20 พ.ย. 2023 เวลา 11:30 • ไลฟ์สไตล์

ย้อนตำนานความอร่อย “ไข่เจียว-น้ำปลาพริก” เมนูโปรด "ลิซ่า BLACKPINK"

เปิดประวัติ “ไข่เจียว-น้ำปลาพริก” ย้อนที่มาความอร่อยก่อนกลายเป็นเมนูโปรดขวัญใจคนไทย รวมถึงศิลปินมากความสามารถ “ลิซ่า BLACKPINK”
“ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” หรือ “ลิซ่า BLACKPINK” หยิบจับอะไรก็เป็นกระแสไปซะหมด ไม่ว่าจะเป็น “ลูกชิ้นยืนกิน, หมูกะทะ” ที่เจ้าตัวแวะเวียนไปกินจนยอดขายถล่มทลาย
ล่าสุดกลับมาอีกครั้งกลับเมนูอาหารคาวหวาน “ไข่เจียว น้ำปลาพริก” และ “ไอศกรีมกะทิ” หลัง ลิซ่า ได้โชว์ฝีมือทำอาหารจานโปรด ฉลองรางวัลขึ้นแท่นศิลปินเค-ป็อปหญิงคนแรกที่มียอดสตรีมมิ่งบน Spotify ทะลุมากกกว่า 1 พันล้าน จากเพลง “Money”
ทำเอาคนดูเห็นแล้วหิวกันไปตามๆ กัน แถมเมนูอาหารไทยนี้ยังกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง วันนี้ทีมข่าวนิวมีเดีย พีพีทีวี จึงอยากพาทุกคนไปย้อนตำนานความอร่อยกับเมนู “ไข่เจียว” และ “น้ำปลาพริก” ก่อนที่จะกลายมาเป็นเมนูขวัญใจ ลิซ่า รวมถึงคนไทยอีกหลายคนด้วย
ที่มาความอร่อย “ไข่เจียว”
เมื่อต้องทำกับข้าวสักอย่างหนึ่ง เชื่อว่าคนไทยหลายคนจะนึกถึงเมนูไข่ โดยเฉพาะ “ไข่เจียว” เพราะทำได้ง่ายแถมรสชาติอร่อย เพียงตีไข่ให้เข้ากัน แล้วจะเติมเครื่องอย่างเนื้อสัตว์หรือผักอะไรก็ได้ตามใจชอบ
ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ “ไข่เจียว” ปรากฏในจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 ระบุว่า ไข่เจียวเป็นอาหารในสำรับของพระราชพิธีสมโภชน์พระแก้วมรกตและฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าประเทศไทยเรารับวัฒนธรรมอาหารชนิดนี้มาจากที่ใด สันนิษฐานว่า อาจได้รับอิทธิพลมาจากไข่เจียวของชาติตะวันตกที่เรียกว่า “ออมเล็ต” เพราะวิธีการทำคล้ายคลึงกัน คือ ตีไข่และใส่นมเล็กน้อย แล้วเจียวในกระทะที่มีเนยสดร้อน ๆ รออยู่ เมื่อใกล้สุกจะใส่ชีส แฮม และมะเขือเทศลงไปตรงกลาง แล้วพับไข่ออมเล็ตจึงค่อยตักเสิร์ฟ ด้านในออมเล็ตจะมีลักษณะนุ่ม ๆ เนื้อไข่เยิ้ม ๆ ไม่แห้งทั่วแผ่นอย่างไข่เจียวของเรา
หรือหากพิจารณาจากคำว่า “เจียว” คำนี้ถือเป็นคำยืมจากภาษาจีนแต้จิ๋ว คนไทยใช้มานานจนเสมือนเป็นคำไทยคำหนึ่ง คำว่า “เจียว” ในภาษาจีนแต้จิ๋วนี้ หมายถึงวิธีการปรุงอาหารด้วยการทอดให้สุกในน้ำมันร้อน ๆ นั่นเอง ดังนั้นไข่เจียวอาจมีที่มาจากเพื่อนบ้านอย่างจีนก็ย่อมได้
ปัจจุบันไข่เจียวได้แพร่หลายเข้ามาในกลุ่มประชาชนทั่วไป ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นเมนูไข่เจียวมากมายหลายร้อยตำรับ บ้างก็เอาไว้กินกับข้าวสวยร้อน ๆ หรือบางทีก็เอาไว้กินคู่กับอาหารอื่นๆ อย่างผัดกะเพรา หรือต้มยำ
“น้ำปลาพริก” เครื่องปรุงรสเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ไทย
น้ำปลาพริก เป็นเครื่องปรุงรสที่มีกันแทบทุกบ้าน มีทั้งรสเผ็ด รสเค็ม และหากบางบ้านใส่มะนาวลงไปด้วย ก็จะมีรสเปรี้ยวเข้ามาอีก เรียกว่าแทบจะครบรสกันเลยทีเดียว และด้วยเหตุผลนี้ที่แหละที่ทำให้เครื่องปรุงรสนี้เวลาได้ใส่ลงไปในอาหาร โดยเฉพาะกับไข่เจียว ช่วยตัดเลี่ยน ตัดความมันๆ นัวๆ ได้ดี แถมยังทำให้ไข่เจียวเรามีรสชาติกลมกล่อมอร่อยมากขึ้น
คำว่าน้ำปลาพริกอาจไม่ได้ปรากฏให้เห็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจน แต่ “น้ำปลานั้น” ปรากฏชัดเจนในสมัยอยุธยาตอนปลายใน กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ที่สันนิษฐานว่าเป็นพระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร พระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนหนึ่งที่ว่า
หมากม่วงดิบห่ามฝาน ใส่ในจานพานตบะรอง
นั่งล้อมห้อมเนืองนอง จิ้มน้ำปลางาปิกิน ฯ
หมากม่วงดิบห่ามให้ ปอกฝาน
งาปิน้ำปลาจาน จุ่มจิ้ม
นั่งล้อมห้อมกินกราน กินอยู่
เข็ดฟันผันหน้ายิ้ม อิ่มเอื้อนราถอย ฯ
นอกจากนี้ในเอกสาร "คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง" ยังบันทึกไว้ว่า ชาวบ้านเมืองเพชรบุรีจะบรรทุกอาหารทะเลต่างๆ รวมถึงน้ำปลา มาจอดเรือขายที่วัดพนัญเชิง กรุงศรีอยุธยา
อนึ่ง เรือปากใต้ปากกว้าง 6 ศอก 7 ศอก ชาวบ้านยี่สารบ้านแหลมเมืองเพชรบุรี แลบ้านบางตะบูนแลบ้านบางทะลุบันทุกกะปิน้ำปลาปูเคมปลากุเราปลากะพงปลาหูปลากะเบนย่างมาจอดเรือฃายแถววัดเจ้าพระนางเชิง 1
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า น้ำปลา มีกินกันตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว และแหล่งผลิตน้ำปลาก็น่าจะมาจากเมืองย่านติดทะเล
ขณะที่นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า น้ำปลาอาจมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนจีนที่อพยพเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเมืองชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่มักมีชุมชนคนจีนตั้งรกราก เพราะมีเอกสารวชิรญาณวิเศษ เล่มที่ 6 แผ่น 35 วันพฤหัสบดีที่ 2 เดือนกรกฎาคม ร.ศ.110 อธิบายถึงการ "กางเคย" (หมายถึงการดักเคย) เพื่อทำกะปิว่า เป็นอาชีพของคนที่ตั้งบ้านเรือนตามชายทะเลย่าน "ท่าจีน" โดยการทำกะปิก็จะมีผลพลอยได้เป็นน้ำปลาด้วย
น้ำปลาที่จะเกิดได้ด้วยกะปินี้ มีอย่างเดียวคือคำที่เรียกกันว่าน้ำเคยตกเท่านั้น ก็ไม่สู้จะมีผลประโยชน์มากนัก ด้วยเหตุว่าเวลาที่บันทุกมาขาย กะปิแขงเปนขมวน ก็ต้องใช้น้ำเคยตกนั้นรดให้ชุ่มอยู่เสมอ จะขายได้ก็แต่เล็กน้อย ราคาขายกันทนานละ 1 เฟื้อง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าน้ำปลาพริกมีจุดกำเนิดเริ่มต้นขึ้นเมื่อไร แต่อาจมีมาช้านานแล้วจนกลายเป็นเครื่องปรุงรสที่ต้องมีติดบ้าน
“น้ำปลาพริก” กับ “พริกน้ำปลา” เรียกว่าอย่างไร
ตามพจนานุกรมฉบับพระราชบัณฑิต ฉบับปีพุทธศักราช 2554 แม้ไม่มีคำว่า “พริกน้ำปลา” หรือ “น้ำปลาพริก” บัญญัติไว้ คำไหนก็ตามจึงสามารถเรียกได้
แต่มีความเห็นจาก ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล กรรมการวิชาการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้รับข้อมูลว่า “น้ำปลาพริก” คือคำที่ใช้มาแต่เดิม
“น้ำปลา” เป็นคำหลัก ให้ความหมายว่า เค็ม ส่วน “พริก” เป็นคำนามขยาย พริกช่วยเสริมรสเค็มให้เจือเผ็ด เวลาเติมรสอาหารด้วยน้ำปลาพริกอย่างเติมในข้าวผัดเพราะต้องการความเค็มนำ แต่ไม่ต้องการเค็มโดด ๆ จึงใช้น้ำปลาพริก
นอกจากนี้มี “น้ำปลาพริก” อีกแบบหนึ่งที่ใช้ “พริกป่น” แทน “พริกขี้หนู” ก็เรียกว่า “น้ำปลาพริกป่น” ไม่มีผู้เรียกว่า “พริกป่นน้ำปลา”
เล่ามาทั้งหมดนี้ หากได้ยินใครบอกว่าน้ำปลาพริกหรือไข่เจียวเป็นเมนูสิ้นคิด คงต้องหันไปบอกแล้วว่า “อยากลิ้มรสอาหารโบราณ” ต่างหากล่ะ เพราะถึงแม้เมนูเหล่านี้จะเป็นอาหารที่เราเลือกสั่ง เวลาที่เราไม่รู้ว่าจะกินอะไรดี แต่ที่จริงแล้วเราอาจจะขาดไม่ได้เลย
ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ Thai Taste Therapy, ศิลปวัฒนธรรม และ เฟซบุ๊ก คำไทย
ขอบคุณภาพจาก : Instagram lalalalisa_m
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา