8 พ.ย. 2023 เวลา 02:56 • ประวัติศาสตร์
Texas Instruments

100 ปี แจ็ค คิลบี

ครบรอบหนึ่งศตวรรษเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ซึ่งไม่ใช่นักฟิสิกส์แต่เป็นวิศวกร ผู้สร้างสิ่งประดิษฐ์ที่นำไปสู่ความรุ่งเรืองของซิลิคอนแวลลีย์ แต่ตัวเขากลับอยู่ที่เท็กซัส และชิพที่เขาทำขึ้นก็ไม่ใช่ซิลิคอนด้วยซ้ำ
8 พฤศจิกายน 1923 เป็นวันเกิดของ Jack Sinclair Kilby (1923-2005) ผู้ประดิษฐ์วงจรรวมขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในปี 1958 และได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2000 จากผลงานที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนแปลงโลกเข้าสู่ยุคดิจิตอลได้ในเวลาเพียงชั่วคนเดียว
แจ็ค คิลบีเกิดที่รัฐมิสซูรี มาโตที่แคนซัส มีพ่อเป็นผู้จัดการในบริษัทไฟฟ้า เขาจึงมีโอกาสทดลองวงจรไฟฟ้าและสร้างวิทยุเองในยุคที่ยังใช้หลอดสุญญากาศในวงจรอิเลกทรอนิกส์ และได้ใบอนุญาตวิทยุสมัครเล่นตั้งแต่วัยรุ่น
เขาสมัครเข้าเรียนที่เอ็มไอที แต่โรงเรียนมัธยมสอนคณิตศาสตร์ไม่ครบตามเกณฑ์ เขาจึงต้องเดินทางไปสอบวัดความรู้ที่มหาวิทยาลัยเอง ปรากฏว่าสอบตกไปอย่างเฉียดฉิว จึงมาเรียนที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (เออร์บานาแชมเปญ) แทน
เรียนไปได้ยังไม่ทันสอบปลายภาคแรก เกิดการโจมตีที่เพิร์ลฮาเบอร์ อเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง คิลบีเข้าร่วมหน่วยทหารที่ถูกส่งไปประจำการที่ชายแดนอินเดียติดกับพม่าและจีน เนื่องจากมีความรู้ทางวิทยุ จึงไม่ต้องออกแนวหน้า เขามีหน้าที่ซ่อมบำรุงอุปกรณ์สื่อสาร และช่วยดักฟังข่าวกรองของกองทัพญี่ปุ่นด้วย
พลทหารสื่อสาร แจ็ค คิลบี สมัยประจำการอยู่ทางเหนือของพม่า
เมื่อสงครามจบ คิลบีกลับมาเรียนต่อ ด้วยทุนให้ฟรีสำหรับทหารผ่านศึก จนจบปริญญาโทวิศวกรรมไฟฟ้าจากวิสคอนซิน (เมดิสัน) และได้ทำงานในบริษัท Centralab ในรัฐวิสคอนซิน ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ เช่น เครื่องช่วยฟัง เขาได้นำวิธีการแหวกแนวมาใช้ในงาน เช่น ใช้เครื่องพ่นทรายขนาดจิ๋วสำหรับทำฟันมาใช้ในการผลิตตัวต้านทานให้มีความแม่นยำมากขึ้น แจ็ค คิลบีอยู่ที่นั่นเกือบสิบปี
ในขณะนั้นมีการคิดค้นทรานซิสเตอร์สารกึ่งตัวนำขึ้นมาใช้แทนหลอดสุญญากาศได้แล้วเมื่อปี 1947 ซึ่งทำให้นักประดิษฐ์วิลเลียม ชอคลีย์ (1910-1989) แห่งบริษัทเบลล์แล็บ ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1956
ทรานซิสเตอร์ชนิดนี้เป็นการปฏิวัติวงการครั้งแรก ทำให้วงจรอิเลกทรอนิกส์เล็กลง ราคาถูก ทำงานได้เร็วและมีความเสถียรมากขึ้น เกิดการตื่นตัวนำอิเลกทรอนิกส์ไปประยุกต์ใช้อย่างขนานใหญ่
นอกจากจะใช้ในวงจรขยายสัญญาณเช่นในวิทยุแล้ว ทรานซิสเตอร์สารกึ่งตัวนำยังนำมาใช้เป็นสวิทช์เปิดปิด ในวงจรตรรกเพื่อการคำนวณด้วยเลขฐานสอง ซึ่งเป็นการเปิดทางสู่โลกดิจิตอลคอมพิวเตอร์นั่นเอง
แต่ปัญหาก็คือการนำมาใช้ในวงจรคำนวณจะต้องใช้ทรานซิสเตอร์จำนวนมากมายมหาศาล หากใช้ทรานซิสเตอร์เป็นตัวๆแยกจากกันก็จะต้องเชื่อมต่อเข้าด้วยกันด้วยการบัดกรี ที่ไม่สามารถทำได้ง่ายๆและเสี่ยงต่อข้อผิดพลาดในการประกอบวงจร
สมัยนั้นเรียกปัญหาการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์จำนวนมากเข้าด้วยกันนี้ว่า “tyranny of numbers” เป็นคอขวดที่ขัดขวางการพัฒนาคอมพิวเตอร์อยู่หลายปี
วงจรอิเลกทรอนิกส์แห่งวันวาน ก่อนมีไอซี ตัวกลมๆคือทรานซิสเตอร์
ทั้งแจ็ค คิลบี และ Centralab ก็สนใจวิธีการแก้ปัญหา tyranny of numbers นี้เช่นกัน กระแสหลักของการวิจัยยุคนั้น คือสร้างแผ่นวงจรเล็กๆเป็นมอดูลแยกจากกันและเสียบซ้อนๆกันผ่านตัวนำไฟฟ้าในแนวดิ่ง เหมือนกับเลโก้ เรียกว่าไมโครมอดูล ซึ่งคิลบีเห็นว่าไม่ค่อยเข้าท่า และวงจรที่ได้ก็ยังมีขนาดใหญ่เมื่อมีมอดูลจำนวนมาก
ข้อเสนอของเขาคือจะต้องผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายๆตัวของทั้งวงจรนั้น รวมกันขึ้นมาบนแผ่นฐานที่ทำจากสารกึ่งตัวนำที่เป็นชิ้นเดียวกัน หรือ monolithic และใช้วิธีการที่คล้ายกับการพิมพ์ซิลค์สกรีน ในการเพิ่ม/ลดวัสดุของแต่ละส่วนประกอบทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่นทรานซิสเตอร์ ตัวต้านทาน หรือตัวเก็บประจุบนแผ่นฐานหรือเวเฟอร์ (wafer) ชิ้นเดียวนั้น ด้วยวิธีการทางเคมี
Centralab เป็นบริษัทขนาดเล็ก ไม่มีทรัพยากรที่จะพัฒนาอุปกรณ์แบบนั้นได้ เขาจึงมองหางานใหม่ที่เขาจะได้มีโอกาสพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ตามจินตนาการที่ออกแบบไว้
แจ็ค คิลบี ไม่ได้มองหาประกาศโฆษณารับสมัครงาน หรือรอให้ใครติดต่อมา เขาเขียนจดหมายไปยังทุกบริษัทที่เขาเห็นว่ามีศักยภาพพอและขอร่วมงานด้วย
ไอบีเอ็มและโมโตโรลาไม่สนใจในข้อเสนอของเขา บริษัทเดียวที่เห็นด้วยและเสนอตำแหน่งงานให้คือ Texas Instruments ผู้ผลิตทรานซิสเตอร์สารกึ่งตัวนำรายใหญ่ “มาทำด้วยกันที่นี่เลย” คิลบีในวัยเกือบ 35 ปีจึงเดินทางลงใต้มุ่งไปดัลลัส
ในเดือนสิงหาคมปี 1958 แจ็ค คิลบี วิศวกรอาวุโสแต่เพิ่งเข้าใหม่ยังไม่มีสิทธิลาหยุดเหมือนคนอื่นๆ ที่ล้วนไปหยุดพักร้อนภาคบังคับกันครึ่งเดือน เขาทำงานในบริษัทที่เกือบว่างเปล่า แต่ได้รับอิสระอย่างเต็มที่ในการใช้เครื่องมือของบริษัทเพื่อการพัฒนาวงจรรวม “ทำยังไงก็ได้ให้วงจรให้มันย่อเล็กลง” คือความท้าทายที่ได้รับมอบหมาย
1
ในยุค 1950 นั้น ผู้ที่มีแนวคิด “วงจรรวม” (Integrated Circuit, IC) ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียว มีหลายคนเสนอขึ้นมาในวารสารวิชาการ หรือแม้แต่จดสิทธิบัตรไอเดียไว้แล้ว แต่ยังไม่มีใครสร้างวงจรรวมที่ใช้งานได้จริงเลย แนวทางของคิลบีที่ไม่มีใครทำมาก่อนคือ ขึ้นรูปชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ทุกชนิดด้วยสารกึ่งตัวนำ
ทรานซิสเตอร์และไดโอดเป็นสารกึ่งตัวนำอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครทำตัวต้านทาน หรือตัวเก็บประจุด้วยเซมิคอนดักเตอร์มาก่อน เพราะมันแพงเกินไปและคุณภาพไม่ดีเท่า คิลบีเห็นว่าข้อดีของมันจะทดแทนข้อเสียได้หมด นั่นคืออุปกรณ์ทุกตัวที่เคยแยกกันอยู่โดดๆจะมารวมกันเป็นชิ้นเดียวบนแผ่นเวเฟอร์สารกึ่งตัวนำ โดยไม่ต้องมีการเชื่อมต่อใดๆ
คิลบีรู้ดีว่าเขาต้องแข่งกับเวลา รีบนำไอเดียที่มีอยู่แล้วตั้งแต่อยู่วิสคอนซิน มาทดลองสร้างต้นแบบวงจรรวมโดยไม่รอช้า เขาใช้เศษเวเฟอร์เจอร์เมเนียมเหลือจากทรานซิสเตอร์ที่บริษัทผลิตขาย (เจอร์เมเนียมเป็นสารกึ่งตัวนำที่นำไฟฟ้าได้ดีกว่าซิลิคอนซึ่งคิลบีอยากจะใช้ แต่ไม่มีในบริษัท) มาผ่านกระบวนการทางเคมีและความร้อนนับสิบขั้นตอน เพื่อก่อรูปวัสดุต่างๆเป็นชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ในแนวราบตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ในแบบเดียวกับการพิมพ์ซิลค์สกรีน
เพียงสองสัปดาห์ในวันหยุดฤดูร้อน (ของคนอื่นๆ) ปีแรกที่ดัลลัสนั่นเอง ที่เขาสร้างต้นแบบวงจรรวมได้เป็นครั้งแรกของโลก เป็นวงจรที่นำเอาทรานซิสเตอร์สารกึ่งตัวนำ 1 ตัว, ตัวเก็บประจุ 1 ตัว และตัวต้านทานอีก 3 ตัว มารวมกันไว้ในแนวราบเป็นชิ้นส่วนเดียว บนพื้นที่ขนาดเพียง 2 คูณ 12 มม. และมันทำงานได้
ต้นแบบวงจรรวมชิ้นแรกของโลก โดยแจ็ค คิลบี ในปี 1958
12 กันยายน 1958
แจ็ค คิลบี ทดสอบวงจรรวม phase-shift oscillator ที่สร้างด้วยมือขึ้นบนแผ่นเวเฟอร์ทำจากสารกึ่งตัวนำเจอร์เมเนียมเพียงชิ้นเดียว ต่อหน้าทีมวิศวกรที่กลับมาจากพักร้อน เมื่อป้อนไฟฟ้ากระแสตรง 10 โวลท์เข้าไป วงจรรวมจะสร้างแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับ เป็นคลื่นรูปไซน์ ที่ความถี่ 1 เมกะเฮิร์ตซ์ออกมาตรงตามที่ออกแบบไว้
นับว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองที่เริ่มต้นด้วยไมโครชิพ DIY ของคิลบี ถือกำเนิดขึ้นในวันนี้นั่นเอง
แผนผังโครงสร้างของอุปกรณ์ไมโครชิพตัวแรกของโลก ที่แจ็ค คิลบีออกแบบ
นับเป็นการพัฒนาขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นเร็วมากในเวลาเพียง 50 กว่าปี นับจากหลอดสุญญากาศ (1906) มาเป็นทรานซิสเตอร์ (1947) และวงจรรวม (1958) เมื่อคิลบีสร้างวงจรรวมได้นั้น ผู้คิดค้นหลอดสุญญากาศไตรโอด คือ ลี เดอฟอเรสต์ (1873-1961) ก็ยังมีชีวิตอยู่ ทันเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้
ที่จริงแล้ว สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า ชิพ (chip) ใช้กัน วงจรรวมของคิลบีจึงเรียกกันแต่เพียงว่า ไอซี (IC) คำว่าชิพเพิ่งจะเกิดขึ้นภายหลังจากกระบวนการผลิตซิลิคอนเวเฟอร์เริ่มจะลงตัวแล้ว เนื่องจากแผ่นวงจรรวมรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆที่ได้จากการตัดแผ่นจานซิลิคอน (dicing) ด้วยเลื่อย (ปัจจุบันตัดด้วยเลเซอร์) นั้นคล้ายกับรูปร่างของชิพที่ใช้ในการเล่นไพ่โปกเกอร์ในคาสิโน
แจ็ค คิลบี กับสมุดบันทึกแล็บวันที่ 12 กันยายน 1958
แม้จะเป็นคนแรกที่สร้างไอซีได้สำเร็จ แต่วงจรรวมของคิลบียังมีจุดบกพร่องอีกหลายอย่าง เช่นการเชื่อมต่ออุปกรณ์ยังต้องใช้ลวดทองคำ ไม่ได้เป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด จึงไม่ได้พัฒนาไปสู่การผลิตจำนวนมากในทันที
สิทธิบัตรวงจรรวมของแจ็ค คิลบี ในนามบริษัทเท็กซัส อินสตรูเมนท์
ผู้ที่สร้างวงจรรวมที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น สามารถสเกลไปผลิตทางการค้าได้เป็นครั้งแรก กลับเป็นโรเบิร์ต นอยซ์ (1927-1990) นักฟิสิกส์จบเอ็มไอที แห่งบริษัทแฟร์ไชลด์ เซมิคอนดักเตอร์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งทำได้ในปี 1959 หลังจากที่นอยซ์ทราบข่าวความสำเร็จของคิลบีเพียงไม่ถึงปี
การออกแบบของนอยซ์ ทำให้ย่อส่วนทรานซิสเตอร์ให้เล็กลงได้เป็นจำนวนมากกว่า ชิพจึงมีขนาดเล็ก ที่สำคัญเขาใช้เวเฟอร์หรือวัสดุฐาน เป็นสารกึ่งตัวนำซิลิคอน ซึ่งมีความหวั่นไหวตามอุณหภูมิน้อยกว่าเจอร์เมเนียม และผลิตได้ด้วยราคาถูกกว่า เพราะใช้ทรายที่มีอยู่ทั่วไปเป็นวัตถุดิบ
บริษัทที่นอยซ์สังกัดอยู่ตอนนั้น คือแฟร์ไชลด์ เซมิคอนดักเตอร์ ยื่นคำขอสิทธิบัตรไมโครชิพในเวลาใกล้เคียงกับเท็กซัส อินสตรูเมนท์ แต่ได้รับสิทธิบัตรไปก่อนหลายปี ทั้งที่เริ่มต้นทีหลัง
วงจรรวม monolithic วัสดุซิลิคอนที่สมบูรณ์ชิ้นแรก ผลงานของนอยซ์ แห่งบริษัทแฟร์ไชลด์ เป็นวงจรฟลิป-ฟลอป ใช้ทรานซิสเตอร์ 4 ตัว
ก่อนหน้านั้นโรเบิร์ต นอยซ์ เคยเป็นวิศวกรอยู่กับวิลเลียม ชอคลีย์ นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ที่ออกจากเบลล์มาเปิดบริษัทของเขาเองในรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ชอคลีย์เป็นผู้บริหารสไตล์เผด็จการ และยังเป็นพวกเหยียดผิว เขามอบหมายงานแล้วเปลี่ยนแปลงตามใจชอบ “สั่งวันนี้ต้องเสร็จเมื่อวาน” นอยซ์จึงทนไม่ได้ ยกทีมออกมาอยู่กับแฟร์ไชลด์ ส่วนชอคลีย์นั้นสาบส่งเรียกพวกเขาว่าคนทรยศ
แจ็ค คิลบี กับนอยซ์ นั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีและยกย่องกัน แต่มิใช่บริษัทของทั้งสอง แฟร์ไชลด์ กับเท็กซัส ต่างฟ้องร้องกันถึงความเป็นเจ้าของสิทธิบัตรไมโครชิพ จนเรื่องไปถึงศาลสูงสุด ผลการตัดสินออกมาให้จำกัดขอบเขตของสิทธิบัตรแต่ละฉบับแคบลงอย่างมาก จนทั้งสองฝ่ายแทบไม่ได้อะไร จึงตกลงกันว่าจะยกสิทธิ์ให้เป็นของสาธารณะ ใครก็ผลิตขายได้
โรเบิร์ต นอยซ์ ร่วมกับกอร์ดอน มัวร์ (1929-2023) เจ้าของ “กฎของมัวร์” อันโด่งดัง เปิดบริษัท N M Electronics (มาจากตัวย่อของชื่อ Noyce Moore) ของตัวเองขึ้นในปี 1968 ผลิตไมโครชิพ หรือวงจรรวมสำหรับงานประมวลผลคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ
หลังจากแอนดรู โกรฟ (1936-2016) อัจฉริยะผู้ลี้ภัยจากฮังการีเข้ามาสมทบในตำแหน่งซีอีโอ บริษัทก็ทำยอดขายถล่มทลาย ต่อมา N M เปลี่ยนชื่อใหม่ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน เป็น
Intel
นั่นเอง อินเทลจึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ ที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับ “หุบเขาซิลิคอน” แห่งแคลิฟอร์เนีย ซึ่งไม่ได้เป็นแหล่งแร่ซิลิคอนแต่อย่างใด เพียงแต่นำซิลิคอนมาผลิตเป็นชิพ โรเบิร์ต นอยซ์จึงมักจะได้รับฉายาเป็น “ผู้ว่าการแห่งหุบเขาซิลิคอน”
1
ส่วนบริษัทของชอคลีย์นั้น เลิกกิจการไปนานแล้ว
กระบวนการผลิตไมโครชิพในปัจจุบันก้าวหน้าไปจากจุดเริ่มต้นมาก จากไอซีแฮนด์เมดที่มีทรานซิสเตอร์ตัวเดียวของคิลบี 65 ปีต่อมา สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์นับหมื่นล้านตัวไว้ในชิพเดียวขนาดไม่กี่มิลลิเมตรได้
โรเบิร์ต นอยซ์ ผู้พัฒนาไมโครชิพที่นำมาผลิตได้จริง
แจ็ค คิลบี นั้นไม่ได้มาร่วมสนุกในหุบเขาซิลิคอนด้วย เขายังคงอยู่กับเท็กซัสอินสตรูเมนท์ต่อมาจนเกษียณ ถึงเขาจะไม่ได้ร่ำรวยจากสิทธิบัตรวงจรรวมที่ยกให้ฟรีๆ ก็ยังมีผลงานสิ่งประดิษฐ์อีกหลายอย่างเช่นเครื่องคิดเลข และเครื่องพิมพ์ระบบความร้อน เขาได้ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Texas A&M ในบั้นปลายด้วย
แม้ว่า Texas Instruments จะสู้กับอินเทลไม่ได้ในตลาดไมโครชิพ แต่ยังเคยผลิตชิพสมาร์ทโฟนให้กับแอปเปิล (ก่อนที่แอปเปิลจะผลิตใช้เอง) และมียอดขายรวมทั้งบริษัทสูงกว่าอินเทล เพราะผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย ส่วนอินเทลเน้นแต่ผลิตชิพให้แบรนด์อื่นๆเป็นหลัก
ผลกระทบที่กว้างไกลของวงจรรวมนี้เองที่ส่งผลให้ แจ็ค คิลบี ได้รับครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2000 ในฐานะคนแรกของโลกที่ประดิษฐ์วงจรรวมขึ้นได้ ก่อนหน้านั้นคนนอกวงการ แม้แต่ในดัลลัสแทบไม่มีใครรู้จักเขา
อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์หรือคอมพิวเตอร์ทุกอย่างในโลกปัจจุบันล้วนมีที่มาจากผลงานชิ้นแรกที่ทำด้วยมือหยาบๆของคิลบีเมื่อ 65 ปีที่แล้วทั้งสิ้น รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้อ่านบทความในขณะนี้ด้วยเช่นกัน
ปกติแล้วเขาเป็นคนเงียบขรึม ไม่ชอบพิธีการ เขาได้รับรางวัลต่างๆมากมาย เป็นที่พูดกันว่า ในงานพิธี แจ็คจะมีสุนทรพจน์อยู่สองแบบ คือแบบสั้นและแบบยาว แบบสั้นคือ "ขอบคุณครับ" ส่วนแบบยาวนั้นก็ "ขอบคุณมากครับ"
แต่ในสุนทรพจน์รับรางวัลโนเบล คิลบี กล่าวว่า ผู้ที่ควรมีส่วนร่วมแบ่งรางวัลกับเขาหากยังอยู่ ควรจะเป็นโรเบิร์ต นอยซ์ ผู้ก่อตั้งอินเทล อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะผลงานการออกแบบวงจรของนอยซ์นั้น ทำได้ดีกว่าจนกลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรม เพียงแต่ทำได้หลังจากเขาเท่านั้น
คิลบี ในวันรับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เมื่อเสร็จพิธี แจ็คผู้ติดดินรีบออกมาเรียกแทกซีกลับที่พัก แต่ต้องแปลกใจว่าผู้จัดเตรียมรถลิมูซีนไว้ส่งเขาแล้ว
แม้ว่ามีความชำนาญด้านอิเลกทรอนิกส์ ซ่อมวงจรทุกอย่างได้ (ลูกสาวของเขาเคยเล่าว่า ตอนเด็กๆนั้นเธอแปลกใจเมื่อรู้ว่าผู้ใหญ่คนอื่นๆซ่อมทีวีไม่เป็น) และเป็นผู้ประดิษฐ์สิ่งที่ก่อให้เกิดยุคคอมพิวเตอร์ก็ตาม แต่แจ็ค คิลบี นั้นแทบไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เอง และไม่รู้จักการเขียนโปรแกรม เขายังนิยมใช้สไลด์รูลในการคำนวณ แทนที่จะเป็นเครื่องคิดเลขที่เขาออกแบบ “เพราะมันตรงไปตรงมาไม่มีอะไรซ่อนไว้”
สำหรับต้นแบบ “ชิพ” ทำมือของแจ็ค คิลบี ชิ้นที่พลิกประวัติศาสตร์โลก และชิพอื่นๆในปี 1958 นั้น ไม่ได้หายไปไหน สามารถเยี่ยมชมได้ที่พิพิธภัณฑ์สมิทโซเนียน ในวอชิงตันดีซี และที่บริษัทเท็กซัส อินสตรูเมนท์ ในดัลลัส
การสร้างนวัตกรรมมีสองขั้นตอน
ขั้นแรกคือการศึกษาอย่างถ่องแท้ ทั้งปัญหาและคำตอบที่เป็นไปได้ อาจต้องเปิดหูตารับรู้ทางเลือกจากแหล่งอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง อ่านให้มากและรับฟังอย่างหลากหลาย จนคุณเข้าใจว่าปัญหาอยู่ตรงไหนแน่ แม้ว่าความรู้ที่รวบรวมไว้อาจจะได้ใช้จริงเพียง 1 ในล้านก็ตาม
คำแนะนำของแจ็ค คิลบี ต่อนักประดิษฐ์รุ่นใหม่
เมื่อได้เก็บสะสมความเข้าใจจนเริ่มหาวิธีแก้ปัญหาได้แล้ว ขั้นต่อมาคือการโฟกัสจดจ่อ จำกัดวงเฉพาะปัญหาและไอเดียทีละอย่าง ปิดสวิทช์พักเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องไว้ก่อน พยายามหาวิธีใหม่ๆในการแก้ปัญหา อย่าด่วนใช้วิธีที่ชัดแจ้งที่สุด ถ้ามันง่ายก็คงมีคนทำไปนานแล้ว
"นวัตกรรมมักเกิดจากวิธีคิดที่ไม่มีใครเหมือน อาจจะนำสิ่งที่มีอยู่แล้วจากสาขาวิทยาการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาเลยมาใช้ก็ได้ และอย่าลืมเรื่องต้นทุน มิใช่สร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อใช้ต้มกาแฟ ถ้าคนอื่นใช่วิธีที่มีต้นทุนสองร้อย คุณต้องแก้ปัญหาเดียวกันให้ได้ในงบร้อยเดียว นั่นคือนักแก้ปัญหาที่แท้จริง"
โฆษณา