่นละครก็มีข้ออ้างอย่างหนึ่งว่า แบบและบทละครซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงไว้เป็นของประณีตบรรจงไม่เคยมีเสมอเหมือนมาแต่ก่อน ถ้าทอดทิ้งเสียไม่มีใครฝึกหัดให้ละครเล่นรักษาไว้ แบบแผนละครหลวงก็จะสูญไปเสีย ความที่กล่าวข้อนี้เป็นความจริง ก็เหมือนเป็นเครื่องป้องกันอีกอย่าง 1 แม้พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจการเล่นละคร จึงมิได้ทรงห้ามปรามผู้อื่นโดยพระราชานุภาพ”
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นโขนหลวงละครหลวง ด้วยทรงเห็นว่าเป็นสิ่งคู่พระบารมีและเสริมพระเกียรติ มีพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และพลเรือนหัดละครผู้หญิงได้อย่างเปิดเผย อีกทั้งยังให้เข้ามาแสดงถวายในพระบรมมหาราชวัง แต่ห้ามบังคับเด็กชายหญิงให้มาเล่นละครเหมือนแต่ก่อน และห้ามใช้เครื่องประดับพระยศอย่างกษัตริย์และเจ้าฟ้า
ในปี พ.ศ. 2396 มีช้างเผือกช้างแรกมาสู่พระบารมีในสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกของ “พระยานิกรบดินทรมหากัลยาณมิตร” ซึ่งเขียนไว้ในประกาศพระบรมราชโองการ ว่าด้วย “เก็บภาษีโขนละคอนและการละเล่นอื่นๆ” พ.ศ. 2404 มีเนื้อหาตอนหนึ่งเชื่อมโยงความเชื่อเกี่ยวกับละครหลวงเป็นสิ่งคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับช้างเผือกว่า
ลครข้างใน เป็นของสำหรับกันกับช้างเผือก ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีช้างเผือกนั้นเกลือกจะเป็นด้วยไม่มีลครข้างในกระมัง ขอพระราชทานได้ฝึกหัดจัดให้มีขึ้นไว้ตามธรรมเนียม
สันนิษฐานกันว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากคติแบบฮินดู ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คือพระผู้เป็นเจ้าอวตารมาเกิด ละครผู้หญิงในพระบรมมหาราชวังคือ นางอัปสรสวรรค์ร่ายรำถวาย เช่นเดียวกับการเล่นในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาจทำให้เป็นของต้องห้าม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ดัดแปลงบทละครรามเกียรติ์ ตอน พระรามเดินดง ซึ่งสันนิษฐานกันว่าพระองค์ทรงโปรดฯ รามเกียรติ์ตอนนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากตรงกับเรื่องราวในพระชนม์ชีพของพระองค์ ที่ทรงผนวชและประพาสตามที่ต่างๆ เกือบ 30 ปี จนได้กลับมาเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
ย้อนไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระตะบอง ศรีโสภณ เสียมราฐ เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม ขณะที่ราชอาณาจักรกัมพูชาก็เป็นเมืองภายใต้พระบรมโพธิสมภาร โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงให้ปกครองตนเอง
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 กัมพูชาแตกแถว เจ้านายบางส่วนหันไปนิยมเวียดนาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพไปปราบ ทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา รั้งทัพอยู่ถึง 15 ปี ในครั้งนั้นได้นำคณะละครผู้หญิงตามไปด้วย ครูในคณะละครดังกล่าวก็ได้เป็นครูของสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) ซึ่งต่อมาได้เป็นกษัตริย์เขมร และโปรดละครไทยอย่างมาก
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงรับเลี้ยงดูเจ้านายเขมรทั้ง สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ (นักองค์ราชาวดี) และพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ (สมเด็จพระศรีสวัสดิ์) ไว้ในกรุงเทพฯ ต่อมาทั้งสองพระองค์เสด็จกลับไปเป็นกษัตริย์ที่กัมพูชา ก็ได้นำประเพณี การละเล่น ละครจากในปราสาทราชวังของกรุงเทพฯ ไปเป็นแบบแผนที่กัมพูชาด้วย
มีบันทึกว่า ละครเขมรในอดีตเล่นเป็นภาษาไทย ต่อมาเกิดวิกฤติวังหน้า ครูละครไทยหลายคนอพยพไปอยู่กัมพูชา จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรม การละเล่น นาฏศิลป์ตามแบบแผนไทยถูกเติมเข้าไปในกัมพูชา
เมื่อมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเทวศร์วงษ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) เมื่อครั้งเป็นเจ้าหมื่นสรรเพ็ชภักดี บัญชาการกรมมหรสพและฟื้นฟูโขนหลวงขึ้น แต่ติดขัดเล็กน้อยเรื่องครูโขนที่เป็นเพศชายเริ่มสูงวัยกันแล้ว เหลือแต่ครูละครใน (ใช้เพศหญิงแสดง) ที่ยังเชี่ยวชาญแสดงเรื่องรามเกียรติ์ จึงใช้มาหัดโขนให้
เมื่อเป็นเช่นนี้ อิทธิพลละครในจึงเริ่มเข้ามาสู่โขนแบบดั้งเดิม เช่น ตัวพระตัวนางหรือเทวดาเปิดหน้าโขนแล้วผัดหน้าเหมือนละคร ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เชื่อว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมา การแสดงโขนจึงมีแบบแผนของละครในแทรกเข้ามาด้วย การดำเนินเรื่องก็ร้องโดยต้นเสียง และมีตัวรำอยู่ตลอด การเจรจาหรือพากย์ก็มีเป็นครั้งคราว
โดยรวมแล้วนาฏกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหัวโค้งสำคัญ เป็นการบรรจบกันระหว่าง “ยุคเก่า” และ “ยุคใหม่” ในช่วงที่อิทธิพลจากตะวันตกมีเพิ่มขึ้น และถือเป็นรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ต้นกำเนิดของศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่ในไทยที่ออกดอกออกผลในเวลาต่อมา
ในรัชกาลนี้ มีการแสดงโขนที่สำคัญ ทั้งโขนในงานฉลองผ้าป่าคราวเสด็จบางปะอิน โขนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง โขนกลางแปลงตอนพระรามคืนนครในงานเสด็จนิวิติพระนครหลังเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงเป็นนักปกครองที่ทรงรับดูแลกิจการศิลปะการแสดงด้วยพระองค์เอง นั่นทำให้ศิลปะ อาทิ โขน ละคร และดนตรีปี่พาทย์เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ยุคนี้จึงถือได้ว่าเป็นยุคทองแห่งนาฏศิลป์สยาม ในรูปแบบรัฐชาติสมัยใหม่
ย้อนไปเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจัดให้มหาดเล็กในพระองค์หัดเล่นโขน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “โขนสมัครเล่น” ในเวลาต่อมา โขนคณะนี้เรียกอีกชื่อว่า “โขนบรรดาศักดิ์”
และเมื่อคราวเสด็จไปทอดพระเนตรโขนในงานเปิดโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อปี พ.ศ.2452 ระบุจุดประสงค์ในการแสดงว่า "จะให้ผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกันและที่เป็นคนชั้นเดียวกันมีความรื่นเริง และเพื่อจะได้ไม่หลงลืมว่าศิลปวิทยาการเล่นเต้นรำไม่จำจะต้องเป็นของฝรั่งจึงจะดูได้ ของโบราณของไทยเรามีอยู่ไม่ควรจะให้เสื่อมสูญไปเสีย"
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชูปถัมภ์ในศิลปะหลายแขนงไม่เพียงแค่โขนเท่านั้น แต่หากกล่าวถึงด้านโขน พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ซ้อมโขนละคร และให้รถยนต์หลวงรับนักเรียนมหาดเล็กหลวง มาร่วมซ้อมเป็นเสนายักษ์ เสนาลิง หรือบทบาทอื่น ในระหว่างซ้อมโขนละคร มักมีเรื่องราวที่ทำให้ทรงพระสรวลบ่อยๆ
การซ้อมครั้งหนึ่ง ซ้อมในตอนพระรามยกทัพรบทศกัณฐ์ พระรามแผลงศรถูกพวกยักษ์ล้มตายเกลื่อน รบกันถึงย่ำพระทินกรก็ยังหาแพ้ชนะไม่ได้ ทศกัณฐ์จึงเจรจาหย่าทัพว่า รุ่งขึ้นให้มารบกันใหม่ เมื่อทศกัณฐ์ยกทัพกลับเข้ากรุงลงกา เสนายักษ์ที่ต้องศรพระรามล้มลงก็ลุกขึ้นเข้าโรงไป แต่มีเสนายักษ์ตนหนึ่งเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวงต้องศรพระรามหลับไปจริงๆ พวกยักษ์เพื่อนๆ กำลังจะเข้าไปปลุก พระองค์ทรงห้ามไว้ และรับสั่งว่า “ปล่อยให้มันนอนตามสบาย”
หลังจากกองทัพพระรามยกพลกลับเข้าโรงกันหมด เสนายักษ์ตนนั้นถึงรู้สึกตัว ลุกขึ้นนั่ง เมื่อไม่เห็นผู้ใดหลงเหลือ จึงทำท่าเร่อร่าวิ่งเข้าโรงไป รัชกาลที่ 6 ทรงพระสรวลและปรบพระหัตถ์ไล่หลัง
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โอนกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหรสพมาขึ้นกับกรมมหรสพ รวมถึงกรมโขนแต่เดิม ดังนั้น จึงมีทั้งโขนสมัครเล่นส่วนพระองค์ และโขนหลวงของกรมมหรสพ ทั้งกลุ่มยังเคยมาเล่นรวมกันด้วย
และโปรดเกล้าฯ ให้ครูโขนละครฝีมือดีมีบรรดาศักดิ์และราชทินนาม ช่วงเวลานั้นมีผู้เล่นเป็นทศกัณฐ์ที่มีชื่อเสียงมากคือ พระยาพรหมาธิบาล (ทองใบ สุวรรณภารต) มีคำบอกเล่ากันมาว่า เคยต่อท่ารำทศกัณฐ์ ของเจ้าจอมลิ้นจี่ในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นตัวทศกัณฐ์เลื่องชื่อจากเฒ่าแก่ลำไย น้องสาวของเจ้าจอมลิ้นจี่ ภายหลังเป็นครูยักษ์ในกรมมหรสพที่มีลูกศิษย์สืบทอดมาถึงปัจจุบัน
ในรัชสมัยนี้ยังปรากฏพระราชนิพนธ์บทโขน บทละคร ในรัชกาลที่ 6 หลายรูปแบบ พระราชนิพนธ์บทโขนและละครภาษาไทยล้วนมีจำนวนมากมาย มีทั้งที่พระราชนิพนธ์ตั้งแต่ทรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจนถึงช่วงขึ้นครองราชย์รวมเวลา 31 ปี เมื่อนับจำนวนปริมาณแล้ว ถึงกับมีผู้คาดการณ์กันว่า พระองค์พระราชนิพนธ์ละคร 1 เรื่อง ทุก 2 เดือน
โดยทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ขึ้นใหม่สำหรับเล่นโขนขึ้นมีทั้งหมด 10 ชุดคือ ชุดสีดาหาย ชุดเผาลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกา ชุดนาคบาศ ชุดอภิเษกสมรส ชุดนางลอย ชุดพิธีกุมภนียาและชุดพรหมาสตร์ โดยทรงศึกษาค้นคว้าที่มาของเรื่องรามเกียรติ์จากคัมภีร์รามายณะ
นอกจากนั้นยังทรงพระราชนิพนธ์หนังสือบ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ขึ้น โดยทรงชี้แจงไว้ในหนังสือความว่า "บทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่รวมอยู่ในเล่มนี้ เป็นบทที่ข้าพเจ้าได้แต่งขึ้นเป็นครั้งคราวสำหรับเล่นโขน มิได้ตั้งใจที่จะให้เป็นหนังสือกวีนิพนธ์สำหรับอ่านเพราะ ๆ หรือดำเนินเรื่องราวติดต่อกัน บทเหล่านี้ได้แต่งขึ้นสำหรับความสะดวกในการเล่นโขนโดยแท้ จึงมีทั้งคำกลอนอันเป็นบทร้อง ทั้งบทพากย์ และเจรจาอย่างโขนระคนกันอยู่ ตามแต่จะเหมาะแก่การเล่นออกโรงจริง"
ตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 8 ไทยเผชิญหน้าวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากสงครามโลก และเมื่อรัชกาลที่ 6 (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. 2468 ที่ประชุมเสนาบดีมีมติยุบกรมมหรสพ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) มีพระราชดำริเรื่องรักษาศิลปะการแสดงมหรสพ โปรดเกล้าฯ ให้กรมมหรสพในรัชกาลที่ 6 เข้าไปอยู่ในกระทรวงวังเมื่อ พ.ศ. 2469 หลังจากนั้น ศิลปินที่โอนเข้ามาอยู่ในกระทรวงวังได้รวบรวมบุตรหลานมาฝึกหัดโขนละคร ในยุคนั้นมีพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ครูโขนละครคนสำคัญ ก็กลับมาเข้ารับราชการเป็นผู้กำกับปี่พาทย์และโขนหลวงในสังกัดกระทรวงวัง
ต่อมาในปี พ.ศ.2478 กระทรวงวังปรับปรุงระบบบริหารราชการครั้งใหญ่ โอนงานช่างกองวังนอกและกองมหรสพไปอยู่ในสังกัดกรมศิลปากร ข้าราชการที่เป็นศิลปินก็ย้ายมาด้วย โขนของกรมมหรสพ กระทรวงวังจึงเป็น “โขนกรมศิลปากร” มาตั้งแต่นั้น
ทั้งนี้ก็มาจากการปฏิวัติสยาม เพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย โดยกลุ่มทหารและพลเรือนที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ระบบราชการ ขนบจารีตต่างๆ ก็ถูกจัดระเบียบ อีกทั้งก็ยังมีการแสดงโขนในงาน "รัฐพิธี" อยู่หลายครั้ง ธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวไว้ในหนังสือโขนว่า “ ดูประหนึ่งถือเป็นประเพณีที่ต้องจัดให้มีแสดงโขนเป็นประจำปี ณ ท้องสนามหลวงปีละ 3 คราว คือ ในวันมีงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ ในรัฐพิธีฉลองวันสงกรานต์ ”
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การเล่นโขนก็เงียบเหงาอีกครั้ง หลังสงครามจบลงก็มีความพยายามฟื้นฟูโขนกลับมา แต่ด้วยปัญหาเรื่องคนซึ่งขาดช่วงไป ผู้เล่นที่เชี่ยวชาญจริงเหลือไม่มากนัก ไม่สามารถจัดแสดงโขนชุดใหญ่ให้สมฐานะ กรมศิลปากรจึงเปิดรับสมัครนักเรียนนักเรียนเข้าโรงเรียนนาฏศิลป ครูอาจารย์ฝึกหัดอบรมนักเรียนและผลิตผู้เล่นมีฝีมือออกแสดงในงานมหรสพต่างๆ และงานในราชการอย่างต่อเนื่อง
มาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และรัชกาลปัจจุบัน (พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระบรมวงศานุวงศ์ทรงร่วมอุปถัมภ์การแสดงโขน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริเรื่องฟื้นฟูโขน และมีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับการส่งเสริมและจัดสร้างเครื่องแต่งกาย โปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาวิธีแต่งหน้าโขนที่เปิดหน้า ส่งผลให้เกิดช่างฝีมือหลายด้าน อาทิ หัวโขน ทอผ้า แกะสลัก ช่างเขียน และช่างแต่งหน้า
ที่สำคัญคือ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดแสดงโขนถวายมายาวนานนับทศวรรษ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงโขนสู่ประชาชนทุกปี ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง เล่าว่า ทรงเลือกตอนที่จะจัดแสดงด้วยพระองค์เอง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ประชาชนเรียกโขนที่จัดแสดงโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ว่า “โขนพระราชทาน”
ซึ่งมีตอนต่างๆ ดังนี้ พรหมาศ (พ.ศ.2550,พ.ศ.2552) นางลอย (พ.ศ.2553) ศึกไมยราพ (พ.ศ.2554) จองถนน (พ.ศ.2555) ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์ (พ.ศ.2556) ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ (พ.ศ.2557) มังกรกัณฐ์ และพรหมาศ (พ.ศ.2558)
ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2560 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ร่วมแสดงโขนพระราชทานสำหรับงานมหรสพสมโภช ในตอนรามาวตาร และขับพิเภก
เมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเสวยราชย์ การแสดงโขนพระราชทานก็ยังคงจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สนองพระราชปณิธานของสมเด็จฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ยกเว้นปี พ.ศ.2563-พ.ศ.2564 เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19) สำหรับตอนที่แสดงในรัชกาลนี้มี พิเภกสวามิภักดิ์ (พ.ศ.2561) สืบมรรคา (พ.ศ.2562) สะกดทัพ (พ.ศ.2565) กุมภกรรณทดน้ำ (พ.ศ.2566)
นอกจากนี้ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง ได้นำโขนมาสร้างในรูปแบบภาพยนตร์ในชื่อ "หนุมาน white monkey" ออกฉายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2565 ซึ่งตรงกับวันชาติ
อีกทั้งยังมีสถาบันและหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนแห่งอื่นที่ช่วยกันสืบสาน รักษา ต่อยอดศิลปะโขนมาจากยุคก่อนทั้งโขนธรรมศาสตร์ กรมศิลปากร ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง เป็นต้น
ดร.สุรัตน์ จงดา ได้กล่าวไว้ว่า “โขนไทยถูกพัฒนารูปร่างเป็นศิลปะที่มีความซับซ้อน วิจิตรมากขึ้น ชุดการแสดง หัวโขน องค์ประกอบต่างๆ ราชรถ สมจริง มีความวิจิตรงดงาม ทั้งนี้ ในสมัยอยุธยาโขนเป็นเครื่องราชูปโภค เพราะยึดตามคติฮินดู มีเมืองอยุธยาเป็นเมืองหลวง รามเป็นกษัตริย์โขน ซึ่งเรื่องเกียรติ์ของพระรามจึงเป็นเครื่องราชูปโภค เพราะฉะนั้นโขนจึงมีความผูกพันกับราชสำนัก และยังมีพัฒนาการอย่างไม่หยุดนิ่งไปเรื่อยๆ ด้วย"
บทละครเรื่องรามเกียรติ์และบ่อเกิดรามเกียรติ์, บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6,พระนคร, กรมศิลปากร, 2484, หน้า 151
ลาลูแบร์, ซิมมอน เดอ, ค.ศ. 1642-1729 (2457). จดหมายเหตุลาลูแบร์ พงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. ปรีดาลัย. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:48304
โฆษณา