26 เม.ย. 2023 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
โคเพอร์

สุสานสถาปัตยกรรมไทยในเมืองท่าของสโลวีเนีย

โคเพอร์ (Koper) เป็นเมืองท่าเมืองหนึ่งในประเทศสโลวีเนีย แต่ในครั้งหนึ่ง เมืองนี้เป็นสถานที่เริ่มต้นและสถานที่พักผ่อนครั้งสุดท้ายของบุคคลคนสำคัญ ที่มีส่วนในการก่อสร้างอาคารแบบตะวันตกในประเทศไทย และเมื่อเขาเดินทางกลับบ้านเกิด เขาจึงนำรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยไปสร้างเป็นสุสานให้กับบุคคลในครอบครัว ชื่อของเขาคือ โยอาคิม (จิอัวชิโน) กราสซี
โยอาคิม กราสซี
ก่อนที่จะบรรยายเรื่องราวของสุสานสถาปัตยกรรมของนายกราสซี เรามาทำความรู้จักเมืองโคเพอร์กันก่อน
เมืองโคเพอร์ เป็นเมืองที่สร้างขึ้นสมัยโรมัน ชื่อว่า Insula Caprea (อินซูล่า คาเปรีย - เกาะแพะ) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Justinopolis (จัสติโนโปลิส) ในปี ค.ศ.568 เพื่อเป็นเกียรติแด่จักรพรรดิจัสตินที่ 2 แห่งอาณาจักรไบแซนไทน์
จักรพรรดิจัสตินที่ 2
ต่อมา โคเพอร์อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์, เวนิส, ฝรั่งเศส, ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี มีการเปลี่ยนเป็นชื่อเมืองเป็น Capodistria (คาโปดิสเตรีย) มาจากคำว่า Caput Histriae (ศีรษะแห่งอิสเตรีย)
อิตาลีได้เมืองคาโปดิสเตรียจากออสเตรีย-ฮังการี ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และเมื่ออิตาลีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1945 ได้ควบรวมเมืองคาโปดิสเตรียเข้ากับตริเอสเต กลายเป็นรัฐอิสระตริเอสเต รัฐอิสระแห่งนี้ดำรงอยู่จนถึงปี ค.ศ.1954 จึงได้มีการลงประชามติแบ่งเป็น Zone A เป็นของอิตาลี ส่วน Zone B เป็นของยูโกสลาเวีย ทำให้คาโปดิสเตรียกลายเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย และเปลี่ยนชื่อเป็น “โคเพอร์” ตามภาษาสโลวีน
เมื่อสโลวีเนียแยกตัวออกจากยูโกสลาเวียในปี ค.ศ. 1991 ทำให้โคเพอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของสโลวีเนียจนถึงปัจจุบัน
แผนที่เมืองโคเพอร์
สถาปัตยกรรมไทยฝีมือช่างฝรั่ง
หลุมฝังศพสถาปัตยกรรมไทยแห่งนี้ ตั้งอยู่นอกเมืองเก่าโคเพอร์ ไม่ไกลจากสถานีรถไฟประจำเมืองหลุมฝังศพนี้ออกแบบโดย โจอาคิม กราสซี สถาปนิกชาวฝรั่งเศสเชื้อสายออสเตรีย สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่อันโตนิโอ กราสซี (1841-1887) พี่ชายและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Grassi Brothers and Co. ที่ถึงแก่กรรมด้วยโรคหลอดลมอักเสบ
อันโตนิโอ กราสซี
หลุมฝังศพของอันโตนิโอเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านบนสุดเป็นปรางค์ 5 ยอดตั้งบนหลังคาลด 3 ชั้นประดับด้วยช่อฟ้า, ใบระกา และหางหงส์
สุสานทรงปรางค์
หน้าบันทั้ง 4 ด้านสลักเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ด้านตะวันตกแกะสลักเป็นรูปพระอาทิตย์ทอแสง สัญลักษณ์ประจำราชสกุลภาณุพันธ์ ผู้ให้การสนับสนุนโจอาคิมในการสร้างวังบูรพา
1
พระอาทิตย์ทอแสง
ด้านตะวันออกแกะสลักพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
และด้านใต้สลักเป็นรูปยักษ์วัดพระแก้ว
ยักษ์วัดพระแก้ว
เสาทั้งสี่ด้าน ย่อมุมสิบสองเหลี่ยมประดับด้วยนาคคันศรทุกมุม รอบอาคารทั้ง 4 มุมประดับด้วยใบเสมา ภายในอาคาร มีรูปปั้นของอันโตนิโอ กราสซี พร้อมคำรำลึกถึงผู้จากไปทั้ง 4 ด้าน
หลุมฝังศพสถาปัตยกรรมไทยแห่งนี้ แสดงถึงให้เห็นถึงความเข้าใจในศิลปะของไทย และเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำถึงดินแดนที่่ทำให้เขามีงานเป็นหลักเป็นแหล่งและสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการสถาปัตยกรรมไทยจนถึงปัจจุบัน
ที่มา
-พิริยา พิทยาวัฒนชัย. สถาปัตยกรรมของโยอาคิม กราสซีในสยาม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2554.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา