16 พ.ย. 2023 เวลา 04:09 • การศึกษา

Hidden Potential การออกแบบโรงเรียนของ Finland เพื่อดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเด็กออกมา

เป็นเนื้อหาส่วนนึงที่ถือว่าน่าสนใจมาก ๆ จากหนังสือเล่มใหม่ของ Adam Grant อย่าง Hidden Potential: The Science of Achieving Greater Things ซึ่งเกี่ยวกับการออกแบบโรงเรียนเพื่อพัฒนาเด็กและดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาให้ได้มากที่สุดของประเทศ Finland
ในช่วงเริ่มต้นของสหัสวรรษใหม่ วัยรุ่นหลายพันคนเป็นตัวแทนของประเทศในการแข่งขันระดับนานาชาติ แม้ว่ามันจะส่งคลื่นกระแทกไปทั่วโลก แต่มันก็ดึงดูดความสนใจจากคนทั่วโลกได้เพียงเล็กน้อย ไม่มีการประลองบนเวที ไม่มีฝูงชนที่ส่งเสียงเชียร์ ไม่มีแม้กระทั่งเหรียญรางวัล มีเพียงงานแถลงข่าวเล็ก ๆ ในกรุงปารีสเพื่อประกาศผล
นันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้เชี่ยวชาญได้คิดค้นวิธีเปรียบเทียบความถนัดของหนุ่มสาวทั่วโลกโดยตรง เริ่มตั้งแต่ปี 2000 ทุก ๆ สามปี Organisation for EconomicCo-operation and Development (OECD) จะเชิญเด็กอายุ 15 ปีจากหลายสิบประเทศให้เข้าร่วมทดสอบ PISA ซึ่งเป็นแบบทดสอบมาตรฐานสำหรับทักษะทางคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์
คะแนนของพวกเขาจะเผยให้เห็นว่าประเทศใดมีเด็กที่มีความรู้มากที่สุด และเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในโลกตัวจริงเสียงจริง
ตัวเต็งในการแข่งขันครั้งแรกในปี 2000 ได้แก่ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ พวกเขามีเชื่อเสียงในด้านการมีนักเรียนที่ฉลาดและอัจฉริยะเต็มไปหมด
แต่เมื่อผลการทดสอบครั้งแรกออกมา ผู้คนก็ต่างตกตะลึง ประเทศที่มีผลการทดสอบที่ดีที่สุดไม่ใช่ประเทศจากเอเชีย นอกจากนี้ยังไม่ใช่มหาอำนาจด้านการศึกษาอย่างในอเมริกาหรือยุโรป ไม่ใช่แม้กระทั้ง แคนาดา สหราชอาณาจักร หรือ เยอรมนี ไม่ใช่ออสเตรเลียหรือแอฟริกาใต้เช่นกัน ผู้ชนะกลับเป็นประเทศที่ไม่มีใครคาดคิดอย่างฟินแลนด์
ก่อนหน้านี้ฟินแลนด์แทบไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงการศึกษา ซึ่งเทียบได้กับประเทศอย่างมาเลเซียและเปรู ด้วยซ้ำ
ในปี 1960 ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ 89% ของนักเรียนชาวฟินแลนด์แทบจะเรียนไม่ผ่าน Grade 9 ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ในการเปรียบเทียบอัตราสำเร็จการศึกษาในระดับนานาชาติ รวมถึงการแข่งขันโอลิมปิกคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นักเรียนชาวฟินแลนด์แทบจะไม่เคยสัมผัสรางวัลเหล่านี้เลย
มันเป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก ๆ สำหรับผู้คนในแวดวงการการศึกษาที่จะเห็นประเทศหนึ่งเดินทางมาไกลในระยะเวลาอันสั้นเช่นนี้ ผู้สังเกตการณ์บางคนแย้งว่ามันอาจจะเป็นแค่เพียงเรื่องบังเอิญเท่านั้น
จากนั้นในปี 2003 มันก็ได้พิสูจน์ว่าพวกเขาเหล่านี้คิดผิด ฟินแลนด์กลับมาเป็นผู้นำอีกครั้งในการทดสอบครั้งที่สอง ด้วยคะแนนที่สูงกว่าเดิมอีกด้วย และในปี 2006 พวกเขาสามารถคว้าชัยชนะเป็นครั้งที่สามติดต่อกัน ซึ่งเหนือกว่าประเทศที่เข้าร่วมอีกกว่า 56 ประเทศ
1
แน่นอนว่าการทดสอบทั้งหมดอาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาของฟินแลนด์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ PISA หรือแม้แต่นักเรียนระดับมัธยมปลายเท่านั้น
ในปี 2012 เมื่อ OECD ได้ทำแบบทดสอบความถนัดที่แตกต่างกันให้กับผู้ใหญ่มากกว่า 165,000 คนในหลายสิบประเทศ ฟินแลนด์ก็เข้าวินอีกครั้งโดยได้อันดับหนึ่งในกลุ่มวัยรุ่นและอายุยี่สิบกว่า ๆ ทั้งในด้านคณิตศาสตร์และการอ่าน
1
ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย และนักข่าวต่างแห่กันไปที่ฟินแลนด์อย่างรวดเร็ว โดยหวังว่าจะค้นพบสูตรลับที่จะพลิกโฉมโรงเรียนในประเทศของตนเอง
แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาได้ออกมาเตือนสูตรเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเลียนแบบได้ง่าย ๆ ส่วนประกอบที่สำคัญบางอย่างมาจากความเป็นเอกลักษณ์ของฟินแลนด์ : ฟินแลนด์มีประชากรที่ร่ำรวยและมีวัฒนธรรมเดียวกันในจำนวนประชากรเพียงห้าล้านคน
แม้ว่าส่วนผสมเหล่านี้อาจมีบทบาทต่อความสำเร็จของฟินแลนด์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายความสำเร็จของประเทศนี้ได้อย่างชัดเจนนัก
เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของฟินแลนด์อย่างนอร์เวย์ น่าแปลกที่ช่วงเวลาเดียวกันนั้นฟินแลนด์อันดับทะยานสูงขึ้น ส่วนนอร์เวย์ดิ่งลง และฟินแลนด์ก็ทำผลงานได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในสแกนดิเนเวียอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นั่นแสดงว่าต้องมีบางอย่างที่เกิดขึ้น
4
เพื่อค้นหาเบื้องหลังสูตรลับของฟินแลนด์ ทาง Adam Grant จึงบินตรงไปที่ฟินแลนด์ และได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาหลายคนรวมถึงมีการค้นคว้าและวิจัยอย่างละเอียด
สิ่งที่ได้ออกมาก็คือ ฟินแลนด์ไม่มีส่วนผสมอะไรที่วิเศษสักอย่าง ความสำเร็จส่วนใหญ่ของพวกเขามาจากวัฒนธรรมที่พวกเขาสร้างขึ้นมา
2
วัฒนธรรมดังกล่าวมีรากฐานมาจากความเชื่อในศักยภาพของนักเรียนทุกคน แทนที่จะคัดเลือกนักเรียนที่ดีที่สุดและฉลาดที่สุด โรงเรียนในฟินแลนด์ได้รับการออกแบบเพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสที่จะเติบโต
3
ในการทดสอบ PISA ช่องว่างความสำเร็จระหว่างโรงเรียนและระหว่างนักเรียนนั้นเรียกได้ว่ามีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุดในโลก
ในโรงเรียนของประเทศฟินแลนด์ สิ่งที่กลายเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานที่คนในชาติมีร่วมกันก็คือ “เราจะไม่ยอมสูญเสียมันสมองของเด็กแม้แต่เพียงคนเดียว” สิ่งนี้ทำให้วัฒนธรรมการศึกษาของพวกเขาแตกต่างออกไป พวกเขารู้ดีว่ากุญแจสำคัญในการบ่มเพาะศักยภาพที่ซ่อนอยู่คือไม่ต้องลงทุนในนักเรียนที่แสดงสัญญาณเริ่มต้นที่ดูแววว่าจะไปรุ่ง แต่จะเป็นการลงทุนในนักเรียนทุกคนโดยไม่คำนึงถึงความสามารถที่ชัดเจนที่แสดงมันออกมาตั้งแต่เริ่มต้น
1
ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ได้สร้างวัฒนธรรมแห่งโอกาสสำหรับทุกคน แนวคิดพื้นฐานที่สำคัญก็คือความฉลาดของเด็กมาในหลายรูปแบบและเด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็นเลิศ
ซึ่งสมมติฐานดังกล่าวกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญมาก ๆ ที่ทำให้เกิดความเสมอภาคทางด้านการศึกษา ความสำเร็จไม่ได้มีไว้สำหรับผู้ที่มีพรสวรรค์และมีความสามารถเท่านั้น
ฟินแลนด์ได้มอบครูที่ยอดเยี่ยมให้กับนักเรียนทุกคนและต้องสร้างแผนการในการเติบโตของเด็กแต่ละคน หากนักเรียนดูว่าจะไปไม่ไหว พวกเขาจะไม่รั้งนักเรียนเหล่านี้ไว้เพื่อให้เรียนซ้ำชั้น เพื่อให้พวกเขาก้าวทันนักเรียนคนอื่นๆ โรงเรียนจะเข้ามาแทรกแซงตั้งแต่เนิ่น ๆ พร้อมการสอนแบบรายบุคคลและมีการช่วยเหลือแบบพิเศษ และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความสนใจส่วนบุคคลของนักเรียนแต่ละคน ไม่ใช่แค่ส่งเสริมความสำเร็จของพวกเขาเท่านั้น
คุณค่าโดยรวมที่ฟินแลนด์มอบให้การศึกษาไม่เพียงส่งผลต่อโรงเรียนเท่านั้น มันแทรกซึมอยู่ในสังคมสหรัฐอเมริกาหรือแม้กระทั่งประเทศไทยเองก็ตาม หากถามผู้คนในประเทศว่าอาชีพไหนที่พวกเขานับถือมากที่สุด
คำตอบที่พบบ่อยสุดคือ หมอ กลับกันในประเทศฟินแลนด์อาชีพที่น่าชื่นชมที่สุดมักจะเป็นอาชีพที่เกี่ยวกับการสอน
1
ในปี 1970 ฟินแลนด์เริ่มการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพด้านการศึกษา การปฏิรูปเริ่มต้นด้วยการปรับปรุงวิธีการคัดเลือกและฝึกอบรมครู โดยฟินแลนด์กำหนดให้ครูทุกคนต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ และยังจ่ายเงินเดือนให้อาชีพครูอย่างดีอีกด้วย
3
ปัจจุบัน ครูชาวฟินแลนด์มีอิสระอย่างมากในการใช้วิจารณญาณเพื่อช่วยให้นักเรียนเติบโต พวกเขาได้รับการคาดหวังให้ติดตามงานวิจัยล่าสุดอยู่เสมอและให้ความรู้และฝึกสอนซึ่งกันและกันในการประยุกต์ใช้งานวิจัยใหม่ ๆ
การปฏิรูปเหล่านี้เป็นการปูทางให้โรงเรียนในฟินแลนด์สามารถสร้างวัฒนธรรมแห่งโอกาสได้ ด้วยการให้ความสำคัญกับการสอน พวกเขาปลูกฝังแนวคิดที่ว่าทุกคนสามารถสอนได้
เพื่อค้นหาและพัฒนาศักยภาพในตัวนักเรียนแต่ละคน ครูจึงตั้งสมมติฐานว่าการศึกษาควรปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นชั้นเรียนขนาดเล็ก ครูฟินแลนด์ทั่วไปมีนักเรียนที่ต้องรับผิดชอบประมาณ 20 คน ซึ่งประกอบไปด้วยชุดแนวทางปฏิบัติสำหรับการเรียนรู้เฉพาะบุคคล
โรงเรียนในฟินแลนด์สร้างวัฒนธรรมแห่งโอกาสโดยทำให้นักเรียนสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นรายบุคคล รับการสนับสนุนเป็นรายบุคคล และพัฒนาความสนใจเป็นรายบุคคล
ความน่าสนใจอีกอย่างก็คือการใช้ครูที่วนซ้ำในหลาย ๆ ชั้นเรียนของฟินแลนด์ เป็นเรื่องปรกติที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาชาวฟินแลนด์จะมีครูคนเดียวในหลายชั้นเรียน บางครั้งไม่ใช่เพียงแค่ 2 ปีติดต่อกัน แต่มากถึง 6 ปีติดต่อกัน
และแทนที่ครูจะเชี่ยวชาญเฉพาะวิชา ครูยังต้องเชี่ยวชาญเรื่องเกี่ยวกับนักเรียนแต่ละคนด้วยเช่นกัน บทบาทของครูในฟินแลนด์จะพัฒนาจากผู้สอนไปสู่โค้ชและที่ปรึกษา
1
นอกจากการนำเสนอเนื้อหาในชั้นเรียนแล้วนั้น พวกเขายังสามารถช่วยให้นักเรียนก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายและรับมือกับความท้าทายทางสังคมและอารมณ์ด้วยเช่นเดียวกัน
1
การให้ครูอยู่กับนักเรียนนาน ๆ นั้นมีประโยชน์มากที่สุดสำหรับครูที่มีประสิทธิภาพน้อยและนักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำ การสร้างความสัมพันธ์ที่ขยายออกไปเป็นผลดีสูงสุดสำหรับครูและนักเรียนที่กำลังดิ้นรนต่อสู้ มันทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะเติบโตร่วมกัน
ในฟินแลนด์ นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและการสนับสนุนแบบเฉพาะรายบุคคลได้ ไล่มาตั้งแต่ผู้บริหารของโรงเรียน เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้บริหารเท่านั้น พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบความคืบหน้าและต้องเข้าถึงนักเรียนทุกคน และต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งของสัปดาห์ในการเข้าสอนด้วยตนเอง
2
แม้ว่าการสนับสนุนจะเริ่มจากระดับผู้บริหารด้านบนลงมา แต่มันก็ไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่นั้น มันถูกสร้างไว้ในระบบการศึกษาของฟินแลนด์แต่ละระดับ ทุกโรงเรียนในฟินแลนด์มีทีมสวัสดิการนักเรียน
1
นอกเหนือจากครูประจำชั้นของนักเรียนแต่ละคนแล้วนั้น ทีมงานยังประกอบด้วยนักจิตวิทยา นักสงคมสงเคราะห์ พยาบาล ครูด้านการศึกษาพิเศษ และอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน
ระบบสนับสนุนเหล่านี้เป็นเหมือนเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้กับนักเรียน และคอยช่วยเหลือนักเรียนทุกคนเมื่อประสบพบเจอกับปัญหา ซึ่งไม่ได้สงวนไว้เฉพาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเท่านั้น
4
ในช่วงเก้าปีแรกของการเรียน นักเรียนฟินแลนด์ร้อยละ 30 จะได้รับความช่วยเหลือแบบพิเศษ มีการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่ใหญ่กว่าไม่ให้เกิดขึ้นได้
บทสรุป
มันเป็นส่วนผสมที่น่าสนใจที่ทำให้ฟินแลนด์ประสบความสำเร็จอย่างที่เราได้เห็นในทุกวันนี้ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาชาติ
ผมมองว่ามันมีหลาย keyword ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการโฟกัสกับความสามารถของเด็กแบบเฉพาะรายบุคคล ซึ่งถ้ามองในโลกของเทคโนโลยีมันก็คือการ Personalization การศึกษาให้เด็กแต่ละคนและผลักดันความสามารถอันสูงสุดของพวกเขาให้ออกมา
โลกเราในทุกวันนี้มันเต็มไปด้วยการ Personalization แทบจะทุกอย่าง ตั้งแต่ feed ที่เราเห็นในเครือข่ายโซเชียลมีเดีย วีดีโอที่เราดูผ่าน Youtube หรือ ภาพยนต์ ซีรีส์เรื่องโปรดของเราใน Netflix นั้นผ่านการคัดสรรปรุงแต่งให้กับความชอบของแต่ละบุคคลเป็นเรื่องปรกติอยู่แล้ว
ซึ่งในเรื่องของการศึกษานั้นฟินแลนด์สามารถ Personalization ให้กับนักเรียนแต่ละคนได้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะมันต้องใช้แรงงานแรงกายของครูที่ค่อนข้างสูงมาก ๆ เพราะต้องเหนื่อยกับการเข้ามาโฟกัสเด็กนักเรียนแต่ละคนแบบยาว ๆ ไม่ใช่เพียงแค่ชั้นเรียนเดียวแล้วส่งต่อให้กับครูคนอื่นเหมือนในหลาย ๆ ประเทศ
1
บทความเรื่องนี้มันชี้ให้เห็นชัดเจนถึงปัญหาที่เราประสบพบเจอกับการศึกษาในประเทศของเราเอง ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณสูงแทบจะเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในทุก ๆ ปี แต่การศึกษาของประเทศเรานั้นยังแทบจะไม่พัฒนาไปไหน
1
แต่ก็ต้องบอกว่าการที่จะทำแบบฟินแลนด์ได้นั้นก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย เรียกได้ว่ามันเป็นการร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ของคนในชาติกันเลยทีเดียว ที่ต้องคิดใหม่กันแทบจะทั้งหมด แค่เรื่องของค่านิยมในอาชีพครูว่าเป็นอาชีพที่ได้รับเกียรติ และให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เพราะต้องทำงานหนักมาก ๆ หากต้องการให้ครูทุกคนสนใจกับนักเรียนแบบรายบุคคลเหมือนที่ฟินแลนด์ทำ
รวมถึงพลังของ Hidden Potential ตามชื่อหนังสือของ Adam Grant ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะหลายคนอาจจะประสบพบเจอกับตัวเองว่าการเรียนโดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นเทิดทูนกับความสามารถของนักเรียนในบางสาขาวิชาเพียงเท่านั้น
ทังที่ในปัจจุบันโลกเราเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้เรียกได้ว่าทักษะในด้านต่าง ๆ ทั้งการวาดรูป ดนตรี ศิลปะ การแสดง หรือ สกิลอื่น ๆ อีกมากมายที่เด็กหลายคนถูกมองข้ามไปในช่วงเยาว์วัยนั้น มันสามารถสร้างรายได้สร้างอาชีพได้ไม่แตกต่างจากอาชีพที่ถูกฝังค่านิยมแบบเก่า ๆ ของประเทศเรา
ต้องบอกว่าความฉลาดของเด็กมาในหลายรูปแบบและเด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็นเลิศ การดึงเอาศักยภาพของเด็กเหล่านี้ออกมาให้ได้มากที่สุดโดยไม่ถูกลอยแพตั้งแต่เนิ่น ๆ ถือเป็น key ที่สำคัญที่สุดมาก ๆ ของการพัฒนาระบบการศึกษาซึ่งตัวอย่างของฟินแลนด์นั้นมันได้พิสูจน์ให้โลกได้เห็นมาแล้วนั่นเองครับผม
References :
หนังสือ Hidden Potential: The Science of Achieving Greater Things โดย Adam Grant
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
คิดเห็นอย่างไรคอมเม้นต์กันได้เลยครับผม
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA ด.ดล Blog
คลิกเลย --> https://lin.ee/aMEkyNA
รวม Blog Post ที่มีผู้อ่านมากที่สุด
——————————————–
ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
=========================
โฆษณา