11 พ.ย. 2023 เวลา 08:34 • ความคิดเห็น

คำว่า “ศาสตรา” และ “ศัสตรา” คุณใช้ผิดอยู่หรือไม่

/// เชื่อว่าท่านที่อ่านหนังสือ หรือว่าอ่านกระทู้ไม่ว่าจะในรูปแบบกระดาษหรือทางออนไลน์ คงรู้จักคำว่า “ศาสตรา” และ “ศัสตรา” แล้ว พวกคุณใช้คำทั้งสองผิดอยู่หรือไม่ ผมเชื่อว่าเวลาใช้งานอาจจะสับสน ไม่แน่ใจ หรืองุนงงในการใช้อยู่บ้าง แต่ที่แย่คือใช้ผิดไปเลย แล้วพอมีคนมาเตือน ก็ยังรั้น ดึงดัน ใช้แบบผิด ๆ ต่อไป
/// คำว่า “ศาสตรา” เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า ศาสฺตฺร (อ่านว่า สาส-ตฺระ) แปลว่า เครื่องสั่งสอน หมายถึง ตำราวิชาการ ส่วนในภาษาไทยถิ่นใต้ ศาสตรา เป็นวรรณกรรมประเภทนิทานที่มีเนื้อหาสั่งสอน เช่น วรรณกรรมชาดก วรรณกรรมพื้นบ้าน ต่อมาใช้เรียกวรรณกรรมเสี่ยงทาย [*1] ตำราพยากรณ์ชีวิต แต่เดิมทำเป็นสมุด [*2]
/// ส่วนคำว่า “ศัสตรา” มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า ศสฺตฺร (อ่านว่า สัด-ตฺระ) แปลว่า เครื่องฟันแทง [*3]
/// จะเห็นได้ว่าคำว่า ศัสตรา และศาสตรา ความหมายตรงกันข้ามเลยทีเดียว โดยคำว่า ศาสตรา เป็นจำพวก ตำรา หนังสือ โดยจะเห็นชัดในคำว่า ศาสตราจารย์ ส่วนคำว่า ศัสตรา เป็นจำพวก อาวุธ ซึ่งจะเห็นชัดในคำว่า ศัสตราวุธ
/// แต่ปัจจุบันจากการสังเกตจากการอ่านของผมใน Facebook เพจต่าง ๆ หรือกลุ่มต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพจเกี่ยวอาวุธ ยังนิยมใช้คำว่า  “ศาสตรา” ในความหมายของคำว่า อาวุธ ซึ่งเป็นการใช้คำที่ผิด สมควรที่จะต้องใช้คำให้ถูกต้องว่า ศัสตราวุธ แต่พอผมเข้าไปเตือน คนเหล่านี้ก็บอกว่าอยากใช้แบบนี้ หรือจะใช้แบบนี้มีอะไรไหม ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นการเอาสีข้างเข้าถู
/// ใช้คำให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะดูตลก และความหมายมันจะแปลก ๆ ในภาษาไทย จงอย่ามั่น จงปรับแก้ไขให้ถูกต้องครับ
—-----------------
เชิงอรรถ
[*1] ศาสตราที่เป็นคำทำนายแต่ละตอนจะมีภาพประกอบอยู่คู่กับคำทำนายด้วย โดยยกเรื่องราวจากวรรณคดี ชาดก หรือนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น รามเกียรติ์ เวสสันดร พระสุธนมโนห์รา สังข์ทอง ไกรทอง ส่วนผู้ที่ใช้ตำราศาสตราให้คำทำนาย เรียกว่า หมอศาสตรา เดิมเป็นพราหมณ์ ต่อมามีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสชายหญิง
[*2] จากบทความเรื่อง ศาสตรา, บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น., สืบค้นจากเว็บไซต์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (http://legacy.orst.go.th/?knowledges=%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2-%E0%B9%92%E0%B9%93-%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B9%92%E0%B9%95%E0%B9%95%E0%B9%96)
, บทความวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๖, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
[*3] จากบทความ เรื่อง อาวุธ-ศัสตราวุธ-ศาสตราวุธ จากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสภา (http://legacy.orst.go.th/?knowledges=%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B8%E0%B8%98-%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B8%E0%B8%98-%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B8)
, บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น., บทความเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๔, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
โฆษณา