22 พ.ย. 2023 เวลา 04:00 • ธุรกิจ

เตรียมความพร้อมประเทศไทยรับมือตลาดงานในอนาคตปี ค.ศ.2035

[#FuturesofWorkforce2035] FutureTales Lab เปิดเผยข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์เพื่อเป็นแนวทางให้ภาครัฐ องค์กร และแรงงาน นำไปปรับใช้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภาพอนาคตของแรงงานในอนาคตปี ค.ศ. 2035 ทั้ง 5 ภาพจากงานวิจัย “Futures of Workforce 2035” โดยแบ่งเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านทรัพยากรมนุษย์ มิติด้านเทคโนโลยี และมิติด้านสภาพแวดล้อมการทำงาน ดังต่อไปนี้
.
.
มิติด้านทรัพยากรมนุษย์
1. ภาครัฐร่วมมือกับรัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสภาพคล่องและการโยกย้ายของแรงงานศักยภาพสูง
2. ภาครัฐพัฒนานโยบายเพื่อส่งเสริมให้แรงงานภายในประเทศพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต เช่น สร้างแรงจูงใจทางภาษีเพื่อให้คนเรียนรู้ทักษะงานใหม่ ๆ ให้ทุนสนับสนุนสถาบันการศึกษาที่เน้นทักษะด้านการคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ไขปัญหา และความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
3. ภาครัฐสร้างมาตรการจูงใจทางภาษี สิทธิประโยชน์ และให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม รวมถึงฟรีแลนซ์ พนักงานสัญญาจ้าง เป็นต้น
4. องค์กรร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัย เพื่อออกแบบหลักสูตรเฉพาะที่ทำให้ผู้เรียนมีทักษะและความสามารถที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรและตลาดงานในอนาคต
5. องค์กรออกแบบโครงการฝึกงานที่สมบูรณ์ ครอบคลุม และรอบด้านเพื่อดึงคนมีความสามารถให้มาเริ่มงานที่แรกกับองค์กร และกำหนดแนวทางเพื่อรักษาคนมีความสามารถไว้กับองค์กร
6. องค์กรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้วยข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อให้สามารถระบุช่องว่างทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน ติดตามความคืบหน้าของการเรียนรู้ และสามารถจัดสรรภาระงาน สวัสดิการ และให้การสนับสนุนพนักงานได้อย่างเหมาะสม
7. แรงงานติดตามข้อมูลข่าวสารและความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอยู่เสมอ เพื่อประเมินขีดความสามารถในการทำงานของตนเอง
8. แรงงานระบุช่องว่างทักษะและเป้าหมายในอาชีพของตนเองอย่างชัดเจน เพื่อประเมินความต้องการในการยกระดับขีดความสามารถและการเรียนรู้ทักษะใหม่
9. แรงงานเปิดใจให้กว้างและตระหนักถึงความสำคัญชองความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงยอมรับคุณค่าและศักยภาพของผู้คนในการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างสรรค์งานให้สำเร็จ
.
.
มิติด้านเทคโนโลยี (Technology dimension)
1. ภาครัฐลงทุนในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเสมอภาคตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยทำงาน
2. ภาครัฐเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงและให้การสนับสุนนความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ และหน่วยวิจัย เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับธุรกิจภายในประเทศและความต้องการในตลาด
3. ภาครัฐให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีให้สามารถหางานใหม่ได้ ผ่านการฝึกอบรม สวัสดิการสำหรับคนว่างงาน และโครงการจัดหางาน
4. องค์กรวิเคราะห์กระบวนการทางธุรกิจของตนเพื่อระบุโอกาสในการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ กำหนดทิศทางการจัดสรรตำแหน่งงานและบทบาทงานใหม่ เพื่อโยกย้ายตำแหน่งงาน พัฒนาทักษะ และยกระดับศักยภาพพนักงานในองค์กร
5. องค์กรมีการประเมินข้อกำหนดงานเพื่อหาโอกาสการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานมนุษย์อยู่เสมอ ช่วยให้ประหยัดเวลาการทำงาน และต่อยอดงานที่ทำอยู่ให้มีคุณค่ามากขึ้น
6. องค์กรกระตุ้นให้เกิดสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้เชิงรุก โดยการเตรียมพนักงานให้พร้อมรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ผ่านการจัดฝึกอบรมและพัฒนาทักษะอยู่เสมอ สนับสนุนให้พนักงานทดลองนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ยกระดับบทบาทของตนเองและสร้างประโยชน์ให้กับองค์กร
7. แรงงานพร้อมเปิดรับและปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การมองหาโอกาส รูปแบบการทำงาน การเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เป็นต้น
8. แรงงานสร้างชุดทักษะเฉพาะทาง ทั้งทักษะในการจัดการงานและทักษะการทำงานในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะด้านปัญญา เพื่อให้ตนเองมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดงานอยู่เสมอ
9. แรงงานสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการปรับตัวต่อเทคโนโลยี
.
.
มิติด้านสภาพแวดล้อมการทำงาน (Work environment dimension)
1. ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานที่นอกเหนือไปจากเพียงเงินค่าตอบแทน เช่น การกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน เวลาพัก การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต เป็นต้น
2. ภาครัฐสร้างแรงจูงใจเชิงนโยบาย เช่น การลดหย่อนภาษี เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมเกิดการบูรณาการแนวคิดเพื่อความยั่งยืนในการปฏิบัติงานเพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม
3. ภาครัฐให้การสนับสนุนเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะแบบองค์รวมที่ดีและยั่งยืน เช่น การให้บริการสุขภาพจิตฟรี การเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียว เป็นต้น
4. องค์กรพัฒนาระบบการทำงานภายในองค์กรให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน ให้ทุกส่วนงานมีส่วนร่วมในการออกแบบการพัฒนาองค์กรและกลุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลที่สะท้อนถึงค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรอย่างแท้จริง เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานจะเข้าใจและปฏิบัติตามแนวทางขององค์กรได้อย่างเป็นเอกภาพ
5. ฝ่ายทรัพยากรบุคคลในองค์กรคิดค้นกลยุทธ์การปรับตัวที่ตอบสนองต่อความต้องการและค่านิยมของพนักงานที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานยังรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กร และองค์กรยังเท่าทันต่อตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงไป
6. องค์กรพัฒนาโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เช่น การดูแลสุขภาพจิต นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น การพัฒนาทักษะ การสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารที่เห็นอกเห็นใจ เป็นต้น โดยอยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการรับฟังและปรับปรุงโครงการอย่างต่อเนื่องตามความคิดเห็นของพนักงานและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
7. แรงงานให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกายและอารมณ์ เช่น การจัดการความเครียด การบริหารสมดุลชีวิตและการทำงาน การขอความช่วยเหลือเมื่อถึงเวลาจำเป็น เป็นต้น
8. แรงงานให้คุณค่ากับความหลากหลายในที่ทำงานเพื่อสร้างทีมและสภาพแวดล้อมการทำงานที่โอบกอดคนทุกกลุ่มและดีต่อสุขภาวะของทุกคน เปิดรับมุมมองและความเห็นต่าง ลดอคติ และส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคในที่ทำงาน
9. แรงงานเต็มใจที่จะชี้แนะและเสนอความคิดเห็นเพื่อให้องค์กรสามารถออกแบบนโยบายการทำงานที่สอดคล้องต่อความต้องการและคุณค่าที่คนในองค์กรยึดถือได้ดียิ่งขึ้น
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://www.blockdit.com/futuretaleslab
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofWorkForce #FutureofWork #Personas #WellBeing #MQDC#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofWorkForce #FutureofWork #Personas #WellBeing #MQDC
โฆษณา