21 พ.ย. 2023 เวลา 15:03 • ไลฟ์สไตล์

เมื่อขนมปังไม่ได้มีดีแค่ในยุโรป !

ชวนส่องโลกของขนมปัง (ตอนที่ 2) 🇮🇳🇯🇵🇻🇳🇹🇭
จากตอนที่แล้วเราได้พูดถึงขนมปังยุโรปที่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างกันไปแล้ว
งั้นในโพสนี้พวกเรา InfoStory ขอแวะเวียนมาที่ฝั่งของเอเชียกันเบา ๆ 😊
[ “ขนมปัง” เคลื่อนพลเข้าสู่ดินแดนเอเชีย 🍞🛄 ]
💡 ความเดิมในเรื่องของประวัติศาสตร์ตอนที่แล้ว (ที่หวังว่าจะไม่ชวนง่วงนะคร้าบบ🥲)
1. ขนมปังอาจเป็นจุดเริ่มต้นในเส้นทางอาหารของมนุษย์ ที่มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ 14,000 ปีที่ผ่านมาในบริเวณชายแดนของประเทศจอร์แดน
2. จนกระทั่งมาถึงวิธีการอบขนมปัง “Sourdough” ที่คิดค้นขึ้นโดยชาวอียิปต์โบราณเมื่อ 4,000 ปีที่ผ่านมา
3. จากอียีปต์ ขนมปัง(หรือการอบขนมปัง) ได้ขยายกำลังพลไปยัง 2 เส้นหลัก ๆ คือ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก(เอเชีย)
🇨🇳 🇮🇳 สำหรับฝั่งเอเชียแล้ว เรามองว่าชาวเอเชียรู้จักการอบขนมปังผ่าน 2 เส้นทาง
1. จากเส้นทางการค้าสายไหม ของชาวตะวันออกกลางพาดผ่านไปยังจีน 🇨🇳
2. จากกลุ่มเจ้าอาณานิคมชาวยุโรป (สเปน โปรตุเกส ดัตช์ อังกฤษ) ที่เข้ามาหาช่องทางขยายรายได้และอำนาจในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย 🇻🇳🇮🇩🇹🇭
ถ้าให้เราเปรียบขนมปังเป็นเชื้อไวรัสแบบที่เล่นในเกม Plague เนี่ย ก็ชนะเลิศเลย เพราะแพร่ขยายไปทั่วโลก 😂
.
แต่กว่าจะชาวเอเชียจะรู้จักวิธีการอบขนมปัง ก็ในช่วงประมาณศตวรรษที่ 15
อันที่จริงแล้วเนี่ย ชาวจีนโบราณอาจจะรู้จักการอบขนมปังมาก่อน(แบบไม่รู้ตัว) เพราะต้นกำเนิดของหมั่นโถวและซาลาเปาเนี่ย ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 10-11 แล้วละนะ ซึ่งสมัยนั้นชาวจีนเค้าใช้แป้งสาลีมาอบในหม้อดินเผา(แบบบังเอิญ) 👲
(ซึ่งเรื่องตรงนี้เนี่ยทางฝั่งยุโรปเค้าก็บอกว่า เป็นเพราะพ่อค้าชาวตะวันออกกลางและกลุ่มนักล่าอาณานิคมชาวยุโรปที่ไปสอนวิธีอบขนมปังให้กับคนจีนตะหากละ…อีกแล้ว นานาจิตตังกันไป😉)
[ มากกว่าแค่ "โรตี" 🇮🇳 🫓 ]
สารภาพเลยว่า เราไปกินร้านอาหารอินเดียทีไร เจอแผ่นแป้งบาง ๆ เนี่ย เรียกผิดเรียกถูกอยู่เสมอ เหมาเรียกว่าแป้งนาน (naan) บ้างละ… หรือ เหมาเรียกว่าโรตี (roti) บ้างละ.. บอกตามตรงว่าแยกไม่ค่อยออกสักเท่าไร แห่ะ ๆ … (เนื่องจากพวกเราเองก็เป็นมือใหม่หัดชิมอาหารอินเดียมาก ๆ 🙏🙏)
🤓 แต่วันก่อนโน้นเรามีโอกาสได้ไปกินร้านอาหารอินเดีย (แถวเส้นสุขุมวิท) เลยถามพี่พนักงานไปว่า ไอเจ้าแป้งนี้คือโรตีเหรอครับพี่ ? พี่พนักงานเค้าบอกว่าไม่ใช่ว่าขนมปัง(หรือแป้ง)แผ่นบาง ๆ จะเรียกว่าโรตีหรือนานไปซะทั้งหมด
คือพี่เค้าบอกแค่ “That’s not all name Roti.. but here you can call Roti” สั้นๆแค่นี้😆 555 เราเลยไปหามาเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย (ไม่กล้ารบกวนเวลาเค้ามาถามต่อ แห่ะ ๆ 🥲) เลยพบว่า
Roti ขนมปังแผ่นบางแป้งผสมน้ำแล้วนวดจนเป็นก้อนกลม แล้วค่อย ๆ หยิบก้อนเล็ก ๆ มานวดให้คลายตัวเป็นแผ่นแบนแล้วจึงนำไปทอดในกระทะแบน (tava)
ส่วน Chapati (จาปาตี) ตามที่เราเข้าใจคือเหมือนโรตีเลย (แต่เข้าใจว่าเค้าใช้แป้งสาลี atta) ที่ชื่อเรียกเขาแตกต่างกันออกไป นั่นเป็นเพราะเรียกต่างภูมิภาค อย่างเช่นอินเดียตอนเหนือ (เข้าใจว่าวิธีการทำเองก็แตกต่างไปสักเล็กน้อย จาปาตี จะนำไปจี่บนกระทะร้อนๆ โดยไม่ใช้น้ำมันเพื่อมันพองฟู)
บางพื้นที่ในอินเดีย Roti อาจหมายถึง Chapati แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่นะคร้าบ 🥰
ส่วน Naan หรือ ขนมปัง Indian Flatbread จะเป็นแผ่นแป้งขาว ๆ ดูพอง ๆ แบบมีเนื้อขนมปัง เนื้อสัมผัสก็แบบขนมปัง flatbread เลย (สำหรับเรา) นุ่มทานคู่กับอาหารอินเดียได้ง่าย 😋
[ Roti กับ Naan เอ้ะ..มันต่างกันยังไงนะ ? ]
ขออนุญาตอธิบายสำหรับมือใหม่หัดแยกว่าอันไหนกลุ่มโรตี อันไหนกลุ่มขนมปังนาน อย่างพวกเรานะคร้าบ
(หากผิดพลาดประการใดต้องกราบขออภัยครับ เพราะเพิ่งทราบเช่นกันครับ 🥰🙏)
เข้าใจว่าจุดแตกต่างสำคัญ คือ ขนมปังนาน (Naan) มันจะเป็นขนมปังที่มีเนื้อขนมปังนุ่มๆ มีใยขนมปังข้างใน เพราะมีการใช้ยีสต์เป็นส่วนประกอบ เดิมทีจะอบในเตาดิน (Tandoor) แต่เราเห็นใน youtube เค้าอบในหม้ออบธรรมดาก็ได้เช่นกันนะ
ในขณะที่ Roti/Chapati จะไม่ได้มียีสต์เป็นส่วนผสม ก็จะมีลักษณะที่แบนกว่า สำหรับเรามันจะกรุบๆกว่า เพราะไม่ได้มีเนื้อขนมปังข้างในที่หนาแบบ Naan 👍
— — — — — — — — — — — —
[ ชาวอินเดียรู้จักวิธีการทำขนมปังแบบนี้ ได้ยังไงนะ ? 🤔🇮🇳 ]
ประวัติศาสตร์ คือสิ่งที่เราถนัดหาข้อมูลมากกว่าวิธีการทำอาหาร (แน่นอนละ) งั้นเราขอปิดท้ายในภาพนี้กันสั้น ๆ กับเรื่องราวความเป็นมาของขนมปังในอินเดีย 🫓
ชาวอินเดียไม่ได้รู้จักกับการอบขนมปังเหมือนกันเรื่องราวของชาติอื่น ๆ (ไม่มีคำว่าบังเอิญว่างั้นเนอะ…😝)
เรื่องราวของขนมปังในอินเดีย ว่ากันว่าเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงสมัยศตวรรษที่ 16 หรือตั้งแต่การเข้ามาของนักล่าอาณานิคมชาวโปรตุเกสนั่นเอง 🇵🇹
โดยขนมปังชนิดแรก ๆ ที่ชาวอินเดียรู้จักจากชาวโปรตุเกสคือ “Pão” ขนมปังก้อนกลมที่ทำจากแป้งสาลี
แต่คือ…ชาวอินเดียไม่ได้รู้เจ้าขนมปังแบบนี้มาก่อน พอเสบียงขนมปังของชาวโปรตุเกสเริ่มหมด
พวกเค้าก็ต้องควานหาวัตถุดิบเพื่อมาทำขนมปังกินกัน
แต่วัตถุดิบและอุปกรณ์ที่หาได้ในยุโรป…กลับไม่ค่อยพบที่นี่เท่าไร
แต่ก็โชคดีไปอย่างคือ อินเดียขึ้นชื่อในเรื่องของการปลูกข้าวสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของขนมปังอยู่แล้ว
ชาวโปรตุเกสเลยเริ่มการอบขนมปังโดยใช้แป้งสาลี (maida) หรือ ใช้แป้งโฮลวีท (atta) ที่หาได้ทั่วไป
ส่วนการใช้ยีสต์ที่ยังหาไม่ค่อยได้ในอินเดีย ชาวโปรตุเกสก็เปลี่ยนมาใช้ น้ำนมของต้นปาล์ม/มะพร้าวแทน (palm wine) น้ำนมเพียงไม่กี่หยดก็เพียงพอที่จะใช้ทดแทนการหมักจากยีสต์ได้แล้ว 💡
.
ทีนี้ เราก็จะได้วัตถุดิบสำคัญที่ทำให้ขนมปังฟูได้
แต่ความลำบากอีกหนึ่งก็คือ… ชาวอินเดียไม่ได้มีเตาอบแบบที่ชาวโปรตุเกสมี…😢
แล้วไม่มีเตาอบ…ขนมปังมันจะขึ้นเป็นรูปร่างได้ยังไงละ ?
ชาวโปรตุเกสเลยต้องหันมาใช้หม้ออบดินเผาของชาวอินเดียแทน
แต่หม้ออบดินเผาจะไม่ได้มีขนาดใหญ่ แถมไม่ได้มีฐานสำหรับวางขนมปังอีกด้วย..
ชาวโปรตุเกสจึงประยุกต์กันสักหน่อย พวกเค้าหั่นขนมปังออกเป็นก้อนและทำให้บาง เพื่อที่จะแปะใส่เข้าไปในด้านข้างของหม้ออบได้นั่นเอง (พอจะนึกภาพกันตามออกไหมนะ) 🥳
.
🤔🤨 ในส่วนลึก ๆ เราเองก็ยังไม่ค่อยเชื่อว่าชาวอินเดียจะไม่รู้จักการอบขนมปังสักเท่าไร (เพราะประวัติศาสตร์ของขนมปังมันเกิดมาตั้งหลายหมื่นปี แถมเป็นอาหารชนิดแรก ๆ ที่มนุษย์รู้จักการทำด้วยนี่เนอะ น่าแปลกจริง ๆ)
หาไปหามา ก็เลยเจอหนึ่งข้อมูลที่พอจะมาค้านได้ ว่ากันว่าในยุคสมัยเวทิค (Vedic Period) ย้อนกลับไปในช่วง 4,000 ปีก่อนเนี่ย ในอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ (Indus Valley Civilization) เป็นอารยธรรมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือก็คือหนึ่งในกลุ่มบรรพบุรุษของชาวอินเดีย
ได้มีการกล่าวถึง 'godhuma' ที่เปรียบเปรียบเป็น ข้าวสาลี
เพราะพระเจ้าประทานข้าวสาลีมาให้ มนุษย์จึงสามารถประกอบอาหารที่ทำจากแป้งได้ แม้จะไม่มีคำอธิบายชัดเจนเกี่ยวกับขนมปัง แต่ก็เป็นไปได้ว่าขนมปังแบน (Flatbread หรือพวกโรตี ที่ยังไม่ต้องใช้ยีสต์) จะเป็นหนึ่งในอาหารก่อเกิดวิถีชีวิตมาแต่ไหนแต่ไร
อีกทั้งในยุคสมัยจักรวรรดิโมกุลของอินเดียเอง อาหารอินเดียได้รับอิทธิพลจากอาหารเปอร์เซียผสมผสานกับอาหารอินเดียพื้นบ้าน อย่างเช่นการใช้เตาตันดูรในการทำขนมปังเช่นนาน (Naan) และขนมปังชนิดอื่นๆ (คล้ายๆกับเวอร์ชันของโปรตุเกสเลย เพียงแต่เรื่องตรงนี้มันเหมือนกับว่าเป็นวิถีการทำอาหารที่ส่งต่อกันมานานแล้ว😃)
เพียงแต่ไม่ค่อยพบบันทึกถึงเรื่องนี้ มากเท่ากับเรื่องราวของชาวโปรตุเกสนั่นเอง
ปล. เรื่องของขนมปังอินเดีย ค่อนข้างแบ่งแยกออกไปเยอะพอสมควร หากข้อมูลผิดพลาดประการใดต้องกราบขออภัยและรบกวนเพื่อน ๆ ชี้แนะเพิ่มเติมด้วยนะคร้าบ
🎎 ชาวญี่ปุ่นรู้จักกับขนมปังครั้งแรก ๆ จากชาวโปรตุเกสในช่วงศตวรรษที่ 16 (ประมาณช่วงปี ค.ศ.1543)
ว่ากันว่าในยุคนั้น โอดะ โนบุนากะ ก็ยังอดใจไม่ไหว ต้องลองชิมขนมปังของพวกโปรตุเกส (คือ ชาวญี่ปุ่นเนี่ยมีค่านิยมของชาติตัวเองสูงม๊ากกนะ)
แต่ในช่วงแรกเนี่ย ขนมปังยังไม่ได้เป็นที่รู้จักกับชาวญี่ปุ่นมากนัก
จนกระทั่งในช่วงปลายยุคสมัยเอโดะ ต้นยุคเมจิ (ค.ศ. 1840-1912) ญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลจากฝั่งตะวันตกเข้ามาเต็ม ๆ ไม่ใช่แค่ขนมปังนะ แต่รวมไปถึงอาหารและการแต่งกายด้วย 🎌
🍞 แน่นอนว่าสำหรับขนมปังเนี่ย ในช่วงแรกมันก็คงไม่พ้นเป็นอาหารกระเป๋าสำหรับทหารที่เข้าร่วมสงครามต่าง ๆ จนในปี 1869 ขนมปังไส้ถั่วแดง (anpan) ต้นตำรับจากญี่ปุ่นก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก
อาจเรียกได้ว่า Anpan ชิ้นนี้เป็นต้นกำเนิดของขนมปังหลากไส้กันเลยทีเดียว เช่น ขนมปังไส้ครีม ไส้แกงกะหรี่
ช่วงเวลาที่ทำให้ขนมปังญี่ปุ่นเริ่มแจ้งเกิดในภาพลักษณ์ของขนมปังขาวนุ่มฟู “โชคุปัง (Shokupan)” นั่นคือ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การบริโภคขนมปังในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยคนญี่ปุ่นจะนำโชคุปังมาประกบทานแบบแซนด์วิช 🥪
🤓 เราคิดว่าชาวญี่ปุ่นเนี่ยเค้าครีเอทดีนะ อย่างเราเองก็ชื่นชอบเมลอนปัง (melon pan) เอามาก ๆ ตั้งแต่เด็ก เห็นในการ์ตูนบ่อย ๆ ถึงแม้ว่ารู้ละว่ามันเป็นแค่ขนมปังนุ่มคุกกี้ธรรมดา (ไม่ได้มีเมลอน) แต่ก็รู้สึกสนุกทั้งครั้งที่ได้กิน แห่ะ ๆ 🥰
— — — — — — — — — — — —
มาต่อกันด้วยของเกาหลีกันบ้าง 🇰🇷 🇰🇷
สำหรับต้นกำเนิดของขนมปังเกาหลี ก็อาจไม่ต่างอะไรไปจากญี่ปุ่นมากนัก
โดยช่วงแรก ๆ ชาวเกาหลีก็ได้รับมาจากชาวโปรตุเกสนั่นละ (ก็อยู่ติดกันซะขนาดนี้เนอะ จะรอดได้ไง)
แต่เราไปอ่านมาบทความนึงซึ่งก็เขียนไว้ได้ดี เค้าเขียนว่า “ขนมปังอบ (Pastry) มีต้นกำเนิดจากฝรั่งเศส แต่มาเติบโตที่เกาหลีใต้” 💡
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ไม่เคยถูกฝรั่งเศสรุกรานเลย แต่วัฒนธรรมขนมปังฝรั่งเศสกับเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในระยะเวลาสั้น ๆ (เฉยเลย) 😲
จุดเริ่มต้นของกระแสร้านขนมปังแบบ “French-Asian" ในประเทศเกาหลี เกินขึ้นในช่วงปี 1988 โดยคุณ Hur Young-in ได้เริ่มต้นเปิดร้านคาเฟ่ขนมปังชื่อว่า “Paris Baguette” จนกลายเป็นที่นิยมในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันมีสาขามากถึง 3,000 สาขาทั่งเกาหลีใต้ (ไม่นับรวมเชนอื่น ๆ เช่น Tous Les Jours พวกนี้ด้วยอีกนะ) 🤩
ซึ่งในบทความนี้เค้าก็ได้ไปสัมภาษณ์คนเกาหลีเกี่ยวกับกระแสการกินขนมปัง(ที่ไม่ได้มีรูปแบบของเกาหลี) คือ ชาวเกาหลีบางคนเค้าก็มองว่าต่อให้จะดัดแปลงสูตรอย่างไรก็ดี แต่ขนมปังพวกนี้มันไม่ได้มีหน้าตาใกล้เคียงกับขนมปังที่กำเนิดจากเกาหลีเลย (ออกไปทางตะวันตกมากกว่า) อันที่จริงแล้วดั้งเดิมชาวเกาหลีก็ไม่ได้กินขนมปังเป็นมื้อเช้าอีกด้วย…
.
🇻🇳 ซึ่งหากเทียบกับเวียดนามที่เคยตกอยู่ใต้อาณานิคมของฝรั่งเศสมานานเกือบ 61 ปี (ตั้งแต่ปี 1884 - 1945) เชื่อไหมว่าในช่วงเวลานั้นเนี่ย ขนมปังฝรั่งเศสยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากเท่ากับกระแสในประเทศเกาหลีซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 1-2 ปี
(ของเวียดนามเริ่มฮิตจริง ๆ ในช่วงปี 1954)
ปล. 🙏🤓 แต่เราขอใส่ความเห็นต่างไว้สักเล็กหน่อย
ส่วนตัวเรามองว่า วิถีชีวิตและค่านิยมของคนเกาหลีในปี 1988 เนี่ย มันคงเทียบได้ยากมากกับของเวียดนามในช่วงก่อนปี 1945…. แล้วลองคิดดูว่าเวียดนามที่ไม่ได้เต็มใจรับกระแสของฝรั่งเศส แต่โดนปกครอง… มันก็เป็นธรรมดาที่เขาจะไม่ยอมรับกันง่าย ๆ เนอะ
มาต่อกันที่เรื่องราวของขนมปังในประเทศจีนกันสักนิด 🇨🇳👲
จีน เป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องของเมนูที่ทำจากแป้งสาลี ข้าว อย่างเช่น ก๊วยเตี๋ยวหรือพวกเกี๊ยว
แล้วทำไมจะอบขนมปังไม่ได้กันละ ? 🤔
เรื่องราวของขนมปังในจีนอาจจะแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียสักเล็กน้อย 😉
คือ ชาวจีนเริ่มกินขนมปังกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (ประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้วล่ะนะ) 🤭
โดยสมัยนั้นเนี่ย ชาวจีนเค้าก็นำแป้งสาลี ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มานึ่งและอบในหม้อดิน กล่าวได้ว่าก็ตามวิถีของเค้านั่นล่ะเนอะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกซาลาเปา หมั่นโถว (แต่ไม่ได้มีสอดไส้นะคร้าบ)
อีกจุดที่สำคัญคือ ขนมปังของจีน (ที่อาจไม่ได้มีหน้าตาไปทางยุโรปสักเท่าไร) ยังถูกโยงเกี่ยวเข้ากับความเชื่อทางศาสนา ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ นั่นจึงทำให้พอถึงช่วงเวลาเทศกาลฉลองสำคัญใดๆก็ตามเนี่ย พวกขนมปังอย่างหมั่นโถวก็จะโผล่หน้าโผล่ตามาให้เห็นกันจนชินตา 😄
เชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนที่อ่านมาจนถึงภาพนี้ คงเริ่มจะตาลายไปกับตัวหนังสือของเรากันแล้วเนอะ แห่ะ ๆ
งั้นเราขอหยิบเรื่องราวของขนมปังสังขยามาเล่าให้ฟังกันเบา ๆ ดีกว่า !
เชื่อกันว่า “สังขยา” มีต้นกำเนิดมาจากยุโรปตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน หรือเราอาจจะคุ้นกันในต้นแบบอย่าง “คัสตาร์ด”
ก่อนจะเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชาวโปรตุเกสที่เข้ามายึดเมืองท่ามะละกา ในปี ค.ศ.1511 เพื่อทำการค้าขายกับหลายอาณาจักร รวมถึงอยุธยาบ้านเรา 🇹🇭
แต่ต้องบอกว่าสังขยาเค้าไม่ได้เป็นเหมือนคัสตาร์ดของยุโรปนะ แค่ได้แรงบันดาลใจมา 😉 (เพราะคนที่นำสูตรเข้ามา คือชาวโปรตุเกส)
💡🟨 สังขยา หรือที่เรียกในภาษามาเลย์ว่า ศรีกายา หรือกายา (Kaya) เป็นขนมนึ่งทำจากกะทิและน้ำตาล พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ ส่วนผสมหลักของสังขยาคือน้ำตาลมะพร้าว กะทิ และไข่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในประเทศแถบบ้านเราเนอะ
อย่างเพื่อน ๆ ที่ไปเที่ยวสิงคโปร์กับมาเลเซีย ก็คงจะคุ้นเคยกันดีกับเมนู Kaya Toast
.
อีกเรื่องเล่านึงเกี่ยวกับสังขยาในไทย ก็ว่ากันว่าถูกคิดค้นโดยบังเอิญจาก ท้าวทองกีบม้า (หรือเพื่อน ๆ ที่ดูละครพรหมลิขิตก็ขอเรียกว่า แม่มะลิ ละกันนะคร้าบ 🙋‍♀️)
คือแม่มะลิเนี่ย อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้นำเทรนด์ขนมหวานสูตรประยุกต์แบบไทย เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา หม้อแกง
แน่นอนว่า “คัสตาร์ด” ก็เป็นหนึ่งในขนมยอดนิยมที่ครอบครัวของแม่มะลิเค้ากินกัน (เพราะเป็นลูกครึ่งโปรตุเกสด้วย) ซึ่งคัสตาร์ต ก็ต้องมีนมเป็นส่วนผสมสำคัญ
หากแต่ว่าเมืองไทยในสมัยนั้น ไม่ค่อยนิยมดื่มนมสักเท่าไร 🥛
แม่มะลิจึงต้องใช้กะทิ เข้ามาทดแทนนมในการทำคัสตาร์ดนั่นเอง จนในเวลาต่อมาผู้คนในห้องครัวท้องพระโรงต่างได้เรียกชื่อว่า สังขยา นั่นเอง
เรื่องไหนจริง ไม่จริงเราก็ไม่อาจทราบได้เหมือนกัน แต่อ่านพอเอาอรรถรสเพื่อการกินแบบมีเรื่องราวแทนนะคร้าบ 🤤
.
สำหรับสังขยาในไทย ก็ไม่ต่างกันเท่าไร กล่าวคือเป็นขนมที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส แต่พี่ไทยเราก็จะเพิ่มเติมอาหารที่เป็นวิถีชีวิตของเราเข้ามา เช่น นิยมรับประทานพร้อมกับข้าวเหนียว หรือใส่ในฟักทอง เผือกหรือมะพร้าว แล้วนำไปนึ่ง (จะเป็นสีออกเหลือง ๆ ไม่เขียวน้า) 🟨
แต่ทั้งนี้ต้องบอกว่าสังขยาในข้าวเหนียวหรือฟักทองเนี่ย จะไม่ได้เหมือนกับที่ทาหรือใช้จิ้มกับขนมปังนะ
🍞🟩 สังขยาใบเตย สีเขียว ๆ ที่เรานิยมกินกับขนมปัง จะเป็น ไข่ น้ำตาล กะทิ นำมากวนให้เข้ากันแล้วแต่งสีและกลิ่นด้วยใบเตย (คือนำใบเตยซึ่งนำมาสกัดเย็น จนได้น้ำใบเตย) ก็คือจะออกแนวครีม ๆ หน่อยนั่นเอง
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือ Bread of Life : Savoring the All-Satisfying Goodness of Jesus through the Art of Bread Making เขียนโดย Dodds, Abigail
- หนังสือ A History of Food in 100 Recipes เขียนโดย William Sitwell
- หนังสือ Bread Science: The Chemistry and Craft of Making Bread เขียนโดย Emily Buehler
- บทความ A Guide to the Breads of India จากเว็บ sukhis
- บทความ Tracing the journey of bread in India จากเว็บ bigbasket
- บทความ A Detailed Exploration of Indian Breads จากเว็บ noworriescurries
- บทความ How Bread Came to Japan: A Brief History of Japanese Bread จากเว็บ livejapan
โฆษณา