6 พ.ย. 2023 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วิบากกรรมนายช่างฝรั่งผู้ออกแบบพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งที่มีส่วนผสมลงตัวระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก มีฉายาอย่างลำลองว่า “ฝรั่งสวมชฎา” และเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของกรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งยังเป็นจังหวัดพระนคร
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
แต่ชีวิตของชายผู้ออกแบบพระที่นั่งแห่งนี้ กลับไม่สวยงามอย่างที่คิด จนสุดท้ายต้องมาทิ้งร่างกายที่เมืองไทย ในสุสานโปรแตสแตนท์ ถนนเจริญกรุง
จอห์น คลูนิส (John Clunis) เกิดในปี ค.ศ.1830 ที่ย่านสเตปนีย์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จบการศึกษาจากยอร์คเชียร์ คลูนิสเดินทางถึงสิงคโปร์พร้อมแฮเรียต คลูนิส-รอสส์ ภรรยา เพื่อเป็นวิศวกรเทศบาลในสิงคโปร์ ในปี ค.ศ. 1849
ผลงานสำคัญของคลูนิสในสิงคโปร์ ได้แก่ New Harbour Dock (Keppel Harbour), ศาลาว่าการเมือง, สะพานคาวานาฟ (Cavanagh Bridge), ธนาคารพาณิชย์และบ้านเรือนเอกชนต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ช่วยของจอห์น เฟรเดอริค อดอลฟัส แม็คแนร์ (John Frederick Adolphus McNair) ในการออกแบบจวนผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ (The Government House ปัจจุบันคือ The Istana ทำเนียบประธานาธิบดีสิงคโปร์ในปัจจุบัน)
The Istana
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ ค.ศ.1870-71 และต้องการนายช่างชาวตะวันตกเพื่อสร้างพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังในรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก แทนที่พระอภิเนาว์นิเวศน์ที่ไม่สามารถบูรณะซ่อมแซมได้ คลูนิสจึงได้มีโอกาสรับราชการในสยามฐานะ “นายช่างหลวง” โดยเริ่มจากออกแบบพระราชมณเฑียรในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท แล้วจึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยในการออกแบบพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ระหว่างปี ค.ศ. 1875-1882
พิธีวางพระศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
แม้พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จะมีรูปแบบต่างจากที่เขาออกแบบ แต่ก็เป็นผลงานสร้างชื่อเสียงของเขา ทำให้ต้องมีเปิดซองประมูลเพื่อแข่งกับนายช่างตะวันตกคนอื่นๆเช่น โยอาคิม กราสซี และสเตฟาโน คาร์ดู
ยุคทองของคลูนิสจบลงเมื่อมีการก่อตั้งกรมโยธาธิการขึ้นในปี ค.ศ.1889 เพื่อควบคุมงานก่อสร้างและวางผังเมือง รวมไปถึงการสร้างบุคลากรชาวไทยในด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ทำให้คลูนิสไม่ได้รับงานจากรัฐบาลสยาม ต้องเปิดโรงงานอิฐที่เขาถนัดเพื่อผลิตอิฐป้อนโครงการต่างๆของอัฐ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
เขาพยายามขอรับพระราชทานเงินยืมจำนวน 250 ชั่ง (20,000 บาท) เพื่อต่อชีวิตโรงงาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงถูกศาลอังกฤษสั่งล้มละลาย ขายอสังหาทรัพย์ที่ท่าเตียน คลองมอญ และหนองแขมเป็นการชำระหนี้ จากนั้นเขาได้ล้มป่วยด้วยโรคบิดและถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม ค.ศ.1894 รวมอายุได้ 64 ปี ร่างของเขาฝังอยู่ที่ สุสานโปรแตสแตนท์ ถนนเจริญกรุง
หลุมฝังศพจอห์น คลูนิส
- พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน (2563), พระราชมณเฑียรสถานในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2411-2418). กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- พินัย ศิริเกียรติกุล (2562), การ “ซ่อมแปลง” ยอดพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พ.ศ. 2469-2475 ใน เด่น วาสิกศิริ (บ.ก.), บ้านเรือนในสยาม : การปฏิรูปสู่ความทันสมัย = Domestic architecturein Siam : the reformation period. (น.66-106). กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา