นิโคลาส์-ชาคส์ คอนเต อัจฉริยะตาเดียว ผู้สร้างดินสอดำในการปฏิวัติฝรั่งเศส

หากกล่าวถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เริ่มต้นในปี 1789 นั้น ผู้คนมักจะนึกถึงภาพความสยดสยองของกิโยติน หรือไม่ก็คำขวัญประชาธิปไตย “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” แต่การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้มีผลกระทบทางการเมืองอย่างเดียว ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการอุตสาหกรรมอย่างใหญ่หลวง รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ที่ยังใช้กันต่อมาจนปัจจุบันโดยไม่ล้าสมัยทั่วโลกหลายอย่าง ไม่เฉพาะในฝรั่งเศสเท่านั้น (ซึ่งไม่รวมถึงกิโยติน ที่มีมาก่อนปี 1789 อยู่แล้ว)
หน่วยวัดระบบเมตริก, ระบบสิทธิบัตรฝรั่งเศส, บอลลูนทางทหาร, ร่มชูชีพ, เรือดำน้ำ, สีน้ำเงิน Cobalt blue,ขนมปังบาแกต,สวนสัตว์สาธารณะ,การแพทย์สมัยใหม่ และการศึกษาภาคบังคับ ฯลฯ ล้วนกำเนิดขึ้นในยุคปฏิวัติ ที่ยังส่งผลจนถึงทุกวันนี้
เสรีภาพของการพิมพ์ หัวขบวนการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นมีผู้รู้หนังสือไม่ถึงครึ่งของประชากร
ส่วนในสมัยของนโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของการปฏิวัติ ก็ยังมีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น เช่น การก่อตั้งมหาวิทยาลัยช่าง Ecole Polytechnique ที่ใช้วิธีสอบเข้าเป็นครั้งแรก (สมัยระบอบกษัตริย์ รับนักศึกษาโดยดูจากฐานะครอบครัว), อาหารกระป๋อง, อุตสาหกรรมน้ำตาล, การค้นพบวิธีอ่านอักษรภาพอียิปต์โบราณ, การถ่ายภาพยุคเริ่มต้น หรือแม้แต่รถพยาบาล (ambulance มาจากภาษาฝรั่งเศสที่หมายถึง โรงพยาบาลเดินได้) และอีกมากมาย
แม้แต่คำว่า ผู้ประกอบการ หรืออองเทอเพรอนัวร์ (Entrepreneur) ที่นิยมใช้กัน ก็เป็นคำฝรั่งเศสที่เริ่มมาจากนักวิชาการฝ่ายปฏิวัติคนหนึ่ง (ชอง-แบพติสต์ เซย์)
ยังมีสิ่งของอีกชิ้นหนึ่ง ที่คนสมัยนี้ใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นั่นคือ “ดินสอดำ” เบอร์ต่างๆ เช่น HB, 2B, F หลายคนคงคาดไม่ถึงว่า มีจุดกำเนิดที่ฝรั่งเศสในช่วงการปฏิวัติใหญ่เช่นกัน โดยไส้ดินสอที่แปรเปลี่ยนความเข้มได้นี้ เป็นผลงานของศิลปินตาเดียวชื่อ นิโคลาส์-ชาคส์ คอนเต (Nicolas-Jacques Conté) ผู้ที่ยังเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ และนักรบในกองทัพอีกด้วย
คอนเต เกิดปี 1755 แถบนอร์มังดี เขามีพรสวรรค์ด้านการวาดรูปแต่เล็ก เขียนภาพเหมือนขายตั้งแต่อายุ 14 เขานำเงินที่ได้จากการวาดรูปมาใช้ในการประดิษฐ์กลไกต่างๆ และการทดลองวิทยาศาสตร์ที่เขาชอบ
นิโคลาส์-ชาคส์ คอนเต (1755-1805) เหลือตาข้างเดียว แต่เก่งทุกด้าน ทั้งวิทย์และศิลป์
ต่อมาได้ร่วมงานกับชาคส์ ชาลส์ ผู้ประดิษฐ์บอลลูนไฮโดรเจน ตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ คอนเตยังเป็นคนแรกที่นำบาโรมิเตอร์แบบปรอทขึ้นไปวัดระดับความสูงของบอลลูน โชคไม่ดี เกิดอุบัติเหตุขึ้นในการทดลองเคมี ไฮโดรเจนเกิดระเบิดทำให้เขาตาบอดไปหนึ่งข้าง
หลังจากก่อตั้งสาธารณรัฐในปี 1792 ฝรั่งเศสต้องทำสงครามกับพันธมิตรหลายชาติ บอลลูนไฮโดรเจนที่คอนเตศึกษามาจากชาคส์ ชาลส์ ถูกนำมาใช้ในการรบ คอนเตเป็นผู้ควบคุมการสร้างบอลลูนเอง ช่วยให้ฝรั่งเศสชนะศึกสำคัญต่อออสเตรีย ที่เฟลอรัส ในปี 1794 ดังที่กล่าวถึงแล้วในเรื่อง ร่มชูชีพจากสยาม คอนเตจึงมีชื่อเสียงไปด้วย
ขณะเดียวกัน อังกฤษซึ่งเป็นคู่สงครามกับฝรั่งเศส ได้ปิดล้อมการส่งสินค้าทั้งหมด รวมทั้งแร่แกรไฟท์คุณภาพดี ที่สมัยนั้นเรียกว่า พลัมเบโก (Plumbago) ซึ่งเป็นภาษาลาตินแปลว่าตะกั่ว (ที่มาของสัญลักษณ์ Pb) จากความอ่อนนุ่มเหมือนตะกั่ว เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่เดิมอังกฤษเรียกไส้ดินสอว่าตะกั่วดำ (อันเป็นที่มาของคำว่า pencil lead ที่หมายถึงไส้ดินสอ) และเอาไปทำแบบหล่อลูกปืนใหญ่จากความลื่นของมัน
(ส่วนศัพท์คำว่า graphite มาทีหลังเมื่อดินสอได้รับความนิยมแล้ว แปลว่าการเขียน เช่นเดียวกับ graph)
ก่อนหน้านั้น ดินสอดำในฝรั่งเศสต้องพึ่่งพาแกรไฟท์ที่นำเข้าจากเหมืองบอร์โรว์เดล ซึ่งเป็นแหล่งแกรไฟท์บริสุทธิ์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางเหนือของอังกฤษติดกับสกอตแลนด์ แกรไฟท์บริสุทธิ์ หรือพลัมเบโกนี้มีความเหนียวนุ่ม สามารถนำมาตัดเป็นแท่งเล็กๆพอดีมือเอาผ้าห่อไว้แล้วเขียนได้ทันที แต่ถูกอังกฤษระงับการส่งออกทั้งหมด
ดินสอโบราณที่ทำจากแท่งแกรไฟต์บริสุทธิ์ แสดงอยู่ที่ปราสาทเฟเบอร์คาสเทล ในนูเร็มเบิร์ก
เมื่อไม่มีแกรไฟท์ชนิดบริสุทธิ์สูงให้ใช้ ฝรั่งเศสก็จะต้องหันไปใช้แกรไฟท์ชนิดผงจากแหล่งแร่ในประเทศที่มีสิ่งเจือปนสูง แต่ยังไม่มีวิธีการผลิตให้เป็นดินสอเขียนได้
ผู้นำการปฏิวัติเห็นว่าการขาดแคลนดินสอไม่ใช่เรื่องเล็ก นักเขียน ศิลปิน ช่างฝีมือที่อยู่ข้างการปฏิวัติจะเสียขวัญได้ อีกทั้งการขยายโอกาสทางการศึกษาก็เป็นนโยบายหลัก (แม้จะมาสำเร็จเอาในยุคนโปเลียน) การสื่อสารของทหารในแนวหน้าก็จำเป็นต้องใช้เครื่องเขียนที่ลบได้ง่าย (สมัยนั้นใช้เศษขนมปังลบ)
ลาซาร์ คาร์โนต์ นักคณิตศาสตร์ (ผู้เป็นบิดาของซาดิ คาร์โนต์ เจ้าของทฤษฎีกลจักรคาร์โนต์) สมาชิกของกรรมาธิการแห่งสวัสดิภาพมหาชน (Comité de salut public) ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น จึงได้มอบหมายให้นิโคลาส์-จาคส์ คอนเต ที่สร้างผลงานบอลลูนไฮโดรเจนเอาไว้ หาหนทางแก้ไข นับว่าเป็นการเลือกที่่ถูกคน เพราะเขาเป็นทั้งนักเคมี และจิตรกรผู้ใช้ดินสอวาดรูปอยู่แล้ว
คอนเตคิดวิธีผลิตไส้ดินสอแบบใหม่ได้สำเร็จ ภายในเวลาเพียงสัปดาห์เศษ โดยการนำแกรไฟต์เกรดต่ำมาบดเป็นผงละเอียด ผสมกับผงดินเหนียวและน้ำ อัดเป็นแท่ง และนำไปอบในเตา เหมือนกับทำเครื่องเซรามิก และนำมาสอดในร่องไม้ซีดาร์ ที่หุ้มไส้แกรไฟต์ไว้ตรงกลาง ติดกาวประกบเข้าด้วยกัน แล้วจึงค่อยมาผ่าออกเป็นแท่ง แบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ แทนที่จะเป็นแท่งแกรไฟท์พันผ้าแบบโบราณ
กรรมวิธีการทำดินสอดำที่คอนเตคิดไว้ตั้งแต่ปี 1795
ดินสอของคอนเตจึงแข็งแรงกว่าเดิม ราคาก็ถูกลงมาก แถมยังเป็นไส้ดินสอที่ปรับความเข้มได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย โดยการปรับส่วนผสมระหว่างดินเหนียวกับผงแกรไฟท์ และอุณหภูมิที่ใช้อบ ใส่ดินเหนียวมากจะได้ดินสอที่แข็งและจาง ใส่แกรไฟท์มากไส้ดินสอก็จะอ่อนและดำขึ้น
ต้องขอบคุณทั้งคอนเต และอังกฤษที่บีบบังคับให้คอนเตต้องประดิษฐ์ดินสอให้แก่โลก กรรมวิธีที่คอนเตคิดขึ้นภายในไม่ถึงสองสัปดาห์นั้น ยังคงใช้มาตลอดเวลาสองร้อยกว่าปีโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
พลเมืองคอนเต ได้รับสิทธิบัตรกรรมวิธีผลิตไส้ดินสอของเขาในปี 1795 เป็นฉบับที่ 77 ของสาธารณรัฐ และทำออกขายได้กว่าหนึ่งแสนแท่งในปีแรก
หลังจากนั้นเขายังได้พัฒนาสีเครยองขึ้น (crayon ภาษาฝรั่งเศสแปลว่าดินสอ) จากการผสมเม็ดสีลงไปในแกรไฟต์ และได้ผลิตออกขาย สีเครยองของเขาเป็นนวัตกรรมใหม่แห่งยุคนั้น ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศในงานเอ็กซ์โปที่ปารีสในปี 1798 ร่วมกับอับราฮัม-ลุยส์ เบรเกต์ ผู้ก่อตั้งนาฬิกา Breguet
สีเครยองของคอนเต เป็นที่นิยมมากในศตวรรษที่สิบเก้า ศิลปินดังๆ เช่น ตูลุส-โลเทรค, จอร์จ เซอรา และปิคัสโซ นำไปสร้างผลงานที่มีชื่อเสียงมากมาย แบรนด์ดินสอสี conte crayon หรือ conte a paris นี้ยังคงผลิตจำหน่ายมาจนปัจจุบัน โดยบริษัทปากกา Bic ซื้อกิจการไปเมื่อปี 1979
คอนเต เครยอง แท่งสี่เหลี่ยมแบบดั้งเดิมเหมือน 200 ปีที่แล้ว
จากชื่อเสียงที่สร้างไว้ทั้งงานบอลลูน และการประดิษฐ์สูตรไส้ดินสอ ในปี 1798 คอนเตจึงได้รับคัดเลือกจาก นโปเลียน (ซึ่งอายุน้อยกว่าคอนเตสิบกว่าปี) ให้ร่วมทริปไปอียิปต์ด้วย นโปเลียนนับถือคอนเตอย่างมากที่มีความสามารถรอบด้าน "คอนเตคือผู้ที่มีทั้งสมองของนักวิทยาศาสตร์ และมือของศิลปิน"
2
ตลอดเวลาสามปี นอกจากงานช่างที่สร้างผลงานในกองทัพฝรั่งเศสไว้มากมาย (ดินสอของคอนเตใช้ลอกลายหินโรเซตตาด้วย) เขายังได้สเกตช์ภาพบรรยากาศในอียิปต์ โดยเฉพาะภาพอุปกรณ์การเกษตร และอุตสาหกรรมครัวเรือนต่างๆไว้หลายร้อยภาพ
เมื่อกลับถึงปารีสในปี 1802 จึงวางแผนจะพิมพ์อัลบัมภาพออกขาย เขาได้ออกแบบเครื่องแกะสลักลายบนแม่พิมพ์ทองแดงขึ้น ที่สามารถสร้างลวดลายที่แสดงแสงเงาได้กว่า 40 ลายโดยอัตโนมัติ และได้จดสิทธิบัตรไว้ด้วย นับว่าเป็นบรรพบุรุษของเครื่องแกะสลักเลเซอร์ในปัจจุบันก็ว่าได้
ภาพพิมพ์ผลงานของคอนเต แสดงอุปกรณ์ทดน้ำ "ชาดุฟ" ของชาวอียิปต์ ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่
ผลงานของคอนเตทางเครื่องจักรกลในการประดิษฐ์เครื่องแกะลายทองแดงนี้ นับว่าสร้างชื่อให้เขามากที่สุดในยุคนั้น ซึ่งการพิมพ์ภาพยังต้องใช้วิธีแกะลวดลายบนเพลททองแดงด้วยมือ จากเวลาที่เคยใช้เกือบหกเดือน ลดลงเหลือเพียงไม่กี่วันต่อแผ่น
น่าเสียดาย คอนเตมีอายุสั้นเพียง 50 ปี ไม่ได้อยู่ดูความสำเร็จของการพิมพ์หนังสือ "Description de l’Égypte" จากเครื่องแกะลายอัตโนมัติ ที่มีผลงานของเขาจากอียิปต์กว่า 800 ภาพ ความก้าวหน้าทางการพิมพ์ในปัจจุบันทำให้วิธีการพิมพ์ของเขาล้าสมัยไปในที่สุด
แบบจำลองเครื่องแกะลายแผ่นทองแดง แสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ Musée des Arts et Métiers ในปารีส ซึ่งคอนเตเองร่วมก่อตั้งขึ้น
ส่วนสิ่งประดิษฐ์ของอัจฉริยะตาเดียวผู้นี้ ที่ยังหลงเหลือให้ทุกคนได้ใช้ในปัจจุบัน คือดินสอดำและ ดินสอสีคอนเต เครยองนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม โจเซฟ ฮาร์ดมุท นักประดิษฐ์ชาวออสเตรีย ได้โต้แย้งว่าเขาต่างหากที่คิดสูตรไส้ดินสอที่ปรับความดำได้ก่อนคอนเต ตั้งแต่ปี 1792 แต่เพิ่งมาจดสิทธิบัตรออสเตรีย ซึ่งขณะนั้นทำสงครามกับฝรั่งเศสอยู่ ในปี 1802 และยังกล่าวว่า สัญลักษณ์ความดำของดินสอเขาเองก็เป็นคนคิดไม่ใช่คอนเต โดย H มาจาก Hardtmuth ชื่อของเขานั่นเอง แบรนด์เครื่องเขียน Hardtmuth นี้ยังดำเนินการอยู่เช่นกัน โดยย้ายไปอยู่ที่เชคแทน
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการผลิตดินสอดำอย่างแพร่หลายในอเมริกา เริ่มต้นที่เมืองคอนคอร์ด รัฐแมสซาชูเสตศูนย์กลางปัญญาชนแห่งยุคนั้น ผู้ที่เป็นต้นคิดการทำไส้ดินสอจากผงแกรไฟต์ ก็ไม่ใช่ใครอื่น เขาคือ เฮนรี เดวิด ทอโร บัณฑิตฮาร์วาร์ด และนักเขียนชื่อดังผู้สร้างผลงาน “วอลเดน” นั่นเอง โดยได้ผสมไขปลาวาฬลงไปด้วย ดินสอของทอโรเกิดขึ้นหลังจากสิทธิบัตรของคอนเตเกือบ 50 ปี
สิทธิบัตรฝรั่งเศสเลขที่ 77 ค.ศ. 1795 ออกให้กรรมวิธีการผลิตไส้ดินสอของคอนเต
มิตรสหายผู้หนึ่งของทอโร คือ เอเบนีเซอร์ วูด ได้คิดทำแท่งดินสอรูปหกเหลี่ยมขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้จับถนัดมือแต่ไม่ให้กลิ้งได้ ดินสอหกเหลี่ยมยังลดการใช้ไม้หุ้มลงได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการออกแบบที่ใช้กันมากที่สุดมาจนปัจจุบัน โดยวูดไม่ได้ขอสิทธิบัตรการประดิษฐ์และให้คนทั่วไปทำดินสอหกเหลี่ยมขายได้
ส่วนในสยามแต่โบราณนั้น คำว่าดินสอ หมายถึงเครื่องเขียนที่ทำจากหินปูนสีขาว สำหรับเขียนบนกระดานชนวนหรือสมุดดำ (“สอ” เพี้ยนมาจากคำเขมรที่แปลว่าสีขาว) เมื่อประมาณ 50 กว่าปีมานี้ก็ยังใช้กระดานชนวนกันอยู่ในบางพื้นที่ ดินสอดำก็เคยมีเหมือนกัน ทำจากขี้เถ้าแกลบอัดเป็นแท่ง สำหรับเขียนบนสมุดข่อยแต่คุณภาพไม่ดีและไม่เป็นที่นิยม ย่านในกรุงเทพที่เคยทำดินสอแบบโบราณก็เดาไม่ยากว่าอยู่ที่ "ถนนดินสอ" นั่นเอง
ดินสอดำ ดินสอสีหรือเครยอง ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกโดยไม่มีจำนวนลดลง ทุกวันนี้ จึงเป็นผลผลิตโดยตรงจากความจำเป็นในยุคของการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อ 200 ปีกว่าก่อน โดยนักประดิษฐ์ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นนิโกลาส์-ชาคส์ คอนเต หรือ โจเซฟ ฮาร์ดมุท ก็ตาม ซึ่งผู้อ่านสามารถใช้วิจารณญาณในการรับฟังได้เอง
โฆษณา